“ฝ่ายค้าน” จ้องชำแหละงบปี’65 ไล่บี้กองทัพลดซื้ออาวุธ-เพิ่มเงินอุ้ม SMEs

รายงานพิเศษ

แม้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวบอำนาจบริหารจัดการโควิด-19 จากกฎหมาย 31 ฉบับ มาไว้ในมือ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไวรัสระบาด

แต่สถานการณ์ยังวิกฤตทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ พันไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจจากการ “กึ่งล็อกดาวน์” ทำให้รัฐบาลต้องควักเงินในคลังมาเยียวยาบาดแผลประชาชน-ภาคธุรกิจ เป็นรอบที่ 3

ความมั่นใจของประชาชน ต่อฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาลอยู่ในสภาวะ “ติดลบ” เสียงเรียกร้องขอวัคซีนดังกระหึ่มไปหลายพื้นที่ ทั้งประชาชนในตรอกซอกซอย จนถึงนักธุรกิจหมื่นล้าน

แม้ว่าไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ work from home “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการ “เปิดทำการ” ตามปกติ

ตามปฏิทิน หลังจากรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 จากนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณากฎหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท อันเป็นกฎหมายสำคัญที่สุด

“พรรคเพื่อไทย” เบอร์ 1 ฝ่ายค้าน ตั้งเป้าว่า การอภิปรายงบประมาณรายจ่าย ปี 2565 จะเป็นเวที “ซักฟอกรัฐบาล” ไปในตัว

พรรคเพื่อไทยนัดหารือก่อนสภาเปิดประชุมนัดแรก คาดว่าเป็นวันที่ 25 พฤษภาคม เตรียมประเด็นจับ “ประยุทธ์” และคณะขึ้นเขียงซักฟอกงบประมาณ

“ไชยา พรหมา” ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ รองหัวหน้าพรรค และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่เกาะติดการใช้งบประมาณภาครัฐ เตรียมประเด็นอภิปรายว่า

การจัดงบประมาณของปี 2565 แสดงถึงความทรุดโทรมของประเทศไทย เพราะมีการลดงบประมาณลงถึง 1.85 แสนล้านบาท จากปี 2564 ทั้งที่ประเทศต้องการเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่ทุเลา ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้

เห็นใจรัฐบาลว่าเมื่อภาษีรายได้หลักไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะธุรกิจซบเซา การส่งออกย่ำแย่ การท่องเที่ยวเสียหายหมด รัฐจึงต้องจัดงบประมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ถึงอย่างไร งบประมาณบางส่วนที่ชะลอได้ และไม่มีความจำเป็น ก็ควรที่ชะลอก่อน รัฐบาลควรโฟกัสกับปัญหาโควิด-19 ให้จบ เพราะถ้าไม่จบ เศรษฐกิจก็ยังไม่กลับมา รายได้ก็หายไป และรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการแก้ไขสถานการณ์

จึงเห็นว่าควรปรับงบประมาณจากโครงการที่ไม่จำเป็น มาจัดการปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน นำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนมั่นใจขึ้น

ไชยา ยกตัวอย่างงบประมาณที่ต้องตัด คือ “งบฯกองทัพ”

“งบฯทหารยังยืนยันว่าต้องปรับ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการมียุทโธปกรณ์ แต่ลำดับความสำคัญยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องเร่งรีบ เช่น กรณีเรือดำน้ำที่เซ็นสัญญาไว้แล้ว อาจมีวิธีการใช้เงินส่วนนี้นำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้”

“หรืองบประมาณที่ค้างท่อในปี 2564 ไม่ว่างบฯเงินกู้ในปี 2564 ต้องดูว่ามีโครงการใดอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ก็ต้องเร่งกระจายออกไป เพราะได้ผ่านการเห็นชอบมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ”

ตอนนี้เรายังขอดูว่างบฯที่ชะลอได้ ไม่จำเป็นต้องงบฯทหารอย่างเดียว แต่ยังมีงบฯของกระทรวงอื่น เช่น งบฯก่อสร้างที่สามารถยืดเวลาออกไป ในขณะที่เรามีงบประมาณจำกัด ก็ควรที่ชะลอเพื่อนำมาแก้ปัญหาโควิด

เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีนให้ได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนเกิน 70% ได้ ทุกอย่างจะ fail หมด”

“ถ้าวันนี้คนไม่เชื่อมั่นวัคซีนซิโนแวก รัฐบาลเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้าวันนี้ลดงบฯทหาร แล้วนำไปซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพ เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เข้ามา ประชาชนก็ต้องยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ พรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะต้องการให้โควิด-19 ยุติลงโดยเร็ว”

ด้าน “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ด้านนโยบาย บอกสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านเบอร์ 2 จะพุ่งเป้าซักฟอกบนเวทีอภิปรายว่า

ปี 2565 จะเป็นปีของการฟื้นฟูประเทศ ดังนั้น งบประมาณจะต้องไปในทางที่เห็นว่าถูกใช้ไปในทางฟื้นฟู แต่อุปสรรคแรกคืองบประมาณถูกปรับลดลง ซึ่งไม่เคยเป็นแบบนี้มา 12 ปีแล้ว

ครั้งสุดท้ายเป็น “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ทั้งที่เรายังต้องใช้งบประมาณอีกมากที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้

แต่ที่ถูกปรับลดลงเพราะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า แม้กู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณจนเต็ม max แล้ว ก็ยังใช้งบประมาณได้แค่ 3.1 ล้านล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น ก้าวไกลจะเสนอให้รัฐบาลออกงบประมาณรายจ่ายกลางปี เพื่อขยายการใช้งบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก

ก้าวไกลเตรียมชำแหละงบประมาณ ผ่านการอภิปรายให้รัฐบาลปรับปรุงงบประมาณ 5 ด้านสำคัญ คือ

1.การฟื้นฟูด้านการศึกษา เพราะโควิด-19 ที่ผ่านมา เด็กต้องอยู่ที่บ้าน เรียนออนไลน์ มีทรัพยากรที่แตกต่างกัน มีเด็กส่วนหนึ่งที่เสียโอกาสเรียนรู้ไปตลอดทั้งปี

งบฯปี 2565 จะต้องเป็นการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก แต่จากรายละเอียดงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถูกตัดงบฯไป 2 หมื่นล้าน เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายในวาระที่ 1

2.สวัสดิการของคนไม่เพียงพอ ครอบคลุม ทั่วถึง โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ในอนาคตควรจะต้องปฏิรูประบบประกันสังคม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ถูกกระทบมากที่สุดช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

แต่สิ่งที่เราเห็นคืองบฯของกองทุนประกันสังคมถูกตัด 1.9 หมื่นกว่าล้านบาท นอกจากรัฐบาลไม่เร่งสมทบคืนแล้ว ไม่น่าจะมีแผนการทำให้ประกันสังคมครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ

3.งบฯบัตรทองก็โดนตัด ทั้งที่โควิด-19 ระบาดหนักขนาดนี้ และ สปสช.ยังต้องสำรองจ่ายทั้งการรักษาพยาบาลโควิด-19 ฟรี และจ่ายในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่กลับโดนตัดในส่วนที่เป็นเงินเดือนบุคลากร ซึ่งขอคำยืนยันของรัฐบาลว่าการตัดงบฯรอบนี้จะไม่กระทบต่อการบริการสุขภาพของประชาชน

4.ฟื้นฟู SMEs ซึ่งกองทุน SMEs ถูกตัดงบฯไปเยอะมาก เช่น งบฯกองทุนส่งเสริม SMEs ถูกตัดไป 36% แผนบูรณาการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมก็ถูกหั่นไป 1,500 ล้านบาท

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย รวมถึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ก็ถูกตัดงบฯไปถ้วนหน้า ทั้งที่ SMEs ต้องปิดกิจการจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่รัฐบาลกลับมองข้าม

5.งบฯกลาโหม โดนตัดไป 1.1 หมื่นล้านบาท คิดว่าเป็นสัญญาณว่าผู้บริหารกระทรวงฟังพรรคก้าวไกลอยู่บ้าง ที่ให้เปลี่ยนจากเน้นความมั่นคงด้านการทหาร ไปเน้นความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน

แต่ต้องดูว่างบฯอาวุธต่าง ๆ ถูกตัดไปอย่างได้สัดได้ส่วนหรือไม่ เพราะงบประมาณด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 1.7%

เพราะมีนายพลที่ยังลดจำนวนไม่ได้ รวมถึงการเกณฑ์ทหารที่แม้มีสัดส่วนลดลง แต่ยังต้องใช้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการฝึก

“เชื่อว่าทุก ๆ กระทรวงยังมีไขมันที่ถูกรีดออกไม่หมด ทั้งงบฯดำเนินการต่าง ๆ งบฯจัดสัมมนาต่าง ๆ และงบฯอาวุธยังไม่รู้ว่างบฯจัดซื้อเรือดำน้ำยังมาอีกหรือไม่ แต่ยังไม่อยากให้จองเวรกลาโหมมาก เพราะกลาโหมก็ลดงบประมาณในระดับหนึ่งเหมือนกัน”

“ในภาพรวมแต่ละกระทรวงลดไป 5.6% แต่กลาโหมหั่นไป 5.2% ยังต่ำกว่า จึงต้องไปไล่บี้ต่อในรายละเอียดที่ต้องลดลงกว่านี้” ศิริกัญญากล่าว

งบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบฯก้อนสำคัญที่อาจเป็นก้อนสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

หากข่าวลือเรื่องรัฐบาลเตรียมแผนยุบสภาหลังงบประมาณ 2565 ผ่านสภา เป็นเรื่องจริง