เปิดวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เงื่อนไขการทำประชามติ

เปิดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา 256 วางเงื่อนไขประชามติ 

วันที่ 11 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ คำวินิจฉัย การลงมติ การวินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจรัฐสภาในการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง

สำหรับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วางเงื่อนไขประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

Advertisment

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตราโดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณแต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวันเมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

Advertisment

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาโดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าว รวมกันและมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้วให้รอไว้สิบห้าวันแล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาหรือของทั้งสองสภารวมกันแล้วแต่กรณีมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญและให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได

สำหรับที่มาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ก่อนที่จะมีการลงมติแก้ไขและเข้าสู่กระบวนการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น มีการอภิปรายประเด็นปัญหาไว้ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สะท้อนปัญหา  ไว้ว่า

“วุฒิสภาชุดปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีสถานะรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ การแก้ไขที่ขัดกับความต้องการของคณะผู้ปกครองประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะทำไม่ได้เลย  ส.ว. ชุดปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนกลไกป้องกันไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย”

ดังนั้น กมธ. เสียงข้างมากเห็นควรให้ยกเลิกเงื่อนไขในมาตรา 256 ในการมี ส.ว. เห็นชอบด้วยคะแนน 1 ใน 3 เหลือเพียง “เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา” ตามหลักการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

ขณะที่อีก 2 แนวทางที่มี กมธ. เสนอไว้คือ ให้คงเงื่อนไข ส.ว. เห็นชอบ 1 ใน 3 เอาไว้ แต่ใช้ในกรณี ส.ว. ตามบทถาวร ไม่ใช่ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล หรือใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ทว่าต้องใช้กับ ส.ว. ชุดถาวรเช่นกัน