แกนนำ “กลุ่มแคร์” ชี้ประกาศปิด VoiceTV หมดอายุ-ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Voice TV

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ ชี้ การออกคำสั่งของ ผบ.ตร. ปิดวอยซ์ทีวี ขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำ กลุ่มแคร์ กล่าวถึงความ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของการออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ที่ระบุให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) ดำเนินการเพื่อการตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ

“เนื่องจากปรากฏว่าได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วนของ วอยซ์ทีวี และ/หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The reporter, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH” คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฯ ที่ 4/2563 ระบุ สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ลงนามโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

ประกาศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.)  ว่า วันนี้ศาลมีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของวอยซ์ทีวีแล้ว ส่วนอีก 3 สื่อ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ซึ่งกรณีวอยซ์ทีวี เข้าข่ายหลายองค์ประกอบความผิด ทั้งขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึง พ.ร.บ.คอมฯ ด้วย

โดยนพ.สุรพงษ์ ระบุว่าเหตุผลการเกิด สุญญากาศของอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งสามารถฟ้องกลับได้ เพราะไม่ประกาศให้สาธารณชนรับรู้ และวันนี้ที่มีคำสั่งปิดวอยซ์จะอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ เพราะสิ้นสุดการบังคับใช้แล้ว ดังนี้

  1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ดังนั้นจึงระบุตัวผู้รับผิดชอบการใช้อำนาจชัดเจนและจำกัดเวลาในการใช้
  2. ผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ นายกรัฐมนตรีที่รวบรวมอำนาจจากรัฐมนตรีมารวมศูนย์ในการออกข้อกำหนดต่างๆ
  3. ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าวบิดเบือน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้อาคาร

นพ.สุรพงษ์ไฮไลท์ “ข้อความสำคัญ” ไว้ ว่า 4.ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ออกข้อกำหนดแทนได้ แต่ต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว และถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกข้อกำหนดเดียวกันภายใน 48 ชั่วโมง นับจากเวลาที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฯ ออกข้อกำหนดให้ข้อกำหนดนั้น “สิ้นผลใช้บังคับ”

5.คำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ฯ ที่ออกก่อนหรือออกภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว เพราะเกิน 48 ชั่วโมง และยังไม่มีคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในข้อกำหนดเดียวกันออกมาทดแทน

6.การปิดวอยซ์ทีวีในวันนี้จึงไม่สามารถอ้างอิงอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เพราะเป็นคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ซึ่งสิ้นผลใช้บังคับแล้ว (เพราะไม่มีประกาศข้อกำหนดเดียวกันลงในเว็บไซต์ราชกิจจาบุเบกษาเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ภายในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 หรือ ภายใน 48 ชั่วโมง)

7. การปิดวอยซ์ทีวีไม่สามารถอ้างอิง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ในมาตรา 35 ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ และมาตรา 5 ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับมิได้

8.ถ้าประสงค์จะปิดวอยซ์ทีวีและสื่อมวลชนอื่น ห้ามชุมนุม ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอง ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้และต้องพร้อมรับผิดชอบ