พลังประชารัฐ ชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม.เพิ่ม “จักรพันธ์” รุกเพื่อไทย-ก้าวไกล

สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องประเมินกันถึง “โค้งสุดท้าย” หยั่งกระแสการเมืองภาพใหญ่-จับกระแสคน กทม. จนถึง “ช่วงทดเวลา”

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ (พปชร.) ควบคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์-เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ โกยแต้ม คนชั้นกลางระดับบน เข้าป้ายเกียกกาย 12 ชีวิต เป็นพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ ส.ส.กทม.มากที่สุด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “จักรพันธ์ พรนิมิตร” ส.ส.กทม. เขต 30 ที่สวมหมวก “หัวหน้าภาค กทม.” ประเมินปัจจัยในการรักษาแชมป์-กวาดเก้าอี้เพิ่มในการเลือกตั้งสนาม กทม. ในอีก 18 เดือนข้างหน้า

รักษาแชมป์-เก้าอี้เพิ่ม

เสียงคำรามของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการมอบนโยบาย 12 ส.ส.กทม. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.กทม.เพิ่ม จาก 12 ที่นั่ง เป็น 24 ที่นั่ง

ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วกระดานการเมือง กทม. ทั้งภายนอกพรรค-ภายในพรรค

“จักรพันธ์” ระบุถึงปัจจัยกวาดเก้าอี้เพิ่ม-รักษาแชมป์ไว้ว่า 1.พรรคการเมืองที่สังกัด 2.นโยบาย และ 3.ชื่อผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่เพิ่มเข้าไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ การใกล้ชิดพื้นที่-การทำงานต่อเนื่อง และความสดใหม่-ความเป็นคนรุ่นใหม่ยังมีอยู่

หลักคิดของหัวหน้าพรรค คือ พยายามขอความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนชาว กทม.ให้ได้ ส.ส.กทม.ในสัดส่วนมากที่สุด เพื่อรักษาแชมป์ไว้ให้ได้ ส่วนจำนวนเก้าอี้ เป็นกิมมิก (ลูกเล่น) มากกว่า ยังไม่ได้ตั้งเป้าถึงขนาดนั้น

ยกตัวอย่าง เช่น เขตเลือกตั้งฝั่งธนฯ ปัจจุบันมี 9 เขต กฎหมายเลือกตั้งใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น 1-2 ที่นั่ง ซึ่งผู้สมัคร ส.ส.ฝั่งธนฯ 8 เขตที่แพ้ แพ้ไม่มาก คะแนนห่างไม่มาก บางเขตแพ้ร้อยกว่าคะแนนเท่านั้น

เป็นคนรุ่นใหม่ที่พลาดโอกาสไปไม่มาก คนที่ยังทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น และมีโอกาสได้แสดงฝีมือด้านต่าง ๆ ในรัฐบาล จึงมีผู้สมัครที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น

“ฝั่งธนฯต่างจากในเมือง ยังมีความเป็นชุมชน เกี่ยวพันกันแบบเครือญาติ การเป็นคนพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ ต่างจากการเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ประชาชนเลือกจากกระแสนิยมของนายกรัฐมนตรี และนโยบายของพรรค”

รุกพื้นที่ก้าวไกล-เพื่อไทย

พื้นที่ฝั่งธนฯจัดได้ว่าเป็น “ฐานที่มั่น” ของพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่เดิม) กลยุทธ์ในการบุกเพิ่ม-ตีป้อมค่าย “พื้นที่ส้ม” เขาจึงเน้นการ “เกาะติดพื้นที่” ฝั่งธนฯ ประชาชนยังต้องการคนเข้าถึงพื้นที่ นอกจากกระแสและนโยบายพรรค

8 เขตฝั่งธนฯ แม้พรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบ-เทคะแนนมาให้พรรคอนาคตใหม่เดิม สะท้อนถึงการแพ้-ชนะ เพราะแนวความคิดทางการเมือง ทว่าเขาคิดตรงข้าม-ไม่คิดว่าต้องปิดจุดอ่อน

“ผมคิดตรงข้ามนะ ฝั่งธนฯยังเป็นพื้นที่ต้องทำงาน อยากเห็นผู้แทนใกล้ชิดกับชาวบ้าน อาจจะเป็นว่า พรรคอนาคตใหม่ชนะเยอะ ไม่ใช่กระแสอย่างเดียว ถ้าผู้สมัครของเรามีเวลาทำพื้นที่มากกว่านี้ ผมเชื่อว่าจะชนะใจคนฝั่งธนฯได้”

นอกจากฝั่งธนฯที่พลังประชารัฐจะเข้าไป “ปักธง” แล้ว “พื้นที่สีแดง” ของพรรคเพื่อไทย อย่างสายไหม-ดอนเมือง จะเข้าไปบุก-ตีป้อมค่ายด้วย

“ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่เข้มแข็งของพรรคการเมืองหนึ่ง ผมคิดว่า เราก็มีว่าที่ผู้สมัครสู้ได้ เป็นคนรุ่นใหม่ คนมีประสบการณ์ในพื้นที่ คละเคล้ากันไป ขณะเดียวกัน นโยบายและผู้ที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าต้องโดนใจคนทั้งประเทศ โดยใจคนกรุงเทพฯ เป็นการเฉพาะด้วย”

“กทม.มีแพลตฟอร์มแบบเดียวกัน คือ นโยบาย ความเข้มแข็งของพรรค และสุดท้าย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ชื่อผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมาบวกเรื่องปัจจัยส่วนตัว”

“อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามีบัตร 2 ใบ แยกกันระหว่าง คนที่รัก พรรคที่ชอบ ปัจจัยของตัวผู้สมัครเริ่มมีผล ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผู้สมัครเด่นมาก แต่อยู่พรรคผิด”

“จักรพันธ์” วิเคราะห์กติกาบัตร 2 ใบว่ามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย คือ 1.เขตใดผู้แทนทำงานต่อเนื่อง-ผู้สมัครเข้มแข็ง เลือกคน แต่พรรคขอดูอีกที ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถูกใจหรือไม่-นโยบายดีหรือไม่

“เป็นการบ้านของทุกพรรค กทม.เป็นพื้นที่พิเศษ ตัวผู้สมัครมีความสำคัญน้อยที่สุด ไม่เหมือนกับต่างจังหวัด ย้ายพรรคคนก็ตามไปเลือก แต่จะเพิ่มขึ้นกว่าปี’62 เพราะถูกผูกไว้ในบัตรใบเดียว ถ้าให้เป็นคะแนนตัวบุคคลต่ำที่สุด”

ถอดรหัส “กระแสลุงตู่”

“ส.ส.กทม.เขต 30 พปชร.” ถอดบทเรียนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพลังประชารัฐกวาดเก้าอี้ ส.ส.กทม. มากที่สุด 12 ที่นั่ง ปั้น “ส.ส.หน้าใหม่-ส.ส.สมัยแรก” ประดับวงการนิติบัญญัติ

นักการเมืองรุ่นเก๋า-รุ่นใหญ่ วิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง-พลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งสมรภูมิ กทม.ได้ เพราะ “กระแส พล.อ.ประยุทธ์” แซง “กระแสธนาธรฟีเวอร์” ทิ้งห่างเพื่อไทย-โค่นประชาธิปัตย์สาบสูญ

“จักรพันธ์” ยืนยันว่า “กระแส พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “จุดเด่น” ของพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายพรรค

“กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน ทุกอย่างรวมอยู่ในตัว ภาวะผู้นำ การแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทุกอารมณ์ความรู้สึกอยู่ในตัว พล.อ.ประยุทธ์ การแสดงเจตจำนงว่า เลือกเบอร์นี้เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี”

“จักรพันธ์” ไม่เชื่อว่า การผูกเก้าอี้ ส.ส.กทม.ไว้กับตัวบุคคล-พล.อ.ประยุทธ์ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง-พรรคสำรองอุบัติขึ้นจะสุ่มเสี่ยงสอบตก

“เราคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ท่านนายกฯจะทิ้งพวกเรา หรือไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะทิ้งนายกฯ ต้องไปด้วยกัน ถ้าใครคนใดคนหนึ่งทิ้งกันและกันก็ตอบประชาชนยาก ถึงนายกฯจะไม่ใช่สมาชิกพรรค แต่ก็ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะได้ดอกไม้หรือก้อนอิฐ”

“นโยบายพรรคผูกโยงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯด้วย ถ้าเรานำเสนอผู้ว่าฯ กทม.ที่เราจะสนับสนุน ไม่ว่าจะลงในนามพรรค หรือนามอิสระ เราอาจจะเห็นด้วยกับแนวทางคนนั้น หรือเรามี ส.ก.ที่เป็นสมาชิกพลังประชารัฐไปสนับสนุน คนกรุงเทพฯก็จะส่งสัญญาณตั้งแต่ตอนนั้น”

ประวิตรชี้ขาดส่งผู้ว่าฯ กทม.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การ “ปักธง” สนามเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” คนที่ 13 ของพรรคพลังประชารัฐ จะเป็น “บันไดขั้นแรก” ในการก้าวไปสู่การชนะสนามเลือกตั้งใหญ่-กวาดเก้าอี้ ส.ส.กทม.แบบแลนด์สไลด์

“หัวหน้าภาค กทม.” เฉลยสาเหตุการไม่เปิดชื่อผู้ว่าฯ กทม.ที่พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนว่า 1.ยังไม่รู้ว่าเลือกผู้ว่าฯ กทม.เมื่อไหร่ 2.การยื่นขอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

“สนามผู้ว่าฯ กทม.เป็นสนามพิเศษ ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเปิดชื่อ การแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้พรรคมีความอิสระมากขึ้นในการสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง”

คำถามที่ต้องการคำตอบจากพลังประชารัฐว่า ใคร ? คือ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในใจ พล.อ.ประวิตร-พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุน

ขณะนี้มีอยู่ 2 ชื่อที่มาแรง-ชื่อแรก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งเข้าประกวด กับชื่อที่ 2 “ผู้ว่าฯหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.ปทุมธานี

“จักรพันธ์” บอกว่า คนที่จะชี้ขาด (ชื่อ) ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ที่พรรคพลังประชารัฐจะสนับสนุนในภายภาคหน้า พล.อ.ประวิตรต้องเป็นคนเคาะ

“ถ้าพรรคตัดสินใจส่งผู้ว่าฯ กทม.ที่เป็นสมาชิกของพรรค ในนามพรรค ต้องผ่านกระบวนการของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ถ้าในนามอิสระ ยังไม่ตกผลึกแต่ก็เตรียมเป็นทางเลือกไว้”

“ชี้ขาดไม่ได้ ถ้าไม่ลงในนามพรรค คนไหนดีค่อยไปคุยกัน ไม่จำเป็นต้องมีคนชี้ เพราะแนวทางการทำงานของ กทม. ท่านหัวหน้าพรรคมอบนโยบายไว้ว่า ให้เห็นพ้องด้วยกันและนำเสนอหัวหน้าเคาะ”

ไม่ว่า “ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด” พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย-พี่รอง 3 ป. อยู่ตรงไหนในสมการหรือไม่

“ผมไม่เห็นว่าท่านอนุพงษ์จะเกี่ยวข้องอะไร ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เป็น รมว.มหาดไทยที่ต้องดูการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่ใช่คนจัดแบบ กกต. แต่กลไกมหาดไทยเป็นหลักในการดูแล โดยท่าทีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับต้องวางตัวเป็นกลาง เรื่องพวกนี้คงไม่มียุ่ง”

“ที่ชัดเจน คือ ส.ก.เป็นสมาชิกพรรคและทำงานร่วมกันในพื้นที่ของ ส.ส.อยู่แล้ว ถ้าตัดสินใจส่งในนามพรรคบวกผู้ว่าฯ กทม. ก็ไปในนามพรรคไม่มีปัญหา พร้อม ทำงานทุกวันในพื้นที่”

การเลือกตั้ง ส.ส.กทม.-ส.ก.และ ส.ข.-ผู้ว่าฯ กทม. เป็นบันได 3 ขั้น ของ 3 ป. ในการชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด-ไร้รอยต่อ