ปัดฝุ่นกระทรวงน้ำ 3 รัฐบาล ติดกับดัก ไม่ตอบโจทย์ท่วมแล้งซ้ำซาก

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” แม่ทัพใหญ่แห่งพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ “ผู้จัดการน้ำ” เก็บงำเมกะโปรเจ็กต์-กระทรวงน้ำไว้ ก่อนจะหยิบขึ้นมา “ปัดฝุ่น” และมุ่งมั่น “เกิดขึ้นได้จริง” ให้ได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน

เป็นการควบรวม “หน่วยงานน้ำ” อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ-น้ำบาดาล กรมชลประทาน ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ “องค์กรน้ำ” ที่กระจัดกระจายแต่ละกระทรวง และบูรณาการงบประมาณให้เป็นก้อน-เนื้อเดียวกัน ไม่ถูกตัด-โปะ

เพิ่มเติม คือ การระดมบุคคลระดับ “มันสมอง” ในพรรคพลังประชารัฐปั้นใหม่ให้เป็น “กระทรวงดินและน้ำ” โดยการ “ติดเขี้ยวเล็บ” ดันสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้กลายเป็น “เสือติดปีก”

ถึงแม้ว่าขณะนี้ การบริหารจัดการน้ำจะรวมศูนย์อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล-สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสมือน regulator เป็น “หัวเรือ” แต่ “ไม่ใช่หางเสือ” ที่จะคอยบังคับทิศทาง-ขับเคลื่อนให้รัฐนาวาแล่นฉิวทั้งองคาพยพ

มิหนำซ้ำแม้จะมี “ฝ่ายการเมือง” ภายใต้โครงสร้างอำนาจคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ “พล.อ.ประวิตร” เป็นประธาน แต่การขับเคลื่อนนโยบาย-โครงการที่ผ่านมา “ติดหล่ม” อยู่ในแต่ละกรม-กอง สั่งงานไป-แต่ไม่ได้ตามแผน

การตั้ง สทนช.ขึ้นมาเป็นหน่วยขึ้นตรงของรัฐบาล-นักการเมือง เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึง “ไม่ตอบโจทย์” เพราะแกะระบบรัฐราชการไม่ออก ดังนั้น หากตั้งกระทรวงน้ำได้สำเร็จ สทนช.จะถูกดีไซน์เป็นเพียง “สำนักงานนโยบายและแผน”

แม้ที่ผ่านมา สทนช.จะวางบทบาทให้มีอำนาจเต็ม-เทียบเท่ากระทรวง (น้ำ) เช่น การยืมตัว-ถ่ายโอนกำลังคน ข้าราชการจากกรมทรัพยากรน้ำ-กรมชลประทาน และการโอนรับและสรรหาข้าราชการพนักงานเพิ่มเติม

ตลอดจนขึ้นรูปโครงสร้างภายในและการออกกฎหมายขึ้นมารองรับหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และแผนแม่บททรัพยากรน้ำ

ทว่าอำนาจ-หน้าที่ “เกินกำลัง” ของ สทนช.ไม่สามารถแบกรับภาระระดับประเทศ และแม้จะขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเพียง “เสือกระดาษ” ไม่สามารถสั่งกรม-กองด้านน้ำ ให้ซ้ายหัน-ขวาหันได้

ที่สำคัญ ไม่มีกองกำลัง-งบประมาณที่จะแก้ปัญหา “วาระแห่งชาติ”

อุทกภัยคู่ชีวิต “บิ๊กตู่”

กระทรวงน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” เพราะในยุคที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในฤดูน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทั้งนายกรัฐมนตรีกับ ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ออกงานคู่อย่างต่อเนื่อง

ต่อมาเมื่อทำการรัฐประหาร จัดตั้งรัฐบาลในยุค “รัฐบาล คสช.” แนวคิดตั้ง “กระทรวงน้ำ” จึงถูกจุดพลุขึ้น และดับลง ภายในพริบตาเดียว หลังจากถูก “ต่อต้าน” ทั้งจากเทคโนแครต-เอ็นจีโอ

“กระทรวงน้ำ” จึงถูกออกมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ “ลูกผีลูกคน” โดยการใช้ “อำนาจพิเศษ” ออกคำสั่ง คสช. ที่ 46/2560 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมี “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เป็น “ผู้อำนวยการคนแรก”

ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ สทนช. ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น “พ่อบ้าน” ให้กับ “พล.อ.ประวิตร” คอย “ทุบโต๊ะ” บริหารจัดการน้ำ น้ำท่วม-แล้งทั้งระบบ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

นอกจากนี้ยังส่ง “ทหารเอก” “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ไปเป็น “มือ-ไม้” และคู่คิด ในคณะอนุกรรมการเพื่อบริหาร “โปรเจ็กต์น้ำ” หลายแสนล้าน

โครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญถูก กนช. ที่มี “พล.อ.ประวิตร” นั่งบัญชาการทำคลอดหลายโครงการ-หลายแสนล้าน แต่ไม่สามารถผลิดอกออกผลได้อย่างตั้งใจหวัง

กระทรวงน้ำ วิบากกรรม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

ย้อนไปสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเผชิญกับวิบากกรรม “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 เมืองทั้งเมืองต้องจมอยู่ใต้บาดาล คิดเป็นตัวเงินกว่า 1.44 ล้านล้านบาท และประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้อีกมหาศาล

แนวคิดการตั้ง “กระทรวงน้ำ” เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน-และธุรกิจให้กลับมาอีกครั้ง

สารพัดแผนถูกงัดขึ้น เช่น การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่มาพร้อมกับ “เมกะโปรเจ็กต์” หลายแสนล้าน และกลายเป็น “จุดตัด” สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน

ส่วนความพยายามในการตั้ง “กระทรวงน้ำ” โดยมี “ดร.โกร่ง” นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในขณะนั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญ

โดยมี “วิษณุ เครืองาม” หนึ่งในกรรมการ กยอ. เป็นคีย์แมนในการตั้งไข่กระทรวงน้ำ เริ่มจากร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งองค์การมหาชน ให้เป็น “องค์กรพิเศษ” ในการรับมือมหาอุทกภัย-แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ

ระยะเฉพาะหน้า คือ การออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาเพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน แต่ไม่มีอำนาจเต็ม

“หัวใจ” ของการตั้ง “องค์การมหาชน” เพื่อสลัดการทำงานออกจากระบบราชการให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ระยะที่สอง คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกระดับองค์การมหาชน-มีอำนาจเต็ม

โดยมีอำนาจ-หน้าที่ระยะแรกของการองค์การมหาชน คือ เป็น “ตัวกลาง” ในการประสานกับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้วิกฤตน้ำ

ระยะต่อไปเมื่อออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อยกระดับเป็น “กระทรวงน้ำ” มีอำนาจในการเวนคืนที่ดิน จัดการผังเมือง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำน้ำ

คู่ขนานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มี “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เสนอแนวทางการตั้ง “กระทรวงน้ำ” ไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำ-อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ “กรมชลประทาน” มาไว้ที่ “กระทรวงน้ำ” เพื่อบูรณาการงาน-งบประมาณ ไม่ให้ “ต่างคนต่างทำ”

วันนี้ทั้ง “วิษณุ” และ “ทศพร” ที่เคยเป็นคีย์แมนในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ พลิกมาเป็น “ขุนพล” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ผ่านมา 3 รัฐบาล แต่การตั้งกระทรวงน้ำ ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจริง