“ทักษิณ” รวมเพื่อไทยรักษาชาติ ส่งสายตรง เปิดวาล์วท่อน้ำเลี้ยงรอบใหม่

พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทย ถึงคราวผ่าตัด “ปรับใหญ่” 1 ตุลาคมนี้ จะมีการเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ภายหลังกลุ่ม “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เปิดเกมชิงลาออกจากตำแหน่งสำคัญภายในพรรค เมื่อวันที่ 25 กันยายน หลังจากปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 วัน

พลันที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” ในนามเจ้าแม่ กทม. ลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็ตามมาด้วยการลาออกของกรรมการบริหารพรรค และกรรมการยุทธศาสตร์ในสายของคุณหญิงสุดารัตน์อีกหลายคน

เช่น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ นายวัฒนา เมืองสุข นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายโภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา

สะเทือนถึง “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เจ้าของตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็ต้องประกาศลาออกอีกในช่วงบ่ายวันต่อมา

กลบเสียงร้อนที่ ส.ส.ขั้วรัฐบาล จับมือ ส.ว. “หักดิบ” วาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาก่อนรับหลักการไปจนมิด

เบื้องหลังเกมผ่าตัดใหญ่

เบื้องหลังการปรับ-ผ่าตัดใหญ่ มีกระแสข่าวมาตลอดตั้งแต่ยังไม่ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคได้

เพราะขณะนั้นมี “ปัญหาทางเทคนิค” เพราะตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” ของ “สมพงษ์” ติดล็อกอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภา ที่ไม่ได้มีสมาชิกเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา ให้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

ดังนั้น หาก “สมพงษ์” ลาออก ณ ตอนนั้น ก็จะไม่มีคนทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภา แม้จะมีการมอบหมายให้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรค ในฐานะกุนซือกฎหมายของพรรคไปหาทางออก หวังรื้อโครงสร้างให้กรรมการบริหารพรรค เอาคน “รุ่นใหม่” มาเสริมทัพ ปรับบอร์ดบริหารให้มีขนาดเล็กลง

แต่ครั้งนั้นทำไม่สำเร็จ…..

และทันทีที่มีการปิดสมัยประชุมสภา ฝ่าย “คุณหญิงสุดารัตน์” จึงชิงเปิดเกมปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค โดยการทยอยลาออก “บีบ” ให้มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคใหม่ ผ่านการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์ กลับเกิดข่าวว่า ส.ส.อีสานเพื่อไทย นัดผ่านไลน์ ชวนกัน “บอยคอต” แสดงสัญลักษณ์จะไม่เข้าประชุมพรรคในวันอังคารที่ 22 กันยายน

ประท้วงการบริหารงานของคณะผู้บริหารพรรค ที่มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็นหัวหน้าพรรค และมี “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรค ไม่ใส่ใจ ส.ส.อีสานเท่าที่ควร

แต่ในเช้าวันเดียวกัน เจ้าแม่ กทม.นัดส.ส.ในพรรค ร่วมกันทำบุญที่บ้านย่านลาดปลาเค้า ถอดรหัส ตีความเป็นภาษาการเมือง นั่นคือการ “เช็กยอด” ส.ส. ที่สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์

25 กันยายน มีข่าวว่า ผู้หลักผู้ใหญ่-แกนนำพรรคเพื่อไทย หารือวงเล็ก ถึงทิศทางพรรคเพื่อไทยในอนาคต กำลังถูก disrupt จากกระแสมวลชนคนรุ่นใหม่ และพรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่ร้อนแรงอย่าง “ก้าวไกล” ที่ระหว่างการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ไปถึงการขับเคลื่อนวาระประชาธิปไตย เพื่อไทยดูเป็นรอง ต้องมีการเขย่าขวด ปรับโครงสร้างใหม่

21.15 น. ในวันเดียวกัน เป็นเวลาที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” นัดหมายทีมงานโซเชียล เผยแพร่คำประกาศลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ตามด้วยบุคลากรในเครือข่ายเจ้าแม่กทม. ยกขบวนลาออก นำมาสู่การปรับเปลี่ยนในพรรค

“สมพงษ์” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

การปรับโครงสร้าง กก.บห.ใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ของพรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นอยู่กับการชิงจังหวะทางการเมือง แต่ที่ต้องจับตาอยู่ที่ หัวหน้าพรรค-เลขาฯพรรค ซึ่งต้องได้รับการประทับตรามาจาก “นายใหญ่ดูไบ”

และก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากหัวหน้าพรรค ยังเป็น “สมพงษ์” คนเดิม เพราะก่อนการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อันทำให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ต้องพ้นไปด้วยนั้น

มีข่าวว่า “สมพงษ์” ได้หารือกับ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงการลาออกอันส่งผลกระทบไปถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภา ซึ่งเป็นตำแหน่ง “โปรดเกล้าฯ” แล้ว

และหากกลับมาใหม่จะทำให้เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ เพราะจะต้องโปรดเกล้าฯใหม่เป็นหนที่ 2 ซึ่งได้รับคำตอบว่า ไม่มีปัญหา เพราะไม่ใช่ตำแหน่งเข้าเฝ้าฯ จากนั้น “สมพงษ์” จึงประกาศลาออก

สเป็กหัวหน้าพรรค

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 4 วัน ระบุถึงคุณสมบัติหัวหน้าพรรคทั้งข้อกฎหมาย-กฎการเมืองว่า ค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร เพราะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นฝ่ายค้าน จะต้องถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องเป็น หัวหน้าพรรค และเป็น ส.ส. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป ก็จะต้อง 1.เป็น ส.ส. 2.ประสบการณ์ความยอมรับ ความอาวุโสทั้งหลายก็ต้องคิดคำนึง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นนายสมพงษ์

เมื่อแกะชื่อคนที่ “อาวุโส” และเป็นที่ยอมรับ และรับรอง มีชื่อเดียวคือ “สมพงษ์”

ขณะเดียวกัน ชื่อของ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปรัฐบาล ที่มีคนในเพื่อไทย โยนหินออกมาหยั่งเสียง ทว่า ส.ส.สายอีสานวิเคราะห์สถานการณ์เป็นไป.oทิศทางเดียวกันว่า โอกาสของ “สุทิน” จะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคเป็นไปได้ยาก ไม่น่าใช่

สายตรงทักษิณ ใกล้ชิดเฮียเพ้ง ผงาดเลขาฯพรรค

อาจกล่าวได้ว่า ตำแหน่งเลขาธิการพรรค “พ่อบ้าน” เพื่อไทย กลายเป็น 1 ในชนวนความขัดแย้ง ที่สะสมมาเรื่อยตลอดช่วง 1-2 ปีหลัง แม้ไม่อาจพูดได้เต็มปาก แต่ก็ไม่ผิดนัก

หลังการเข้ามากุมอำนาจการบริหารของ “คุณหญิงสุดารัตน์” และบริวารลูกน้อง ตำแหน่งหนึ่งที่ทำให้ขั้วอำนาจเดิมต้องหลุดออกไป คือ ตำแหน่ง “พ่อบ้านพรรค”

การเข้ามาของ “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” แทน “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ต้องลุกจากเก้าอี้ไปเป็น ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่เป็นเส้นขนานกันทั้งในสายนิติบัญญัติ และในพรรค จนทำให้ ส.ส.ในพรรคบ่นถึงความเป็นเอกภาพ ทั้งที่เคยคนเคาะชื่อ “น.อ.อนุดิษฐ์” หนีไม่พ้นนายใหญ่

เมื่อถึงคราวที่ “นายใหญ่” ต้องกลับมาแก้ความขัดแย้ง เลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ ชื่อของ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา อดีต รมช.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกแนบไปให้นายใหญ่ที่ดูไบพิจารณา

ชื่อของ “ประเสริฐ” ในพรรคเพื่อไทย ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ยังเป็น ส.ส.โคราชถึง 5 สมัย ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย เป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ยุคที่เป็นฝ่ายค้าน

และเป็นนักการเมืองที่แนบชิดกับ “เฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” ออร์แกไนเซอร์ทางการเมือง มือเปิดท่อน้ำเลี้ยงสายตรง “ทักษิณ ชินวัตร” และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแคร์

ขณะที่ตำแหน่งโฆษกพรรคคนใหม่ มีชื่อของ “อรุณี กาสยานนท์” อดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 20 พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วน “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม ที่มีข่าวว่าเป็นตัวเต็งเลขาธิการพรรค ตามข่าวยังคงนั่งเก้าอี้ “รองหัวหน้าพรรค” มากกว่าจะเป็นเลขส

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์เหตุผลการปรับโครงสร้างใหม่นี้ว่า เป็นการถ่วงดุลอำนาจในพรรค และให้บรรยากาศการทำงานไปต่อได้ เพราะนายสมพงษ์เป็นที่ยอมรับของคนในพรรคอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน นายประเสริฐก็ได้รับการยอมรับจาก ส.ส.ในพรรค โดยเฉพาะสายอีสาน

ทีมสุดารัตน์เก็บตัว

อีกด้านหนึ่ง นักการเมืองสายคุณหญิงสุดารัตน์ เก็บเนื้อเก็บตัวหลัง “ลูกพี่” ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรค แต่บางส่วนจะถูกขยับให้ไปมีตำแหน่งด้านบริหารที่สูงขึ้น แต่บทบาทอาจน้อยลง เช่น “น.อ.อนุดิษฐ์” อาจจะขยับไปเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค

ส่วน “คุณหญิงสุดารัตน์” ออกเยี่ยมพื้นที่ พร้อมเปิดแคมเปญโชว์วิสัยทัศน์พัฒนากรุงเทพฯ ในงาน “วิสัยทัศน์รวมพลังสร้างกรุงเทพ” ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้าง กทม. จึงถูกจับตามองว่าการลาออกจากการคุมยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ เพื่อจะลงสนามในนามผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะเปิดฉากเลือกตั้งในปี 2564

กลุ่มแคร์ซัพพอร์ตเพื่อไทย

หนึ่งกลุ่มที่ต้องจับตา คือ “กลุ่มแคร์” ที่คนในสายทักษิณระบุว่า “แคร์คือหัวใจ เพื่อไทยคือภาระ” กับเหตุผลที่แตกตัวไปตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวในช่วงเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ กลุ่มแคร์ได้รับการหนุนจากบ้านจันทร์ส่องหล้าอย่างเต็มกำลัง จึงมีคำถามว่าจะกลับเข้ามาอยู่ใต้ชายคาพรรคเพื่อไทยหรือไม่

“ภูมิธรรม เวชยชัย” สมาชิกพรรคเพื่อไทย แกนนำก่อตั้งกลุ่มแคร์ กล่าวว่า กลุ่มแคร์ก็ยังเป็นกลุ่มแคร์ต่อไป ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไป แคร์ก็ยังทำแคร์อยู่ ไม่ได้เกี่ยวกัน คนละเรื่องกัน

ส่วนจะ support เพื่อไทยหรือไม่ แคร์ประกาศชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่กลุ่มแคร์เสนอ ใครจะหยิบไปใช้ก็ได้ และถ้าพรรคเพื่อไทยเชิญมา เราก็คุยด้วยหมดแหละ ขอให้คุยกัน อย่ามาหลอกให้เราไปนั่งคุยเรื่อยเปื่อยก็พอ

ทุกความเคลื่อนไหวจะปรากฏให้เห็นกับตา 1 ตุลาคมนี้