ประยุทธ์ ปรามม็อบ 24 มิถุนายน เสี่ยงติดเชื้อ ใช้กฏหมายฟัน

ม็อบ 14 ตุลาคม
FILE PHOTO : การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม

นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชนออกมาชุมนุม เสี่ยงติดเชื้อโควิด ขู่ใช้กฏหมายจัดการม็อบ 24 มิถุนายน นี้

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงการชุมนุมในวันที่ 24 มิถุนายนที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ก็หวังว่าประชาชนจะได้พิจารณาว่าการออกมาร่วมชุมนุมอาจจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เพราะคลัสเตอร์ต่าง ๆ ยังมีเกิดขึ้น จึงอยากให้ประชาชนพิจารณาหลีกเลี่ยงการรวมตัว ทั้งนี้หากเกิดการกระทำความผิด ผ่านการชุมนุมลักษณะต่างๆ ก็คงจะต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มที่ประกาศการชุมนุมในวันที่ 24 มิถุนายนนั้น มี 5 กลุ่ม ตามการเปิดเผยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คือ

กลุ่มที่ 1 หมู่บ้านทะลุฟ้า นำโดยนายชาติชาย ไพลิน นัดหมายรวมตัวที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินเพื่อจัดกิจกรรมลำลึก 89 ปี อภิวัฒน์สยาม 2475 นัดหมายเริ่มเวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

กลุ่มที่ 2 ประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ นัดหมายหน้าทำเนียบรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกนัดหมายเวลา 12.00 น.

กลุ่มที่ 3 เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นำโดยนายเจษฎา ศรีปลั่ง นัดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เวลา 11.00 น. เพื่อทำกิจกรรมขับไล่รัฐบาล

กลุ่มที่ 4 คนไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายจตุพร พรมพันธ์ นัดหมายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ยังไม่มีกำหนดเวลา

กลุ่มที่ 5 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ นัดหมายทำกิจกรรมต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ แต่ยังไม่กำหนดสถานที่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการชุมนุมว่า เนื่องจากขณะนี้เขต กทม.เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่หรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงไม่ให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพฯตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หากผู้ใดฝ่าฝืนรวมทั้งผู้จัดการชุมนุม ผู้ร่วมชุมนุมจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค.63 ข้อ 3 ประกอบกับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มี.ค.64

สำหรับผู้ชักชวนให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมใดๆ จะมีความผิดในส่วนของผู้สนับสนุนจะต้องรับโทษเช่นเดียวกัน ในกรณีผู้จัดเวที เครื่องเสียงอุปกรณ์ต่างๆ เป็นความผิดฐานให้การสนับสนุนจะต้องรับโทษตามกฎหมาบเช่นเดียวกัน

ขอเน้นย้ำฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่า ขณะนี้กรุงเทพฯและพื้นที่อื่นของประเทศไทยยังมีสถานการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นความเดือดร้อนของประชนเป็นลำดับแรก และการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯยังมีอัตราที่สูง ผู้ชุมนุมนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดทำให้สถานกาณ์การแพร่ระบาดลุกลามมากยิ่งขึ้น

ย้ำเตือนผู้จะมาร่วมชุมนุมให้ละเว้นการกระทำดังกล่าว อยากวิงวอนผู้ชุมนุมการมาชุมนุมหรือจัดกิจกรรมทางการเมืองช่วงนี้ขอให้เห็นแก่บ้านเมือง ท่านอาจได้ผลประโยชน์จากการชุมนุมทางการเมืองแต่ประเทศชาติบอบช้ำ ขอให้สถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปก่อนค่อยว่ากันใหม่ดีกว่า”