“ไอลอว์” โต้กลางสภา ทุนต่างชาติบงการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

ไอลอว์ แจง ไม่ถูกชักนำจากทุนต่างชาติ “ยิ่งชีพ” ขอ ส.ส.- ส.ว. หากอยากเห็นระบอบการเมืองปกติ ให้รับหลักการไปก่อนแล้วหาจุดบกพร่องร่วมกันในวาระ 2

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ตอบคำถามสมาชิกรัฐสภา ถึงการที่ไอลอว์รับเงินต่างชาติ ว่า ประเด็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนไม่ได้ห้าม ส.ส.ร. ไม่ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เพราะ ส.ส.ร.ที่ผ่านมาไม่ว่าปี 40 หรือ ปี 50 ก็ไม่มีข้อห้าม เรามีความเชื่อว่าอำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน แล้วจะไปกำหนดประชาชนห้ามแตะตรงนี้ ตรงนั้น มันขัดแย้งกัน เราต้องเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ตนเชื่อว่า ส.ส.ร.ที่จะได้รับเลือกนั้น จะมีความหลากหลาย ไม่ต่างจากรัฐสภาแห่งนี้ และไม่ต่างจาก ส.ส. จะมีหลายทรรศนะ หลายความคิด และหน้าที่ ส.ส.ร.คือการไกล่เกลี่ยหาทางออกที่ดีที่สุดว่าเสียงส่วนใหญ่ไปทางไหน

ตลอดเวลาการเมืองไทย ปัญหาเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจไม่ไว้ใจประชาชน จึงได้เกิดรัฐประหารบ่อย แต่ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนไม่ใช่เด็กๆ ที่จะมีผู้ใหญ่มาบอกว่าห้ามแตะเรื่องนั้น คนที่จะบอกว่าประชาชนเป็นใคร แสดงว่ามองว่าตนเองใหญ่กว่าประชาชน ดังนั้น เชื่อว่า ในส่วน 1 แสนรายชื่อ ที่เสนอร่างของไอลอว์มีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่สมาชิกรัฐสภาหลายท่านอาจวาดภาพลบเกินไป ในความหลากหลายนั้น เราเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ คือเหตุที่เราได้กำหนดว่าไม่ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เรามองว่าเราต้องไว้ใจประชาชน ที่จะทำในสิ่งที่นำประเทศไปข้างหน้า เราเองก็ไม่ได้คิดว่า หมวด 1 หมวด 2 แก้ไมได้เลย อาจแก้ได้ในบางจุด ที่ผ่านมาก็เคยมีการแก้ไข

นายจอน กล่าวว่า ส่วนการรับเงินต่างประเทศ ไม่อยากพูดมาก เป็นธรรมดาที่ องค์การพัฒนาเอกชนในประเทศไทย รวมถึงสถาบันที่มีชื่อหลายสถาบันรับเงินจากต่างประเทศไม่ได้แปลว่าถูกชักนำ ถูกบงการ และรับรองได้ในฐานะผู้ตั้งไอลอว์ว่าในองค์กรไอลอว์เองไม่มีใครสามารถมาบงการการทำงานของไอลอว์ได้

น.ส.จิรนุช เปรมชัยพร ผู้แทนผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย กล่าวว่า บางเรื่องที่เป็นข้อกล่าวหาหากไม่ตอบจะเกิดความเสียหายขึ้น ในการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งตนอยู่มา 30 ปี ในงานพัฒนาสังคม เราคงไม่อยากรับเงินจากต่างชาติใดๆ ทั้งสิ้น องค์กรรัฐหรือองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐเป็นอิสระและใจกว้างเพียงพอที่อนุมัติงบประมาณให้กับองค์กรที่วิจารณ์รัฐ แต่เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นในสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราจึงแสวงหาแหล่งที่สนับสนุนงบประมาณ

“เราไม่ได้รับจ้างทำงาน ไม่ใช่เรื่องแหล่งทุนไหนมาเป็นเจ้านายชี้นิ้วสั่งให้เราทำ ไอลอว์เป็นหนึ่งในองค์กรไม่เคยทำในลักษณะงุบงิบและปิดซ่อน ข้อกล่าวหารับทุนต่างชาติ เปิดโอกาสให้ต่างชาติแทรกแซง เกินจริงไปมาก การพยายามนำข้อกล่าวหาเหล่านี้มาทำลายบั่นทอนความเป็นจริง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 แสนกว่าคน เป็นความต้องการของประชาชนไทย ไม่มีต่างชาติ แห่ล่งทุนไหนมาเป็นผู้กำหนด หรือบงการ อยากให้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ควรจะจบไปแล้ว” น.ส.จิรนุช กล่าว

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า การบอกว่าร่างไอลอว์เป็นของคณะราษฎร 2563 เป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ห้ามจินตนาการไม่ได้ เพราะไอลอว์เราเริ่มต้นกิจกรรมเข้าชื่อเสนอรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2563 แต่ราษฎรประกาศตั้งในต้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นสมาชิกรัฐสภาที่เห็นค้านหลักการใหญ่ของไอลอว์ ทั้งการมีสิทธิเลือกนายกฯ มีองค์รอิสระที่เป็นอิสระ ไม่มีใครคัดค้าน เวลาที่ติดใจว่ารับหลักการไปก่อนจะแก้ไขได้เพียงใด ถ้าเห็นด้วยในหลักการใหญ่ๆด้วยกันที่อยากเห็นประเทศมีระบอบการเมืองปกติร่วมกันสามารถรับหลักการไปก่อนได้ ขอวิงวอน ส.ส. และ ส.ว. หากเห็นเทคนิคปัญหาอย่างไรก็รับไว้ก่อนแล้วค่อยแก้ไขในวาระ 2 แล้วอุดรัวรั่วที่เราไม่อยากเห็นด้วยกัน

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ส่วนการข้อสงสัยว่ายกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะนิรโทษกรรมคดีทุจริต ยืนยันว่าหลักการเราไม่ต้องการเห็นนิรโทษกรรมไม่ว่าใครก็ตามทั้งนักการเมืองทุจริต และ คสช. แต่หากเห็นว่าจะร่างไอลอว์จะถูกตีความไปได้ ก็ฝากให้แก้ไขในวาระที่ 2 หลายท่านตั้งประเด็นว่าเห็นด้วยบางประเด็นไม่เห็นด้วยบางประเด็นตั้งมาทั้งหมด เราไม่มีความสามารถที่จะเสนอแยกเป็นประเด็น ถ้าเสนอ 10 ประเด็น ก็ต้องล่ารายชื่อทุกประเด็น 10ประเด็น ใช้กระดาษ ล้านใบ สิ้นเปลืองเกินไป ดังนั้น ถ้าไม่เห็นค้านในหลักการใหญ่ๆ ก็น่าจะรับกันได้

เรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องดี คณะกรรมการที่มาปฏิรูปประเทศอยู่ตอนนี้ ถูกแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว บางคนถูกแต่งตั้งในสมัย สปช. สปท. และจนถึงปัจจุบัน ถ้าสำเร็จในมือท่านเหล่านั้นได้ สำเร็จไปนานแล้ว นอกจากนี้ แผนการปฏิรูป 3 พันกว่าหน้า ไม่แน่ใจว่าอ่านทั้งหมดแล้วหรือไม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศใช้บังคับอย่างไร ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ ต้องปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศทั้งหมด 3 พันกว่าหน้า ใครปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ถูกต้องคนชี้ขาดคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน เราจึงมีปัญหาทั้งกระบวนการและเนื้อหา หากปฏิรูปประเทศกันใหม่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ทำให้เกิดการสุญญากาศทางการเมือง อะไรจะรักษาการ อะไรจะเป็นสุญญากาศ ขอให้ช่วยคิด แก้ปัญหา เราไม่ต้องการให้ประเทศเกิดสุญญากาศ แต่จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ประเทศไม่เป็นสุญญากาศ ช่วยเราแก้ปัญหาในวาระที่สอง