1 ปี “อนุชา” เลขาธิการ พปชร. “ถ้าทำไม่ได้ ผมก็เสียใจ พร้อมรับผิดชอบ”

รายงานพิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

17 มิถุนายน 2564 ครบรอบ 1 ปี “อนุชา นาคาศัย” หลังจากสวมหมวก “แม่บ้านพรรคพลังประชารัฐ” ไล่เลี่ยกับการครบรอบ 1 ปี สวมหมวก “พ่อบ้านประจำทำเนียบ”

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาเปิดอก “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จุดประกายความคิด-โชว์วิสัยทัศน์ในฐานะแม่บ้านพรรคแกนนำรัฐบาล ในวาระเข้าสู่ปีที่ 3-ก้าวสู่ปีที่ 4

1 ปีรัฐมนตรีประจำทำเนียบ

1 ปีในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “อนุชา” ต้องกำกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค-กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ช่อง 9 อสมท-กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนา แม้จะเป็น “งานรูทีน”

แต่ “อนุชา” พยายามประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้ เพื่อแบ่งเบาภาระ “งานหลังบ้าน” ของรัฐบาล ไม่ให้ “พล.อ.ประวิตร” และ “พล.อ.ประยุทธ์” ห่วงหน้า-พะวงหลัง

ขณะที่ผลงาน “ชิ้นโบแดง” ซึ่งเป็น “งานล่อแหลม” และ “เปิดเผยไม่ได้” ในที่แจ้ง “อนุชา” ยังคง “ปิดทองหลังพระ”

“อนุชา” พ่อบ้านประจำทำเนียบ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (กตน.) กำลัง “คิดสิ่งใหม่” เพื่อให้ประชาชนมี “กำลังซื้อ” อย่างยั่งยืน

1 ปี เลขาธิการพลังประชารัฐ

“อนุชา” ขุนพลข้างกาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สานต่อปณิธาน “ประชาชนอยู่ดีกินดี” และทำการเมืองแบบใหม่-พลังประชารัฐเป็น “สถาบันทางการเมือง”

1 ปีในตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ “อนุชา” หมายมั่น “การเมืองแบบใหม่” ยึดหลักนักการเมืองต้อง “ไม่ดูถูกประชาชน” และต้องทำนโยบายให้เป็นรูปธรรม-จับต้องได้

“ผมอยากทำงานการเมืองจริง ๆ อยากทำงานให้เป็นรูปธรรม ทำงานการเมืองที่สร้างสรรค์ เป็นรูปธรรม อยากเห็นพรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันการเมือง”

“อนุชา” ตั้งปณิธานไว้ว่า ในช่วงเป็น “พ่อบ้านพลังประชารัฐ” จะทำให้พรรคมีชื่อเสียง-ทำให้พรรคอบอุ่น และเป็นพรรคที่เป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

“ถ้าผมทำไม่ได้ในสิ่งที่ผมคิด ผมก็เสียใจ และผมก็พร้อมที่จะรับผิดชอบ แต่วันข้างหน้าใครต้องว่าผมไม่ได้ ผมเดินไปตรงไหนต้องไม่มีใครเคยโดนผมทำร้าย มีแต่ผมจะคอยให้ความช่วยเหลือ”

ตลอดระยะเวลา 1 ปีของ “อนุชา” ในตำแหน่งเลขาธิการพลังประชารัฐ-งานการเมือง แม้จะมีสถานการณ์การเมืองเป็นอุปสรรค-ข้อจำกัด แต่เขายังตั้งปณิธาน ทำงานจนวันสุดท้าย ซึ่งไม่อาจมีใครหยั่งรู้ได้ว่า วันนั้นจะมาถึงเร็วหรือช้า

“ผมต้องการให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง ต้องการให้ประเทศเดินหน้า ต้องการให้รัฐบาลไปต่อได้ ด้วยนโยบาย ด้วยการทำงาน”

“ผมพยายามทุ่มเท คิดและทำงานเพื่อพรรค เพื่อทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมือง เป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องประชาชน และพรรคเป็นสถาบันการเมืองนำพาประเทศร่วมกับรัฐบาลเพื่อตอบโจทย์ประเทศได้ และทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี”

“ผมพยายามเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทางตรงนั้น ด้วยปณิธานของผม แต่อาจจะติดขัดบ้าง หรือมีข้อจำกัด ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นข้อจำกัด เพราะเราพยายามที่จะทำ แต่บางสิ่งบางอย่างเราไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ด้วยตัวของเราเองได้ทั้งหมด บางครั้งเราก็ได้แค่สะท้อนในสิ่งที่เราคิด เราหวัง”

เก้าอี้เลขาฯกลางมรสุมสารพัดก๊ก

ท่ามกลางขบวนการ “เขย่าเก้าอี้เลขาธิการพรรค” การปล่อยข่าว “ประชุมใหญ่สามัญประจำปี” พรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อ “กดดัน” พล.อ.ประวิตร ให้ “เปลี่ยนตัว” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

“อนุชา” ไม่เคยออกมาให้ข่าวให้พรรคเสื่อม-พรรคเสีย และยอมที่จะ “กลืนเลือด”

ความอลหม่านภายในพรรคพลังประชารัฐขณะนี้ถูกมองว่าเป็น “ศึกสามก๊ก” แต่เขายังมองว่า ความเป็นเหล่า-เป็นก๊ก หรือ “สารพัดก๊ก” ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป-ขอให้หยิบส่วนดีนำมาใช้ และต้อง “ไม่เข่นฆ่ากัน”

“ไม่ใช่ก๊กเยอะ ความเป็นก๊กมีอยู่ทุกที่ เพียงแต่ว่าคนที่เป็นก๊กต้องเดินเพื่อนำพาพรรคหรือไม่”

“อนุชา” ยึดคติสอนใจตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งเลขาธิการพรรค ว่าจะไม่ทำให้พรรคเสียหาย และต้องการสร้างความรักและความสามัคคีภายในพรรค

ในอนาคตเก้าอี้เลขาธิการพรรคของ “อนุชา” จะเป็นอยู่-ไป หรือปรับ-เปลี่ยนอะไร “พล.อ.ประวิตร” มอบอำนาจให้กับการตัดสินใจของ “สมาชิกพรรค” เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความแตกแยกของพรรคในอนาคต

วันนี้ “อนุชา” ยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ-รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในอนาคตไม่ว่าจะมีตำแหน่งแห่งหนภายในพรรคพลังประชารัฐ-ทำเนียบรัฐบาลอีกหรือไม่ เขาคงโฟกัสที่งาน-ไม่ยึดติด

“ผมรู้สึกผิดกับแก (พล.อ.ประวิตร-หัวหน้าพรรค) ที่บางครั้งทำการปกป้องแกไม่ได้”

คนสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่า “อนุชา” จะได้ “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” ขึ้นอยู่กับ “พล.อ.ประวิตร” แต่เพียงผู้เดียว

สร้างพรรคเป็นสถาบันการเมือง

ในฐานะที่เป็นแม่บ้านพรรค-ร่างพิมพ์เขียว วางแปลนยุทธศาสตร์ให้กับพรรคมาตั้งแต่วันแรก บัดนี้ในฐานพลังประชารัฐเป็น “พรรคแกนนำรัฐบาล” ซึ่งรัฐบาลกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ก้าวย่างปีที่ 4

“อนุชา” ตั้งใจทำพรรคพลังประชารัฐเป็นสถาบันทางการเมือง-ขับเคลื่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

มองย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2564 “อนุชา” คือ ผู้อยู่ “เบื้องหลัง”การวางยุทธศาสตร์ จุดพลุ-เปิดแคมเปญ 4 เวทีทั่วประเทศ รวมถึงนโยบายของพรรค อาทิ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายเกษตร นโยบายมารดาประชารัฐ

“อนุชา” ชูนโยบายขึ้นมาเป็น “จุดแข็ง” ของพลังประชารัฐ ไม่ “เล่นตามเกม” ของพรรคการเมือง-คู่แข่งขัน ที่พยายามผลิตวาทกรรมให้ประชาชนเลือกข้าง

“ต้องเปลี่ยนเวทีเล่น ต้องเอานโยบายขึ้นมาเป็นจุดขาย ดึงคนให้มาอยู่เวทีของเรา ต้องเปลี่ยนเกมให้เขามาอยู่เวทีเรา ไม่ใช่เราไปเล่นเวทีเขา”

สำหรับแผนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น-เลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า พรรคพลังประชารัฐอยู่ระหว่าง “ฟอร์มทีม” เพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้ง “ตัวผู้สมัคร” และ “กระแสสังคม”

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งใน กทม.-พื้นที่ที่มี “ลักษณะพิเศษ” วัดกันที่กระแสในช่วง “โค้งสุดท้าย” ระหว่างทางจึงต้องตระเตรียมพรรคเพื่อกำคะแนนนิยมในโค้งสุดท้ายให้ได้ โดยทั้งหมดทั้งมวลมี “พล.อ.ประวิตร” เป็น “หัวเรือใหญ่”

“ต้องวางตัวนิ่ง ๆ ดูพรรคการเมืองอื่นก่อนตัดสินใจ เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้คาบลูกคาบดอก รอประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจ”

รัฐบาลอยู่ครบเทอม

แม้สัญญาณ “ยุบสภา” จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นออกจากปาก “พล.อ.ประยุทธ์” ให้รัฐมนตรีทุกคน-ทุกพรรคการเมือง เร่งสร้างผลงานเพื่อส่งต่อให้รัฐบาลหน้า แต่ “อนุชา” ยังมองโลก ในแง่ดี

“ครบวาระ น่ะ ครบ แต่ด้วยความกระท่อนกระแท่น สถานการณ์โควิด-19 เมื่อคนฉีดวัคซีนครบ รูปธรรมจะเกิด เหตุการณ์จะปกติ สถานการณ์ของรัฐบาลก็จะดีขึ้น”

“อนุชา” มองข้ามชอตว่า ปัจจัยเศรษฐกิจเป็นโจทย์ท้าทายปี 2565 “สิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เกิดรูปธรรมกับสังคม ต้องทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี”

18 มิถุนายน พลังประชารัฐ ได้ข้อสรุปประชุมใหญ่ประจำปี เป็นวันชี้ชะตา “อนุชา นาคาศัย”