‘อาคม’ ว่าที่ขุนคลัง ธุรกิจ-ตลาดทุนขานรับ

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทูลเกล้าฯ แม้ยังไม่มีการประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่คาดหมายว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ถูกเลือกให้นั่งเก้าอี้ รมว.คลังในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/3” แทน นายปรีดี ดาวฉาย ที่ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง 1 กันยายนที่ผ่านมา

ส่งผลให้รัฐบาลไร้ขุนคลังมานานเดือนเศษ เป็นม้ามืดเพราะรายชื่อโผล่ในโผสุดท้าย แต่มาแรงแซงโค้งนักธุรกิจ นักการเงิน รวมทั้งบิ๊กกับอดีตบิ๊กข้าราชการ เข้าป้ายแบบรวดเดียวจบ สยบข่าวลือที่แพร่สะพัดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่หน้าใหม่ที่ “บิ๊กตู่” เรียกใช้บริการ แต่เป็นบุคคลที่นายกฯไว้วางใจในการสอบทานข้อมูล-ตัวเลขด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

นอกจากนี้ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาอยู่ในรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ “นอกทีมสมคิด” ทว่าเป็น 1 ในรัฐมนตรี “โควตากลาง-สายตรง” ของนายกฯ ตลอด 4 ปี และแม้จะพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังได้ร่วมปรึกษาหารือกับนายกฯ ตอบสนองและเติมเต็มก่อนการตัดสินใจในหลายโครงการ สามารถตอบทุกคำถามของนายกฯ และคณะได้ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนทั้งรูปแบบข้อมูลดิบ อินโฟกราฟิก หรือพาวเวอร์พอยต์ เข้าใจง่าย เป็นระบบ-ระเบียบ ทั้งเมนูแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งระยะสั้น-ยาว แนวทางการวิเคราะห์โครงการของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน

แถมมีคุณสมบัติสำคัญตรงกับที่นายกฯเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า “เป็นคนที่ที่บ้านไม่ห่วงเกินไปมากนัก” เพราะเขาครองตัวเป็นโสด หลังจากภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน

“ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงสุดคือ นายอาคม ซึ่งมีการคุยล่าสุดไปแล้ว พร้อมแจ้งกำหนดการที่สำคัญไว้คร่าว ๆ แล้ว ในช่วงต้นเดือนตุลาคมจะมีความชัดเจน และหากเป็นไปตามโผ คาดว่าจะได้เริ่มทำงานช่วงกลางเดือนตุลาคม” แหล่งข่าวยืนยันเอกชนมั่นใจช่วยกู้สภาพคล่อง

ขณะที่ภาคเอกชนต่างขานรับหลังได้รับการคอนเฟิร์มว่า “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” คือ ว่าที่ รมว.คลัง คนใหม่ โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลงานของนายอาคมที่ผ่านมาที่รับราชการมานาน และอยู่ในหน่วยงานสำคัญอย่าง สศช. รวมถึงเคยดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม มาก่อน เชื่อว่าเป็นบุคคลที่เห็นภาพใหญ่เมกะโปรเจ็กต์ ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ มั่นใจการเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง ของนายอาคม จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ในส่วนของ ส.อ.ท.คิดว่า นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป็นเรื่องเร่งด่วน จะเสนอ รมว.คลังคนใหม่ ช่วยเรื่อง cash flow กับการยืดหนี้ SMEs ที่มีปัญหาหอการค้าจี้ให้แพ็กกิ้งเครดิต

ด้าน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหมาะสมที่นายอาคมจะนั่งเป็น รมว.คลังคนใหม่ และต้องการให้เดินหน้าเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เน้นช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน โดยให้สามารถนำสัญญาซื้อ-ขาย กับบริษัทรายใหญ่เข้าถึงสินเชื่อแพ็กกิ้งเครดิตแบบมีสินค้าเป็นประกัน (packing credit under stock) เงินกู้ได้ และปล่อยเงินกู้ 24,000 ล้านบาท ให้กลุ่มสายการบินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเดินหน้าลงทุนโครงการสำคัญให้เดินหน้า 3 งานเร่งด่วน

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเป็นคนจับประเด็นได้เร็ว เชื่อมโยงงานกระทรวงการคลังกับ สศช.ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ต้องขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ งานเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกก็คือ รักษาการจ้างงาน ที่ผ่านมามาตรการดูแลอาจไม่ครอบคลุมถึงด้านภาษี รวมถึงเรื่องสภาพคล่องที่ยังเป็นปัญหา

“หนึ่ง ธุรกิจที่ยังไปได้ ต้องช่วยก่อนเลย ใส่สภาพคล่องเข้าไป ให้ไปต่อได้ สอง กลุ่มที่คาบลูกคาบดอก ที่ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ อย่างพวกซื้อมาขายไป ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจการเกษตร เพราะต้องอยู่กับโควิดไปอีก 2-3 ปี สาม กลุ่มอาการหนักอย่างกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว จะช่วยอย่างไร”

นอกจากนี้ จากการประเมินของ สสว.พบว่า เอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย อาจไปไม่รอด เพราะรายได้ปีนี้จะหายไป 6.5 แสนล้านบาท เฉลี่ยรายละ 2 แสนบาท ต้องเร่งช่วยเหลือ หากช่วยกลุ่มนี้ไม่ทันจะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดทุนมองบวก

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า นายอาคมเป็นผู้มีประสบการณ์ที่ครอบคลุมหลายด้าน เหมาะสมในตำแหน่ง รมว.คลังแล้ว

ขณะที่ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองในทำนเดียวกันว่า นายอาคมรู้วิธีขับเคลื่อนระบบราชการ และเคยดูเศรษฐกิจภาพใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี จึงถือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

เช่นเดียวกับ นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) ที่ชี้ว่า “การมี รมว.คลังคนใหม่ เป็นเรื่องที่ดีต่อตลาดทุน คาดหวังให้ช่วยผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และมองว่านักลงทุนต่างชาติจะมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดทุนทั่วโลกกำลังจับตาปัจจัยการเลือกตั้งของสหรัฐ ดังนั้น กระแสเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) อาจยังไม่ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเร็ว ๆ นี้”

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า นายอาคมเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความเข้าใจในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งในสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มาก่อน รวมถึงการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ผ่านกระทรวงคมนาคม จึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานราชการอื่น ๆ รวมถึงการเรียกความเชื่อมั่นของการลงทุนได้
ไม่ยาก 

อย่างไรก็ดี โจทย์ที่เป็นความท้าทายหลังจากรับตำแหน่ง คือ การร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าและฟื้นตัวจากวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จะต้องเร่งดูแลและช่วยกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน และกระตุ้นให้คนที่ยังมีกำลังซื้อหรือกลุ่มคนระดับบนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ขาดความเชื่อมั่น ควรจูงใจคนกลุ่มนี้ให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจจะทำผ่านนโยบายทางด้านภาษี เป็นต้น

“คุณอาคมเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และทำงานร่วมกับข้าราชการมานาน จึงไม่น่าจะมีปัญหา และจะเห็นว่าจุดเด่นของท่าน คือ โครงสร้างพื้นฐานในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งครั้งนี้จะต้องหันมาจับการขับเคลื่อนทางด้านการลงทุน และเร่งสร้างความเชื่อมั่นที่จะเป็นจุดแข็งทางด้าานการคลังได้” นายอมรเทพกล่าว

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องชื่อ รมว.คลังคนใหม่ แต่ใครจะมาก็ล้วนมีความเหมาะสมทั้งสิ้น โดยตนยินดีร่วมงานกับทุกคน ซึ่งหากเป็นนายอาคมมาเป็น รมว.คลังตามที่มีข่าว ก็คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ มีความเข้าใจเศรษฐกิจและใกล้ชิดภาคเอกชน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้เรียกหน่วยงานทุกแห่งภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังมาหารือมาตรการดูแลเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยเป้าหมายหลักต้องดูแลเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งด้านภาษี งบประมาณรายจ่าย และสินเชื่อที่ต้องทำออกมาให้ชัดเจนและให้ถูกฝาถูกตัว