การเมืองหลังม่าน “การบินไทย” กุนซือตึกไทยคู่ฟ้าลุ้นพลิกเกม

ชะตากรรมการบินไทยเดินมาถึงทาง 2 แพร่ง (อีกครั้ง) หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ เลื่อนการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการออกไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

แพร่งแรก-แผนฟื้นฟูกิจการฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2564 ให้ “คงสภาพ” การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลัง “เพิ่มสภาพคล่อง” ให้กับการบินไทย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ด้วย “เงินสองก้อน”

“ก้อนแรก” ในฐานะกระทรวงการคลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท “ก้อนที่สอง” เจ้าหนี้ 10 ราย “ลงขัน” จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท

แพร่งที่สอง-แผนฟื้นฟูกิจการฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ให้กระทรวงการคลัง “ค้ำประกันเงินกู้” จาก “แบงก์รัฐ” จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ “เงื่อนไข” การบินไทย กลับลำไปเป็น “รัฐวิสาหกิจประเภทสาม”

“พิมพ์เขียวฟื้นฟูการบินไทย” ถูกรื้อ-ร่างปรับแต่งทั้งในห้อง-นอกห้องทำแผน ถึง 2 ครั้ง 2 คราว จาก “มือขวา” และ “กุนซือใหญ่” ตึกไทยคู่ฟ้า ผสมโรงด้วย นักบริหารรัฐวิสาหกิจมืออาชีพ นักธุรกิจและนายแบงก์

โดยมีทีมการเมืองบนตึกไทยคู่ฟ้า-บัญชาการ เข้า-ออก วงประชุมฟื้นฟูการบินไทย เดินเกมให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมแก้ปัญหาการบินไทย “นัดพิเศษ” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งหัวโต๊ะ ทว่า การประชุม “นัดพิเศษ” ไม่ได้ข้อสรุป

โดยมี “กุนซือนายกฯ” เสียงข้างน้อย “ค้านสุดตัว”

มีข้อเสนอที่ไม่ได้รับการพิจารณา คือ ผลการเจรจาบางส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลทำไว้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน แต่ต้องพับแผนไป โดยมีกระทรวงคมนาคมยืนกราน ข้อเสนอตั้ง “สายการบินแห่งชาติแห่งใหม่” คุ้มค่ากว่า

จึงมีการเปลี่ยนแผนผลักดันเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.เป็น “วาระริมแดง” หรือข้อเสนอพิจารณาลับที่สุดโดยไม่มีการเวียนเอกสารล่วงหน้า และต้นเรื่องถอนเอกสารออกจากวาระการประชุมหลังพิจารณาจบ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้การบินไทยถอยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่สาม-ปลดล็อกให้กระทรวงการคลังเข้าไป “ค้ำประกัน” กู้เงินจาก “แบงก์รัฐ” ได้

ทว่า “เผือกร้อน” กลับถูกเตะออกจากวงประชุม ครม. หลังจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน “คณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย” รายงานความเป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้

เมื่อทาง 2 แพร่ง ปรากฏทั้งข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายที่จะเป็นการ “ติดหล่ม” ปัญหาเดิม-ก่อปัญหาใหม่

ประเด็นสำคัญ คือ เป็นการขัดมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563-ผิดไปจากวัตถุประสงค์แรกเริ่ม ระบุถึงเหตุผลที่การบินไทยต้องพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ-เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย

เพราะตราบใดที่การบินไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้ฟื้นฟูกิจการไม่ได้ !

แม้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 “ติดไฟแดง” ไม่ให้การบินไทยกลายสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่สาม ก่อนที่จะถึง “เดดไลน์” แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ “ครั้งสุดท้าย” ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564

แต่มีการคาดการณ์ว่า กระทรวงต้นเรื่องและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใต้คำบัญชา เตรียมจะดันวาระเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต 1 วัน-ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ทว่า ครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ไม่มีเรื่องการบินไทยพิจารณาเป็นวาระลับ-วาระร้อน ทำให้แผนฟื้นฟูการบินไทย “ตกหลุมอากาศ” ทั้งผู้จัดทำแผน-เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตกเครื่อง ต้องเลื่อนการโหวตในวันถัดมา

เมื่อความหวังที่จะถือไพ่เหนือกว่าเจ้าหนี้ 15 รายที่ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ถือ “ตั๋ว ครม.” ดับวูบลง ก่อนที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต 1 วัน ผู้ทำแผนที่อ้างเสียงข้างมาก จึงเดินสาย “ล็อบบี้” เจ้าหนี้รายใหญ่-หุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้ “โหวตแผนหลัก” ผ่าน แลกกับเกมเก่ารับเงื่อนไขการตั้ง holding company

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเจ้าหนี้ 20 ราย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ลงมติให้ “เลื่อนการโหวตออกไป” เป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้เกิดช่องไฟในการเจรจาต่อรอง “เสนอตัวเอง” เข้าไปเป็น “ผู้บริหารแผน”

ท่ามกลางเกมข่าวปล่อยทุกทิศทาง ทั้งเรื่อง “คุณสมบัติ” ของผู้บริหารแผน ที่อาจมีเรื่องคดีคาอยู่ในองค์กรอิสระ

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” ออกตัวชัดเจนว่า ตราบใดที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย รัฐบาลจะไม่ก้าวก่ายผู้จัดทำแผน-เจ้าหนี้ รวมถึง “ล้ำเส้น” ศาลล้มละลาย

“ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า รัฐบาลยังไม่สนับสนุนเงินใด ๆ ทั้งสิ้น ผมจำเป็นต้องพูดอย่างนี้ ไม่งั้นวุ่นกันไปหมด จนกว่าจะมีการเดินหน้าแผนและบริหารแผน อย่าเอาตรงนี้เป็นตัวชี้ออกไป ผมคิดว่าทุกคนคงไม่อยากให้การบินไทยล้มละลายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ช่วยกันทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้อีก”

อีกไม่กี่ชั่วโมง คงได้เห็นชัดเจนว่า การบินไทยจะมีสถานภาพอย่างไร ได้บินสู่น่านฟ้าต่อไป หรือสโลแกน รักคุณเท่าฟ้า จะเป็นแค่ลมปากของนักธุรกิจการเมือง ?

ศาลล้มละลายจะเป็นผู้ชี้ขาด