วิษณุ เผย กรรมการปราบบ่อน “กำกับ-เร่งรัด” ไร้อำนาจจับ ลงโทษ

วิษณุ เผย กรรมการปราบบ่อน ที่นายกฯ สั่งตั้ง ไร้อำนาจจับ หรือลงโทษตามกฏหมาย

วันที่ 7 มกราคม 2564 เวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งตั้งกรรมการสืบสวนบ่อนการพนันตามรายงานของข่าวสด ว่า ขณะนี้กำลังทาบทามรายชื่อคณะกรรมการและประธานอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นคนที่เป็นรัฐมนตรี และจะต้องประกอบด้วยหน่วยงานที่มีหน้าที่ ที่จะต้องทำ และ เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการดำเนินการ

เพราะเรื่องนี้ไม่เหมือนกับการตั้งกรรมการชุด “นายวิชา มหาคุณ” มาสะสางปัญหาเรื่อง “คดีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา” ขับรถตำรวจตาย เพราะเรื่องนั้นเป็นการสอบถามข้อเท็จจริง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไปหาว่าใครทำผิด ดังนั้นถึงเจอว่าใครทำผิดก็ทำอะไรต่อไม่ได้

นอกเสียแต่ให้ 5 หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันแลพะปราบปรามการทุจริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้เป็นคนจัดการ

แต่จะต้องทำอย่างไร ให้คณะกรรมการ 1-2 ชุด เพื่อเข้าไปประสานงานทุกอย่างกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องดังกล่าวแตกเป็น 2 ประเด็น คือ เรื่องคนต่างด้าวที่เข้ามา เพราะอาจจะไม่ใช่แรงงานเช่นโรฮิงญา และ อีกประเด็นหนึ่งคือบ่อน หรือสถานบริการเล่นการพนัน ซึ่ง 2 ประเด็นไม่เกี่ยวกัน

แต่ขณะนี้เกี่ยวพันกันแล้ว เพราะคนต่างด้าวที่นำเชื้อโควิดเข้ามาเผยแพร่ และเข้ามาทำงานในบ่อนเมื่อคนไปเที่ยวบ่อนก็เป็นตัวแพร่เชื้อโรค จึงกลายเป็นเชื่อมโยงกัน

“บ่อนเป็นเรื่องผิดกฎหมายและต้องจัดการ ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มี แต่ขณะนี้ กลายเป็นประเด็นพิเศษขึ้นมา เพราะเป็นการแหล่งแพร่โควิด ดังนั้นอาจต้องมีคณะกรรมการ 1-2 ชุด ที่เรื่องนี้ กำลังหารือกับผู้เกี่ยวข้องอยู่”

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่จะเข้ามา จะเป็นเพียงผู้ประสานงาน กำกับ เร่งรัด รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์จากประชาชนที่อาจจะไม่กล้าไปแจ้งตำรวจ แล้วคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อรับเรื่องก็จะได้แจกไปให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ แต่คณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเข้าไปดำเนินการจับ ย้าย ทำไม่ได้สักอย่าง แต่ทุกอย่างจะต้องนำเสนอต่อนายกฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถือเป็นความผิดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการบูรณาการ ที่จะทำให้เห็นว่า การทำอย่างนั้นถือเป็นความผิดกฎหมาย 5-6 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายแรงงานต่างด้าว กฎหมายเข้าเมือง กฎหมายปราบปรามการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ ไม่มีการตั้งกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ให้ทำไปเรื่อย ๆ พร้อมกับรายงานเป็นระยะ ๆ เหมือนกับชุดของนายวิชา รายงานทุก 30 วัน เมื่อทำงานไปได้ 2 เดือนเสร็จจบสลายตัว แต่สำหรับชุดนี้ยังไม่ทราบระยะเวลา เนื่องจากเป็นการทำงานในกรอบที่ใหญ่กว่าคดีบอส

ซึ่งนั่นเป็นเรื่องตัวเดียวอันเดียวประเภทเดียว แต่เรื่องนี้มีหลายประเภท เพราะพูดถึงเรื่องบ่อนก็เริ่มตั้งแต่อำเภอแม่สาย จังหวัด ถึง อำเภอ สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อพูดถึงแรงงานต่างด้าวข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย เราก็พูดถึงพรมแดน 2 พันกว่ากิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ นั้นจะมีแนวทางไปถึง การวางมาตรการป้องกันด้วยเพราะเรื่องการจัดการเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่หากเขาไม่ทำก็ต้องโดนโทษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่