ถอดรหัส “ต่ออายุราชการ” ผู้บัญชาการทหารบก 4 ยุค ค้ำอำนาจการเมือง

ต่ออายุราชการ

4 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เตรียมเกษียณยกแผง เหลือเพียงแค่ปลัดกระทรวงกลาโหมเท่านั้นที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี

ทั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.)

ทั้ง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)

ทั้ง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)

ทั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

คนสำคัญที่สุดคือ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์  ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ท่ามกลางข่าวลือ ประเภทโยนหินถามทางว่าจะต่ออายุราชการ ไปอีก 1 ปีหรือไม่ ร้อนถึง “พล.อ.อภิรัชต์” ต้องเตรียมออกมาแถลงข่าวดับข่าวร้อน ช่วงบ่ายนี้ (8 กรกฎาคม 2563)

ทว่าข่าวลือ – ข่าวปล่อยการต่ออายุราชการในแวดวงกองทัพ โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไม่ใช่ครั้งแรก และมักเกิดขึ้นเมื่อ ผบ.ทบ.รายนั้นเป็นคนสำคัญ ชี้เป็น – ชี้ตาย มีส่วนได้เสียกับการเมือง

สืบหาข่าวการต่ออายุราชการ ผบ.ทบ.ก่อนยุค “บิ๊กแดง” คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกษียณอายุราชการ หลังนำกำลังพลเข้าควบคุมการปกครอง 22 พฤษภาคม 2557 แต่ครั้งนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ส่งไม้ต่อให้ทายาท “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร”

หากเลาะตะเข็บ – เปิดโมเดล การต่ออายุราชการของผู้นำกองทัพ เกิดขึ้น 4 ครั้ง ในประวัติศาสตร์ เพื่อ “ความจำเป็นทางการเมือง” 

ครั้งแรก “จอมพลถนอม กิตติขจร” ต่ออายุตนเอง ในตำแหน่ง ผบ.สส. หลังจากเปิดให้ใช้รัฐธรรมนูญ ควบคู่กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2511 และเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง ทว่าทนแรงกดดันจากลูกพรรค – นักการเมืองไม่ไหวจึงตัดสินใจปฏิวัติยึดอำนาจตัวเอง 17 พฤศจิกายน 2514 ซึ่งขณะนั้น “จอมพลถนอม” อายุครบ 60 ปี จึงต่ออายุ ผบ.สส. ของตนเอง คุมอำนาจสูงสุดในกองทัพ

ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กับครั้งแรก “จอมพลประภาส จารุเสถียร” ต่ออายุตนเองในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ซึ่ง “จอมพลประภาส” ถูกเปรียบเป็นมือขวาของ “จอมพลถนอม” และทั้ง 2 คน ยังเกี่ยวดองกันเป็น “ครอบครัว” เพราะ ลูกชายของ “จอมพลถนอม” คือ “พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร” ได้แต่งงานกับ “สุภาพร กิตติขจร” ลูกสาวของ “จอมพลประภาส”

หลังครบอายุราชการ 2515 “จอมพลประภาส” ก็ต่ออายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไปอีก 1 ปี และกลายเป็นปมที่ถูกล้อเลียนเสียดสีในหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่ทำขึ้นหลังเหตุการณ์ เฮลิคอปเตอร์ทหาร ที่นำไปล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดอุบัติเหตุตกที่ จ.นครปฐม โดยนักศึกษา ม.รามคำแหง

ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ” จากนั้น เป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

แต่การที่ต่ออายุ ผบ.ทบ.ของ  “จอมพลประภาส” ทำให้อยู่ในตำแหน่งนานถึง 9 ปี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2507 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อนส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา”

ครั้งที่สาม ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลังการลาออกจากนายกฯ ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในสภา “พล.อ.เปรม” ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ก็ได้รับแรงหนุนจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภา – คนการเมือง ยกมือหนุนให้ขึ้นเป็นนายกฯ ควบ ผบ.ทบ. หลังจากนั้น ก็ต่ออายุราชการตำแหน่ง ผบ.ทบ.ออกไปอีก 1 ปี เมื่อปี 2523 และอำลาตำแหน่งในปี 2524

ครั้งที่สี่ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้ำบัลลังก์อำนาจของ พล.อ.เปรม เคยเป็นมือปราบกบฏเมษาฮาวายเมื่อปี 2524 กระทั่งได้เป็น ผบ.ทบ.ควบ ผบ.สส. และได้ต่ออายุราชการเช่นกัน กระทั่งเกิดเหตุรัฐบาลตัดสินใจ “ลดค่าเงินบาท” จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐซึ่ง ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527

โดย พล.อ.อาทิตย์ ทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว และเรียกร้องให้ให้ปรับคณะรัฐมนตรี สร้างร้อยบาดหมางระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พล.อ.อาทิตย์ กระนั้นสถานการณ์ถึงจุดแตกหัก ปีก 2 ปี ต่อมา เมื่อฝ่ายทหารที่สนับสนุน “พล.อ.อาทิตย์” เคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจให้กองทัพ และพยายามล็อบบี้ต่ออายุให้ พล.อ.อาทิตย์ต่อไปอีก 1 ปีเป็นครั้งที่สอง จนถึง ตุลาคม 2530

ทว่า “พล.อ.เปรม” ได้สั่งปลดออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. เหลือเพียงแค่ตำแหน่ง ผบ.สส. ไม่ได้คุมกำลังอีกต่อไป โดยเป็น ผบ.ทบ.ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2525 – 27 พฤษภาคม 2529  รวมเวลา 3 ปี เศษ และคนที่คุมกำลังต่อจากนั้นคือ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” หรือคนในรุ่นปัจจุบันเรียกว่า “พ่อใหญ่จิ๋ว”

แม้ 4 นายพลที่ต่ออายุราชการตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพื่อคุมกำลังกองทัพต่อเนื่องไม่ว่าเหตุผลใดๆ ก็ตาม

แต่ “นายพล” ยุคก่อน 2500 ต่างก็คุมตำแหน่งใน ผบ.ทบ.มายาวนาน เกินกว่านายพลที่ต่ออายุราชการบางรายเสียอีก

เช่น กรณี จอมพลผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ.นาน 6 ปี แบบไม่ต้องต่ออายุ ตั้งแต่ 8 พ.ค. 2491 – 23 มิ.ย. 2497

และ กรณีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2500 ซึ่งยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเป็นตำแหน่ง ผบ.ทบ.ต่อจากจอมพลผิน ตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2497 – 8 ธ.ค. 2506 (ถึงแก่อสัญกรรมในอายุ 55 ปี)

ก็เพราะในอดีต ข้าราชการพลเรือนและทหาร ตามพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ได้กําหนดเหตุออกรับบําเหน็จบํานาญเพราะสูงอายุ (เกษียณอายุ) ไม่เกินอายุ 55 ปี บริบูรณ์ และผู้บังคับบัญชา อาจพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุราชการได้อีกคราวละ 1 ปี ไม่เกินอายุ 60 ปีบริบูรณ์

แต่หลังจากปี  2494 รัฐบาลจอมพล ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการใหม่ แก้เหตุออกเพราะสูงอายุจาก 55 ปี ให้เป็นอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และอาจต่ออายุให้อีกคราวละ 1 ปี แต่ไม่เกินอายุ 65 ปีบริบูรณ์ โดยพระราชบัญญัติบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2494

เป็นเหตุให้ “จอมพลผิน” ซึ่งจะเกษียณชอายุครบ 60 ปี ในปี 2494 ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็น ผบ.ทบ. ปี 2491 ขณะอายุ 57 เกณฑ์เกษียณอายุ 55 ปี แต่สามารถต่ออายุราชการได้ปีต่อปีจนถึงอายุ 60 ปี เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สามารถต่ออายุได้ถึง 65 ปี


จึงเป็นโมเดลต่ออายุราชการทั้งข้อกฎหมาย – เหตุผลความมั่นคง ของนายพลในอดีต