พรรครัฐบาลรุมน้ำท่วม หาเสียง เมกะโปรเจ็กต์น้ำประยุทธ์ในมือ “ประวิตร”

รายงานพิเศษ

ภาพการลงพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรครัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล พ่วงการหาเสียงเลือกตั้ง-เตรียมพร้อมรับอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างเนียน ๆ

พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่-น้อง 3 ป. ลงพื้นที่น้ำท่วมรวมกัน 8 จังหวัด ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน

ไม่นับรัฐมนตรี-ส.ส.ขั้วตึกไทยคู่ฟ้า ได้แก่ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ส.ส.ชัยนาท-“สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม-อดีต ส.ส.สุโขทัย และ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ส.ส.ชลบุรี

ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล ตราบเท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นเบอร์ 1 ทำเนียบรัฐบาล แต่ลงทุนลุยน้ำท่วมอก-พรางตัว ฉายเดี่ยว-โกยคะแนนไม่แบ่งใคร

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคเก่าแก่ “เดินสาย” ออนทัวร์ 4 ภาค-พ่วงด้วยการ “เปิดตัว” ผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า

แผนน้ำ 20 ปี ในมือ “บิ๊กป้อม”

“พรรครัฐบาล” ดูจะมี “แต้มต่อ” ทั้งกำลังพล-กำลังบำรุง ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี-แผนปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 10 ปี

การแก้ปัญหาน้ำท่วมถูกใส่ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะที่แผนปฏิรูปประเทศ ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (big rock)

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาอุทกภัย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 10 ปี 
(พ.ศ. 2558-2569) ในมือของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ซึ่งถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

สำหรับ “คณะกรรมการระดับชาติ” คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร “นั่งหัวโต๊ะ” ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) หรือ “แผนแม่บทน้ำ 20 ปี” 6 เรื่อง

เรื่องแรก โครงการบรรเทาภัยพิบัติทางน้ำแบบบูรณาการ หรือโครงการ Quick Win ลดความเสียหายลงร้อยละ 50 เรื่องที่สอง โครงการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่วิกฤตระดับลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีนตอนล่าง ยม-น่านตอนล่าง บางปะกง ทะเลสาบสงขลา และชีมูลตอนล่าง

เรื่องที่สาม การป้องกันน้ำท่วมเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เรื่องที่สี่ การจัดทำผังน้ำในผังชุมชน ผังเมือง ผังระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะเมืองหลักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น หาดใหญ่ เรื่องที่ห้า การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลำน้ำสาขาและสายหลัก และ เรื่องที่หก การปรับตัวและเผชิญเหตุ

สร้างอุโมงค์-ขุดคลองยุค “บิ๊กตู่”

โดย กนช. ในยุคที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ “นั่งหัวโต๊ะ” และ “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี “เพื่อนคู่ใจ” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญมีมติเห็นชอบหลายแผนงาน-หลายโครงการ

มติ กนช.ครั้งที่ 1/2561 เห็นชอบแผนเพิ่มเติมปี 2561 แผนงานเร่งด่วนและแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 216 โครงการ 4,212 ล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ

มติ กนช.ครั้งที่ 2/2561 กำหนดพื้นที่เป้าหมายแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบ 66 พื้นที่ มีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพปี 2562-2565 จำนวน 30 โครงการ โดยมีโครงการสำคัญปี 2562 จำนวน 13 โครงการ

มติ กนช.ครั้งที่ 3/2561 เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา วงเงิน 2,274 ล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ วงเงิน 1,751 ล้านบาท

กรมชลประทาน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการคลองระบายน้ำ บางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วงเงิน 21,000 ล้านบาท

โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วงเงิน 2,100 ล้านบาท และโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จังหวัดสกลนคร วงเงิน 1,249 ล้านบาท โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จังหวัดชัยภูมิ วงเงิน 3,100 ล้านบาท

มติ กนช.ครั้งที่ 4/2561 เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ กทม. 1 โครงการ คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร วงเงิน 9,800 ล้านบาท กรมชลประทาน 1 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน สุโขทัย วงเงิน 2,875 ล้านบาท

เห็นชอบการขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นพื้นที่เป้าหมาย 66 พื้นที่ และพื้นที่ที่มีความสำคัญ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่น้ำแล้ง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจ

โดยมีแผนงานโครงการที่มีศักยภาพเริ่มดำเนินการได้ ภายในปี 2563-2565 จำนวน 408 โครงการ วงเงิน 831,701 ล้านบาท และแผนงานโครงการที่มีความพร้อม ประกอบด้วย

ปี 2563 จำนวน 66 แห่ง วงเงิน 39,904 ล้านบาท ปี’64 จำนวน 97 แห่ง วงเงิน 281,167 ล้านบาท ปี’65 เป็นต้นไป จำนวน 245 แห่ง วงเงิน 510,630 ล้านบาท

มติ กนช.ครั้งที่ 1/2562 เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากถนนเทศบาลสงเคราะห์ถึงสุดเขต กทม. ระยะทางยาว 26.16 กิโลเมตร วงเงิน 3,443 ล้านบาท

โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (ลุ่มน้ำคลองชุมพร) ระยะที่ 2 วงเงิน 1,717 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบึงราชนก พิษณุโลก วงเงิน 1,456 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ วงเงิน 1,513 ล้านบาท

ในยุคที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร “นั่งหัวโต๊ะ” มติ กนช.ครั้งที่ 2/2562 เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

โครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2561 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพิ่มเติม วงเงิน 11,026 ล้านบาท โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วงเงิน 6,130 ล้านบาท และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เพชรบุรี

เห็นชอบปรับปรุงเพิ่มเติมแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2563 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน 57,975 โครงการ วงเงิน 311,429 ล้านบาท

มติ กนช.ครั้งที่ 3/2562 เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 โดยเป็นแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ปี 2563-2580 จำนวน 25 โครงการ วงเงิน 43,141 ล้านบาท โครงการพัฒนาหนองหาร สกลนคร วงเงิน 7,445 ล้านบาท

เห็นชอบแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญเพิ่มเติม จำนวน 11 โครงการ 5 ประเภท ได้แก่ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำหลัก 1 โครงการ คือ โครงการผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี

บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำนอง 3 โครงการ การบรรเทาอุทกภัยเมืองสำคัญ 3 โครงการ จัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่เศรษฐกิจและท่องเที่ยว 1 โครงการ

มติ กนช.ครั้งที่ 1/2563 เห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ฉะเชิงเทรา วงเงิน 1,880 ล้านบาท

มติ กนช.ครั้งที่ 3/2563 เห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ ระยอง วงเงิน 3,551 ล้านบาท โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง เชียงราย วงเงิน 1,325 ล้านบาท

โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า นครราชสีมา วงเงิน 1,046 ล้านบาท

แผนแก้น้ำท่วมพัทยา

มติ กนช.ครั้งที่ 4/2563 เห็นชอบแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง วงเงิน 26,000 ล้านบาท แผนการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน วงเงิน 329,151 ล้านบาท

มติ กนช.(นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เนื่องจากมีแผนงาน-โครงการที่ยังไม่ผ่าน กนช.เห็นชอบ ทั้งนี้ กนช.เห็นชอบโครงการของ กทม. 4 โครงการ (เริ่มก่อสร้างปี’65) ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อน คลองบางไผ่จากคลองพระยาราชมนตรีถึงสุดเขต กทม. วงเงิน 1,028 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองแสนแสบจากประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองบางนา จากคลองเคล็ดถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 1,981 ล้านบาท โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาฯถึงคลองลาดพร้าว วงเงิน 1,759 ล้านบาท

มติ กนช.ครั้งที่ 1/2564 เห็นชอบ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน มติ กนช.ครั้งที่ 3/2564 เห็นชอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ฉะเชิงเทรา วงเงิน 4,690 ล้านบาท

พี่-น้อง 3 ป.-พรรครัฐบาล+ส.ส.ในพื้นที่ ขี่กระแส-พกกระสุน ลงพื้นที่สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 1 จังหวัด เตรียมพร้อมทุกเวลาเมื่อนกหวีดเลือกตั้งดังขึ้น