ส.นิสิตเก่าจุฬา เลื่อนจัดงานบอลฯ ครั้งที่ 75 ย้ำยังมีพิธีเชิญพระเกี้ยว

สมาคมนิสิตเก่าจุฬา เลื่อนจัดงานบอลฯ 75 แต่ต่อไปจะมีเชิญพระเกี้ยว
FILE PHOTO : CHULALONGKORN UNIVERSITY

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกประกาศเลื่อนจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 75 แต่ครั้งต่อ ๆ ไปจะให้มีการเชิญพระเกี้ยว

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศเรื่อง แนวทางการจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ระบุว่า สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ได้ร่วมกันสืบสานงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สืบเนื่องเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ และหลอมรวมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนิสิตเก่า ศิษย์เก่า และนิสิต นักศึกษา ทั้งสองสถาบัน และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับสังคมไทย

โดยทั้งสองมหาวิทยาลัย มีส่วนร่วมในการจัดงานโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี และได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในฝ่ายเชียร์ พาเหรด และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้จักการทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคม

ทั้งยังได้ซึมซับขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของทั้งสองสถาบัน โดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และสมาคมธรรมศาสตร์ฯ เป็นผู้สนับสนุน ในการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 นี้

สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ในฐานะเจ้าภาพได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2564 แจ้งขอเลื่อนกำหนดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯ ออกไปก่อน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ก็เห็นพ้องด้วยเพื่อร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ทั้งนี้ การจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ในครั้งต่อ ๆ ไป สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ยังคงสืบสานให้มี การอัญเชิญพระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และความภาคภูมิใจในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเหล่านิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันทั้งมวล

ชัยวุฒิ ชี้พระเกี้ยวคือความภูมิใจ

วันที่ 24 ตุลาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดต่อการยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ใจความว่า พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวนิสิตจุฬาฯ

อันมาจากชื่อของมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย

การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”

อีกทั้งยังกล่าวว่า ตนในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 มีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี พร้อมขอให้รุ่นน้องนิสิตจุฬาฯ คิดถึงคุณค่าของพระเกี้ยวและเกียรติภูมิที่ชาวจุฬาลงกรณ์ยึดถือไว้ตลอดมา