ครม.ไฟเขียวดีอีเอส จับมือกัมพูชาตั้งคณะกรรมการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

call center คอลเซ็นเตอร์
FILE PHOTO : Gundula Vogel จาก Pixabay

ดีอีเอส-กัมพูชาไฟเขียวร่างดีอีเอส จับมือกัมพูชาตั้งคณะกรรมการร่วมปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เตือนทุกคนต้องระวังเบอร์แปลกไม่ต้องไปรับ อย่าเชื่อการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำผิดไม่ต้องกลัว

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมมือกับประเทศกัมพูชา ร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก

เราจะมีการดำเนินการจากทั้งในและนอกประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกัน ขณะนี้กัมพูชาเริ่มไปแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล จับกุม ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้การปราบปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็น่าจะทำให้การก่อเหตุน้อยลงได้

“ทุกคนต้องระมัดระวัง โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยไม่จำเป็นก็อย่าไปรับเขา จะถูกแอบอ้าง ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันตรงนี้ไว้ก่อนก็จะดีกว่า ใครจะเคยโทรศัพท์กับใครก็เมมเบอร์ไว้ ถ้าไม่เมมเบอร์ไว้ก็ไม่ต้องไปตอบ ไม่ต้องไปรับ และอย่าไปเชื่อการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ในเมื่อเราไม่มีความผิดก็ไม่ต้องไปกลัวเขา จะไปจ่ายเงินเขาทำไม ก็แจ้งความไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ก.ค. 2565 ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam

Advertisment

เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในของทั้ง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับปราบปรามผู้กระทำผิด ตลอดจนการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งไทยและกัมพูชา เพื่อผลักดันมาตรการต่าง ๆ ร่วมกัน เน้นย้ำนโยบายที่รัฐบาลถือว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วน เนื่องจากมีประชาชนชาวไทยได้รับผลกระทบและเสียหายจากการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

น.ส.ไตรศุลี  กล่าวว่า สาระสำคัญของความตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา จะมีกิจกรรมที่ผ่านการตัดสินใจร่วมกัน ดังนี้

    1. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam ภายใต้ระบบและกรอบการทำงานที่ดำเนินงานร่วมกัน อาทิ กลไกสนับสนุนที่ส่งเสริมการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน
    2. แต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสืบหาหลักฐานในไทยและกัมพูชา และขยายการสืบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดโดยหลักฐานดังกล่าวอาจจะรวมถึงข้อมูลที่อยู่ผู้ใช้บริการการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต และบันทึกการใช้โทรศัพท์ของผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำระหว่างก่ออาชญากรรมทั้ง 2 ประเทศ
    3. ประสานงานและอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการส่งผู้รายข้ามแดน รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้ง  2 ฝ่าย
    4. ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา
    5. ความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจที่ทำร่วมกันนี้จะมีผลบังคับเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม และอาจขยายระยะเวลาบังคับได้อีก 3 ปี ด้วยการจัดทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการลงนามจะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่กัมพูชา ในโอกาสที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อติดตามประเด็นการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam