เราชนะ ไม่โอนเงินสด “อาคม” แจงเหตุผล ชาวเน็ตไม่ปลื้ม

หลัง ครม. เคาะโครงการ “เราชนะ” ประชาชนบางส่วนคาดหวังว่าจะได้รับเงินสดจากโครงการนี้ แต่รัฐบาลไม่ใช้วิธี “โอนเงินสด” ให้ 

วันที่ 19 มกราคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงรายละเอียดโครงการ “เราชนะ” กรณีไม่โอนเงินสดให้ประชาชน ระบุว่า สำหรับโครงการเราชนะ ไม่สามารถกดออกมาใช้เป็นเงินสดได้ แต่รูปแบบจะใช้ร่วมกับร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการของรัฐ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้ว 1 ล้านแห่ง

ส่วนกรณีที่ประชาชนเรียกร้องอยากให้จ่ายเป็นเงินสดมากกว่า เพื่อนำไปใช้หนี้นอกระบบนั้น เบื้องต้น กระทรวงการคลังไม่ได้สนับสนุนหนี้นอกระบบ ซึ่งการนำเงินไปใช้จ่ายลักษณะนั้นก็ไม่สนับสนุน ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

นอกจากนี้ ยังต้องการสนับสนุนสังคมไร้เงินสด ส่วนคนไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเชื่อว่าจะเป็นส่วนน้อย เพราะบางส่วนก็ถือบัตรสวัสดิการอยู่แล้ว แต่หากใครไม่มีก็ต้องขอรบกวนเพราะตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว และขอย้ำว่าคนร่วมโครงการเราชนะสามารถใช้สิทธิร่วมกับคนละครึ่งได้ ขณะเดียวกันร้านค้า หาบเร่แผงลอยที่ขายของรับเงินจากเป๋าตัง ก็สมัครร่วมเราชนะได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย มีระบบตรวจสอบการทุจริต แม้จะขยายการใช้งานครอบคลุมไปถึงภาคบริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการตรวจจับร้านค้าที่ทุจริตในโรงการคนละครึ่งแล้วกว่า 900 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

มติชน รายงานว่า ระหว่างที่นายอาคมไลฟ์สดผ่านเพจสถานีข่าวกระทรวงการคลัง โดยมีผู้รับชมนับหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างเข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ซึ่งความเห็นเป็นไปในทางเดียวกันว่า ขอเป็นเงินสดดีกว่า อีกทั้งมองว่ารัฐบาลคิดเรื่องมาตรการเยียวยาเอง โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

ภาพจาก มติชน

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับเป็นวงเงินสำหรับใช้จ่ายกับร้านค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับเป็นเงินสด เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนสัมผัสตัวเงิน เพราะอาจจะมีเชื้อโควิด-19 ปะปนมาได้ และรัฐบาลอยากให้ประชาชนมีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดและสามารถใช้สิทธิ์ผ่านวงเงินเสมือนหนึ่งเป็นเงินสดได้ รวมถึงยังสามารถจำกัดการใช้จ่าย ไม่ให้เงินหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น แอลกอฮอล์ หรือใช้จ่ายกับห้างร้านขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช้วัตถุประสงค์ของรัฐบาล