ครม.อนุมัติจ่ายค่าตอบแทน อสม. เดือนละ 500 บาท ต่ออีก 3 เดือน

coronavirus

ครม.ไฟเขียว ขยายเวลาจ่ายค่าตอบแทนอสม.-อนุมัติรอบใหม่ อีก 3 เดือน กว่า 1.57 พันล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติ 10 โครงการ 1.1 หมื่นล้านบาท ตามพ.ร.ก.กู้เงิน เตรียมพร้อมทางการแพทย์สาธารณสุข

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน วงเงินกว่า 1.57 พันล้านบาท มาตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563

ซึ่งยังพบปัญหาติดขัดในเรื่องของเลขบัญชีธนาคารของ อสม. บางราย ทำให้ไม่สามารถโอนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวได้ครบ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ ครม.จึงมีมติขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินโครงการฯ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2564

“มากไปกว่านั้น ครม.ยังได้เห็นชอบที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ อสม. ตามหลักการเดิมไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564 เดือนละ 500 บาท วงเงิน 1.57 พันล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่เชิงรุกในการดูแลประชาชนระดับชุมชน พร้อมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่”

นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบเพื่อให้การดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกมิติทั้งเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ครม.อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ คือ 1.โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม – มีนาคม 2564) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1.57 พันล้านบาท

2.โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 419.84 ล้านบาท

3.โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 503.89 ล้านบาท

4.แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนชาวไทย รับผิดชอบโครงการคือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ วงเงิน 1.81 พันล้านบาท

5.โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่ และเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 24 ล้านบาท

กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ

1.โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 2.037 พันล้านบาท

2.โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยบริการสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1.92 พันล้านบาท

3.โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2.99 พันล้านบาท

กลุ่มสนับสนุน วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1.โครงการจัดซื้อ จัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 17 ล้านบาท

2.โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 9.7 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้เพียงพอต่อการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ได้ มีการรายงานความก้าวหน้าการใช้จ่ายเงิน รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด