“เสรี” ชี้ศาลฎีกาเลือก กกต.เปิดเผยแล้ว เหตุไม่เข้าคูหา-รอบข้างเห็น ใครก้าวล่วงส่อขัดรธน.

“เสรี” ชี้ศาลฎีกาเลือก กกต.ถูกต้องตามกฎหมาย ระบุวิธีการลงคะแนนเปิดเผยแล้ว อ้างบัตรเลือกตั้งไม่มีเลขกำกับบัตร-ไม่รู้ใครลงคะแนนให้ เพื่อความอิสระ เตือน สนช.ห้ามแย้งผลวินิจฉัยศาล

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ในฐานะอดีตกมธ.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงปัญหาการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 2 คน ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่า “ช่วงนี้ มีการทักท้วงว่าการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ได้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 12 วรรคสาม ที่บัญญัติว่าในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย โดยมีการทักท้วงว่า การลงคะแนนโดยที่ประชุมใหญ่เป็นการใช้วิธีการลงคะแนนที่ไม่เปิดเผย อันเป็นการขัดกับมาตรา 12 วรรคสามดังกล่าว ซึ่งเท่ากับโต้แย้งว่าการคัดเลือกบุคคลทั้งสองคนที่คัดเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

นายเสรีระบุว่า ตามกฎหมาย กกต. มาตรา 12 วรรคสามดังกล่าว ได้กำหนดการคัดเลือกให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เปิดเผยตัวตนผู้ลงคะแนนไม่ได้เข้าคูหา และแต่ละคนที่ลงคะแนน คนรอบข้างก็เห็นว่าใครลงคะแนนให้ใคร เท่ากับเป็นการเปิดเผย ส่วนกรณีที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกามีมติเห็นสมควรใช้บัตรเลือกตั้งโดยไม่มีหมายเลขกำกับบัตร และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้แก่ใคร ก็เพื่อให้ผู้ลงคะแนนมีอิสระในการตัดสินใจเลือก ดังนั้น การกำหนดวิธีการลงคะแนนไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้น ถือได้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้มีมติในเรื่องของวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยแล้ว

นายเสรีระบุต่อไปว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงคะแนนคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.จำนวน 2 คน ถือเป็นอันยุติ ไม่ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่วุฒิสภา กกต. หรือแม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงหรือไปก้าวล่วงอำนาจในการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ เพราะเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัย ตัดสิน หรือมีมติในเรื่องใดแล้ว หากมีองค์กรอื่นมาวินิจฉัยหรือมาเปลี่ยนแปลงผลชี้ขาดหรือผลของการคัดเลือกที่เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ก็จะเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 อันก่อให้เกิดวิกฤติในทางรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศ และหากศาลฎีกาตัดสินแล้วยังไม่ยอมรับกัน บ้านเมืองจะไม่สงบเรียบร้อยและกระบวนการยุติธรรมจะเป็นปัญหา หาก สนช. จะไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ต้องเป็นเรื่องอื่นในเรื่องของคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือในเรื่องของความเหมาะสมของผู้ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว ตาม มาตรา 12 วรรคแปด แต่ไม่ใช่เรื่องที่ สนช. กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ว่าองค์กรใด ไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงมติหรือก้าวล่วงอำนาจของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์