ประยุทธ์ อภิปรายเปิด ประชาธิปัตย์ตาม 9 ส.ส. ฝ่าวิกฤตประเทศไทย

นายกฯประยุทธ์

ประชาธิปัตย์ ส่ง 9 ขุนพล ผ่าทางตันวิกฤตประเทศไทย ประยุทธ์ เปิดหัว

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหาร (กก.บห.) วาระพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมในการอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165

โดยนายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า หลักในการอภิปราย จะมีการนำเสนอข้อมูลที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศบนพื้นฐานจุดยืนของพรรคที่ชัดเจนมาโดยตลอด

1 . ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์มาเมื่อปี 2489 จนถึงปัจจุบัน

2 . เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม

3 . ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิดในการแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองหลังจากที่มีการอภิปรายเสร็จสิ้น

โดยให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ หรือคณะทำงาน แล้วแต่ที่ประชุมจะได้กำหนด เพื่อให้มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

4 . การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่า คืออีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นกันในการหาทางออกให้กับประเทศ และจุดยืนของพรรคมีความชัดเจนในเรื่องนี้คือการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่คือ แก้ มาตรา 256 และ ตั้ง สสร. ให้เร็วที่สุดโดยไม่มีการแก้ไข ในหมวด 1 และ หมวด 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจัดสรรจากสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาลได้ทั้งหมด 55 นาที ซึ่งที่ประชุมมีมติส่งชื่อผู้อภิปรายในสัดส่วนของพรรค 9 คน ได้แก่ 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค 15 นาที 2. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิป 10 นาที 3.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 4.นายชัยชนะ เดชเดโช 5.อันวาร์ สาและ 6.นายชุมพล จุลใส 7.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ 8.อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และ 9.นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ คนละ 5 นาที

โดยในวันพรุ่งนี้ (26 ตุลาคม 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะอภิปรายเปิด ลำดับต่อไป คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต่อด้วยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และผู้อภิปรายในสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะวนไปเรื่อยในจนกว่าจะอภิปรายครบ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถลุกขึ้นชี้แจงได้ตลอดเวลา