เกมแก้รัฐธรรมนูญระทึก ลุ้นศาล รธน.ชี้ขาดปม ส.ส.ร.

เกมแก้รัฐธรรมนูญต้องระทึกขวัญภายหลังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาพิจารณาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีการลงมติวันที่ 9 ก.พ.เห็นด้วยกับญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่ หรือ ให้แก้ได้เฉพาะรายมาตราด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

พร้อมกับให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันพุธที่ 3 มีนาคม 2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564

ใจความของเรื่องระทึกนี้ คือ หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจบสิ้นลง คิวต่อไปคือการโหวตวาระ 2 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเป็นรายมาตราเสร็จแล้ว โดยลงปฏิทินไว้วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ วาระที่ 2

ทั้งนี้ พิจารณาวาระที่ 2 รายมาตราไม่น่าเป็นห่วงเท่าวาระที่ 3 อันเป็นวาระชี้ชะตาว่าเกมแก้รัฐธรรมนูญจะเดินหน้าไปโดยมี ส.ส.ร. หรือกลายเป็นวาระแท้ง

ตามคิวรัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวันที่ 16-17 มีนาคม ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา 3-4 มีนาคม ดังนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ย่อมมีผลต่อการโหวตรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ทั้งสิ้น เพราะยังต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา และมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้ 84 เสียงของ ส.ว.และพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20 %

และหากเปิดถ้อยคำ “อุดม” 1 ใน 4 บุคคลที่เคยมีความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว คือ “อุดม” โฆษก กรธ.ที่เคยให้ปากคำในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ … พ.ศ. … ที่ประชุมได้เชิญมาให้ความเห็นว่า “ในนามส่วนตัวมิใช่ในนาม กรธ.เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และมิได้มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับได้”

เกมแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.อาจถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง