24 มิถุนา 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไทยมีนายกฯพลเรือน-นายพล กี่คน?

ไทยมีนายกทหารกี่คน

24 มิถุนายน เวียนมาอีกครั้งในปี 2564… แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนาน 89 ปี แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวยังคงเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เพราะเป็นวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ผ่านการขับเคลื่อนของ “คณะราษฎร” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
  3. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว
  6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

มรดกทั้ง 6 ข้อของคณะราษฎร ได้รับการสานต่อมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับปูมหลังของผู้นำประเทศแต่ละคน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อ “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 89 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ นายกรัฐมนตรีสายทหาร กับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่สายทหาร ดังนี้

1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา หรือก้อน หุตะสิงห์ เป็นนักเรียนทุนอังกฤษ หลังเรียนจบด้านกฎหมาย ได้เข้ารับราชการเป็นตุลาการ ด้วยความมือสะอาด ไม่มีเรื่องด่างพร้อย ประกอบกับเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีภริยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดพระบรมราชินี มีความเหมาะสมในฐานะคนกลางระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคณะราษฎร จึงได้รับเลือกจากคณะราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาหรือ ก้อน หุตะสิงห์ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม)

2. พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือพจน์ พหลโยธิน เป็นบุตรของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) กับคุณหญิงจับ เมื่ออายุ 16 ปี ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในเยอรมนี กระทั่ง 24 มิถุนายน 2475 เป็นหัวหน้าคณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายทหารคนแรกที่ได้เป็นนายกฯ ดำรงตำแหน่งสมัยแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2476 หลังรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

3. จอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือแปลก ขีตตะสังคะ เป็นบุตรของนายขีด กับนางสำอาง ขีดตะสังคะ เกิดที่บ้านแพ ปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเสนาธิการ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ฝรั่งเศส ปี 2462 รับราชการทหารครั้งแรก ประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2490 และเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 8 สมัย

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)

4. พันตรีควง อภัยวงศ์ เกิด ณ เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร (ขณะนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลบูรพาของไทย) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง กับคุณหญิงรอด หลังจบการศึกษาวิศวกรรมโยธาที่ฝรั่งเศส ได้กลับมารับราชการเป็นนายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข จนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสรุ่นเดียวกับปรีดี พนมยงค์ และจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และได้ร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ซึ่งร่วมการปฏิวัติสยาม 2475 นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ยังเคยมีบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก

ควง อภัยวงศ์

5. ทวี บุณยเกตุ (ดำรงตำแหน่ง 31 สิงหาคม 2488 ถึง 17 กันยายน 2488) เป็นบุตรของพระยารณชัยชาญยุทธ์ (ถนอม บุณยเกตุ) กับคุณหญิงรณชัยชาญยุทธ์ (ทับทิม) ปี 2475 เข้ารับราชการเป็นข้าราชการบำรุงพันธุ์สัตว์ชั้น 2 กรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกันนี้ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วันที่ 31 สิงหาคม 2488 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงวันที่ 17 กันยายน 2488 ได้ถวายบังคมลาออกจากตําแหน่ง โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลคณะนี้พึงปฏิบัติได้สําเร็จลุล่วงไปแล้ว

ทวี บุณยเกตุ

6. ปรีดี พนมยงค์เกิดที่อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับนางลูกจันทร์ พนมยงค์ ปี 2460 ปรีดีเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา จนสอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตในปี 2462 แต่ต้องรอถึงปี 2463 ให้อายุครบ 20 ปี ตามเกณฑ์กำหนดจึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปีเดียวกันนี้ ปรีดีได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ฝรั่งเศส

ระหว่างที่ทำการศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสนี้เอง ปรีดีได้ร่วมกับเพื่อน ๆ ประชุมก่อตั้ง “คณะราษฎร” เป็นครั้งแรกในกรุงปารีส ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคณะผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จในปี 2475

ปรีดีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย เมื่อ 24 มีนาคม 2489 เนื่องจากรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ ลาออก

ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)

7. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เกิดที่ตำบลหัวรอ อำเภอรอบกรุง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายอู๋ กับนางเงิน ธารีสวัสดิ์ หลังรับราชการอยู่ในกองทัพเรือได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และราชทินนามเป็นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ปี 2475 ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2489

พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

8. พจน์ สารสิน เกิดที่บ้านพักถนนสุรศักดิ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก เมืองพระนคร เป็นบุตรของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) กับคุณหญิงสุ่น สารสิน ถูกส่งไปเรียนที่สหรัฐ เมื่อกลับสู่ประเทศสยาม ได้ศึกษาวิชากฎหมายจนสอบได้เนติบัณฑิตไทยเมื่อปี 2472 และศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ

พจน์ สารสิน เริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการสนับสนุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 21 กันยายน 2500 หลังจากการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พจน์ สารสิน

9. จอมพลถนอม กิตติขจร เกิด ณ บ้านหนองหลวงอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นบุตรของขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณลักษณ์ (ลิ้นจี่) รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้บังคับหมวดกรมทหารราบที่ 8 กองพันที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ร่วมก่อรัฐประหารซึ่งผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 เมื่อ 1 มกราคม 2501 แต่บริหารประเทศแค่ 9 เดือนเศษก็ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อสฤษดิ์ตาย จอมพลถนอมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

จอมพลถนอม กิตติขจร

10. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดที่บ้านปากคลองตลาด ตำบลพาหุรัด จังหวัดพระนคร (กทม.) เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศสูงสุดเป็นจอมพลทหารบก จอมพลทหารอากาศ จอมพลทหารเรือ และพลตำรวจเอก และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ของประเทศไทย ระหว่าง 9 กุมภาพันธ์ 2502 – 8 ธันวาคม 2506 จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ 8 ธันวาคม 2506 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุได้ 55 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

11. สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี (ทองดี ธรรมศักดิ์) มารดาชื่อ คุณหญิงชื้น ธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา, คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการข้าราชการพลเรือนผู้ทรงคุณวุฒิ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 12 และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี หลังการถวายบังคมลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร

12. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เกิดที่ค่ายทหาร ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากทวี บุณยเกตุ เพื่อเจรจากับประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร ก่อนเดินทางกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ภาพจากหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร พิมพ์ พ.ศ. 2546

13. หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นน้องชายแท้ ๆ ของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า เมื่อ 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทยเมื่อ 2518 โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวน ส.ส.ในมือเพียง 18 คน

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น เฒ่าสารพัดพิษ, ซือแป๋ซอยสวนพลู ภายหลังได้แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ได้รับฉายาว่า “เสาหลักประชาธิปไตย”

คึกฤทธิ์ ปราโมช ภาพจากศิลปวัฒนธรรม

14. ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดที่จังหวัดพระนคร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยการนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งทรงพระราชทานคำแนะนำแก่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ให้ปรึกษาธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ณ ขณะนั้น

ธานินทร์ กรัยวิเชียร ภาพจากมติชน

15. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เกิดที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรนายแจ่มกับนางเจือ ชมะนันทน์ สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ที่ได้รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

16. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรชายของรองอำมาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางออด วินิจทัณฑกรรม ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี

พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

17. พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดที่ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กับคุณหญิงวิบุลลักสม์ ชุณหะวัณ รับราชการครั้งแรกเมื่อ 2483 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ประจำกรมเสนาธิการทหารบก

พลเอกชาติชาย มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในปี 2490 โดยเป็นหนึ่งในกำลังทหารที่บุกไปที่ทำเนียบท่าช้าง เพื่อทำการควบคุมตัวปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี  และรัฐประหารในปี 2494 ตามบิดา คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้

พลเอกชาติชาย เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 4 สิงหาคม 2531และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

พลเอกชาติชายเมื่อปี 2540 (AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL)

18. พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดที่ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเล็กของจวง กับสมพงษ์ คราประยูร เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี 2496 จนเมื่อ 2534 ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พลเอกสุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ กระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

ภาพถ่ายของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (กลาง) ในสมัยที่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 (ภาพจาก AFP PHOTO / DOMINIQUE FAGET)

19. อานันท์ ปันยารชุน เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ชาวไทยเชื้อสายมอญ กับคุณหญิงปฤกษ์ ปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) ชาวไทยเชื้อสายจีน จบปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก หลังการรัฐประหารในประเทศไทย 2534 จากการเสนอชื่อโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นกัน

อานันท์ ปันยารชุน ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์

20. ชวน หลีกภัย เกิดที่ตำบลท้ายพรุ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลทับเที่ยง) อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนิยม กับถ้วน หลีกภัย หลังเรียนจบนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มทำงานเป็นทนายความ ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

การเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 79 ที่นั่ง ชนะพรรคชาติไทยที่ได้ 77 ที่นั่ง ชวนตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคความหวังใหม่และพรรคเอกภาพ พรรคพลังธรรมเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีหลังพรรคความหวังใหม่ออกจากรัฐบาลในปี 2537 ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

ชวน หลีกภัย ภาพจาก มติชน

21. บรรหาร ศิลปอาชา บรรหารเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บิดาของบรรหาร คือ เซ่งกิม แซ่เบ๊ ส่วนมารดาของบรรหาร คือ สายเอ็ง แซ่เบ๊ เป็นเจ้าของร้านสิ่งทอชื่อ ย่งหยูฮง

บรรหารเข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ  2517 ต่อมาในปี 2537 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2538 บรรหาร ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้บรรหารได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย

บรรหาร ศิลปอาชา ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์

22. พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เกิดที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของร้อยเอก ชั้น ยงใจยุทธ และนางสุรีย์ศรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลังลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าสู่แวดวงการเมือง โดยก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต่อมาเมื่อพรรคความหวังใหม่ชนะในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2539 จึงขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี

ชวลิต ยงใจยุทธ ภาพจากมติชน

23. ทักษิณ ชินวัตร เกิดที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของเลิศ และยินดี ชินวัตร จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต่อมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต

เข้าสู่ภาคการเมือง โดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นผู้ชักชวน หลังการปลดรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรม ทักษิณได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลชวน หลีกภัย และในปีต่อมา เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทนพลตรีจำลอง

ปี 2541 ทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544

ทักษิณ ชินวัตร (Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP)

24. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดในค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของพันโทพโยม จุลานนท์ กับอัมโภช จุลานนท์ เข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 1 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เริ่มรับราชการในยศร้อยตรี ในปี 2508 จากนั้นจึงไปศึกษาต่อหลักสูตรเสนาธิการทหารบกที่สหรัฐอเมริกา และทำงานในหน่วยรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

หลังจากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อ 30 กันยายน 2546 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี จนเมื่อดำรงตำแหน่งองคมนตรีได้สักระยะจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาอุปสมบทเป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลังจากการเชิญเพื่อให้ช่วยรับภาระในการนำรัฐบาลชั่วคราวจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จึงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 1 ตุลาคม 2549 โดยมี พล.อ.สนธิ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

25. สมัคร สุนทรเวช เป็นบุตรของเสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร กับคุณหญิงบำรุงราชบริพาร หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มทำงานเป็นสื่อมวลชนสายการเมือง เริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี  2511 ลงสมัครตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ

หลังพ้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครบวาระ 4 ปี ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในปี 2549 กระทั่งปี 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกัน

สมัคร สุนทรเวช (Photo by SAEED KHAN / AFP)

26. สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกิดที่ตำบลสวนขันอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเจิม-นางดับ วงศ์สวัสดิ์ หลังสำเร็จการศึกษาแล้วสอบบรรจุเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปี 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

27. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกิดที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ บิดาชื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ มารดาชื่อ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อภิสิทธิ์เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ก่อนจะลาออกจากราชการกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

อภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากบัญญัติ บรรทัดฐาน และได้ลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยในปี 2554 แต่ก็ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ในปีเดียวกัน

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สมัคร สุนทรเวช พ้นสภาพจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2551 อภิสิทธิ์พ่ายแพ้ให้กับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กระทั่ง 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย และศาลยังตัดสินให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

โดยหลังพรรคประชาธิปัตย์มีเสียงข้างมากในสภา สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 15 ธันวาคม 2551

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

28. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2554 พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อยิ่งลักษณ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง ยิ่งลักษณ์จึงได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 5 สิงหาคม 2554 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP)

29. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของพันเอก (พิเศษ) ประพัฒน์ จันทร์โอชา และเข็มเพชร จันทร์โอชา หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร จนสำเร็จเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 อีกทั้งยังเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

พลเอกประยุทธ์ รับราชการทหารอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เริ่มจากตำแหน่งผู้บังคับการกองพัน จนถึงผู้บังคับการกรม จากนั้นจึงย้ายไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1

ปี 2553 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการ ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และอีก 2 วันต่อมา ได้ก่อรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งตัวเองเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ และเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยสรุปแล้วประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร 11 คน จากทั้งหมด 29 คน รายชื่อดังต่อไปนี้

  1. พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
  2. จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
  3. พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
  4. จอมพลถนอม กิตติขจร
  5. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
  6. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
  7. พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
  8. พลเอกสุจินดา คราประยูร
  9. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
  10. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
  11. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนที่เหลืออีก 18 คนนั้น มีทั้งข้าราชการ ตำรวจ และพลเรือน