“ณัฐพงษ์” ส.ส.ก้าวไกล แนะรัฐบาลใช้ “งบกลาง” แก้วิกฤตท้องถิ่นถังแตก

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏข่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำลังถังแตก ว่า ที่มาที่ไปคือ ท้องถิ่น หรืออปท. ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ในทุกระดับ กำลังประสบปัญหาเดียวกันในตอนนี้คือ การขาดงบประมาณในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ซึ่งโดยปกติแล้วท้องถิ่นจะมีรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในงบประมาณรายจ่ายจาก 3 ช่องทางหลัก ๆ 1.รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 2. รายได้ที่รัฐส่วนกลางจัดเก็บแล้วแบ่งให้ 3.รายได้จากงบประมาณเงินอุดหนุน รายได้จากทั้งสามทางนี้กำลัง “มีปัญหา” ทั้งหมด

1.รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง: จากกระแสข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่ท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมในการจัดเก็บภาษี ส่อเค้าว่าท้องถิ่นอาจสูญเสียรายได้จาก “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” เดิมไปเป็นจำนวนมากในปีงบประมาณ 63 มาในปี 64 รัฐบาลซ้ำเติมปัญหานี้มากขึ้นไปอีก โดยการตราพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดิน โดยบังคับให้ท้องถิ่นลดการจัดเก็บภาษีที่ดินลงไปอีกร้อยละ 90 จากเดิมที่ท้องถิ่นก็จัดเก็บไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่ารัฐบาลจะชดเชยให้กับท้องถิ่นอย่างไรและเป็นจำนวนเท่าใด

2.รายได้ที่รัฐส่วนกลางจัดเก็บแล้วแบ่งให้ จากผลกระทบต่อวิกฤติโควิด-19 ที่มีการประเมินล่าสุดว่า GDP ไทยอาจติดลบถึง 12.2% ส่งผลให้รายได้จากภาษีจัดสรรไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพสามิต และภาษีล้อเลื่อน (ภาษีป้ายทะเบียนรถ) ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้เป็นรายได้ท้องถิ่น ต้องหายไปเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอนจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

3. รายได้จากงบประมาณเงินอุดหนุน: จากการทำงานใน อนุฯ ท้องถิ่น งบ’64 พบว่าท้องถิ่นหลายแห่งโดยเฉพาะในระดับเทศบาล ได้รับ “เงินอุดหนุนทั่วไป” ที่เป็น “งบรายหัว” ลดลงทั้ง ๆ ที่มีภารกิจเท่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น เงินอุดหนุนเพื่อจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน เงินอุดหนุนเบี้ยคนชรา เงินอุดหนุนผู้ป่วยเอดส์ ฯลฯ

สาเหตุเกิดมาจากการจัดทำงบประมาณที่ยังไม่เป็นระบบเนื่องจากท้องถิ่นหลายแห่งเพิ่งกลายมาเป็นหน่วยรับงบประมาณตรงในปี 64 ซึ่งภายหลังจากงบประมาณผ่านการพิจารณาจากสภาออกไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก เนื่องจากท้องถิ่นกลายเป็นหน่วยรับงบประมาณตรง รัฐบาลไม่สามารถโอนงบข้ามหน่วยรับได้ตามกฎหมายจนกว่าจะถึงพ.ร.บ.โอนงบฯ ในช่วงกลางปี

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเบี้ย อสม. ที่สำนักงบประมาณนับรวมเป็นรายได้ท้องถิ่นทั้ง ๆ ที่มีมติในที่ประชุม ก.ก.ถ. แล้วว่าเบี้ย อ.ส.ม. ไม่ต้องนำมานับรวมเป็นรายได้ท้องถิ่น ทำให้สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นที่สำนักงบประมาณได้รายงานไว้ในเล่มงบประมาณพอสังเขป 29.5% ของรายได้สุทธิของรัฐบาลนั้นเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง

“ทางออกเดียวที่จะมากู้วิกฤติเฉพาะหน้าในตอนนี้ได้ก็คือการที่รัฐบาลต้องนำ “งบกลาง” มาช่วยเหลือท้องถิ่นในส่วนที่ขาดหายไป หรือการพิจารณาตั้งแผนงานบูรณาการที่รวบท้องถิ่นที่เป็นหน่วยรับงบประมาณทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้แผนบูรณาการเดียวกันโดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะในส่วนของเงินอุดหนุนยังสามารถเกลี่ยข้ามหน่วยรับ/ท้องถิ่นกันได้ในระหว่างปีงบประมาณ เพราะดูท่าแล้วกระบวนการการจัดทำงบประมาณของท้องถิ่นน่าจะยังไม่มีความลงตัวไปอีกหลายปีงบประมาณเมื่อ เทศบาลตำบล และ อบต. อีกหลายพันแห่ง กำลังจะกลายเป็นหน่วยรับงบประมาณตรงในปีงบประมาณถัด ๆ ไป”