มีชัย : วาดภูมิทัศน์อำนาจใหม่ เฟ้นนายกนอกสภา-หานักการเมือง “หน้าสด”

สัมภาษณ์พิเศษ

 

ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง และโครงสร้างอำนาจพลิกผันไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โลกหลังเลือกตั้งไกลเกินจินตนาการ อุบัติเหตุการเมืองยังยากที่จะคาดการณ์

วันเลือกตั้งที่พอคะเนได้คือ “ไม่ใช่ปี 2561”

หน้าตาว่าที่ “นายกรัฐมนตรี” คนถัดไปมีแนวโน้ม “นอกสภา-นอกบัญชี”

“มีชัย ฤชุพันธุ์” วาดโรดแมป ที่มา-ที่ไป ภูมิทัศน์การเมืองไทยและเค้าโครงสร้างอำนาจใหม่ สไตล์ “พญาครุฑ” ด้านกฎหมายประเทศไทย

Q : ปีนี้จะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้งอะไรคือเหตุผลที่ไม่มี

ตามโรดแมปกำหนดไว้ที่ 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมาย 4 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังไม่รู้ว่าจะออกมาใช้บังคับเมื่อไหร่

ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ออกมาก็ยังตอบไม่ได้ แต่โดยประมาณน่าจะอยู่ในปลายปี 2561 หรืออย่างช้าเลื่อนไปอีกเดือน สองเดือน เป็นอย่างมาก

Q : น่าจะไตรมาสแรกของปี 2562

น่าจะอยู่ในราว ๆ นั้น อยู่ที่กฎหมายสองฉบับเท่านั้น ไม่น่ามีเงื่อนไขอื่น

Q : อุบัติเหตุคู่ขนานที่จะเกิดขึ้น

ไม่น่าจะมีอะไรที่ทำได้ รัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าภายใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายสองฉบับใช้บังคับ

Q : อุปสรรคเลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้น

ที่เราคาดหวัง เราทำไว้คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มันเกิดเหตุไม่คาดฝันเพราะการบังคับใช้กฎหมาย กับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดกวดขัน ดังนั้น ตัว กกต.เราเขียนไว้ค่อนข้างเข้มงวดให้เขาทำ แต่ กกต.เองไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ถ้าหน่วยที่ใช้บังคับใช้กฎหมายปกติไม่ปรับเปลี่ยน กกต.ก็จะเหมือนกับมือไม้ไม่สมบูรณ์

Q : ที่ต้องปรับเปลี่ยนคือตำรวจ ข้าราชการ

ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนก็จะทำให้ กกต.มีพลังน้อยลง แต่หากหน่วยเลือกตั้งตรงไหนมีปัญหา จะมีกลไกแก้ไข ถ้าจำเป็นจะต้องหยุดก็หยุด เราให้อำนาจไว้

Q : ทำไมคนยังไม่เชื่อมั่นว่ากฎหมายลูก 2 ฉบับ ผ่านได้โดยสะดวก

ไม่รู้…ไม่รู้ คนที่เขากังวลก็ไม่ได้มาเล่าให้เราฟังว่าด้วยเหตุผลอะไร

Q : ก่อนถึงเลือกตั้งจะมีมาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาในรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

มาตรา 44 มันเกิดเหตุซึ่งจะโทษใครไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยนอกเหนือจากที่คำนวณกันไว้ เมื่อฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถเปิดล็อกได้เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเดือดร้อนก็ต้องแก้ตรงนั้น คสช.ไม่ได้แก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

Q : พรรคการเมืองรู้สึกว่าทำให้เสียโอกาสนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่เสียโอกาส คำสั่งตัวนั้นขยายเวลาเพียงพอให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้

Q : สัมผัสได้หรือไม่ว่านักการเมืองประเมินว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้เอื้อให้เข้าสู่ระบบสะดวก

คงจะจริงในส่วนของคนไม่ดี เพราะ กรธ.กำหนดคุณสมบัติไว้เข้มงวด ก็จะสกัดคนเหล่านั้นออกไป

Q : ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ความยากที่สุดฉบับนี้อยู่ที่ตรงไหน

อยู่ตรงที่จะโน้มน้าวใจคนให้เห็นดีเห็นงามกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงพบว่าประชาชนเข้าใจง่ายกว่านักการเมือง เพราะนักการเมืองหลายคนยังติดยึดอยู่กับระบบเก่า พูดว่าบ้านเมืองต้องปฏิรูป แต่ครั้นพอปฏิรูปก็จะบอกว่าอย่างนี้ไม่เคยทำ ต่อต้านเสียจนไม่ดูรายละเอียด

Q : พรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย จริง ๆ แล้วได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแน่

ความได้เปรียบต้องมี เพราะมีความเป็นปึกแผ่น มีความคุ้นเคยกับวิธีการเก่า ๆ แต่ถ้าปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนได้ ก็ยิ่งได้เปรียบ

Q : นักวิชาการประเมินว่าพรรคใหญ่ไม่ได้เปรียบ พรรคเล็กไม่ได้อะไร แต่พรรคที่จะได้คือพรรคทหาร

เพราะคิดบนฐานของการเลือกตั้งเก่า และความคิดแบบเดิมของคน แต่ปัจจุบันเขาเริ่มแยกแยะ ไปสังเกตดูในโซเชียลมีเดีย เขามีเหตุผลของเขา ถ้านักการเมืองหรือนักวิชาการยังไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง คุณคาดการณ์อย่างไรก็ผิด เพราะฐานคุณผิดแล้ว

Q : ที่กำหนดให้พรรคการเมืองแสดงชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ ของพรรคก่อนเลือกตั้งประเมินว่าหน้าตานายกฯ แบบไหน

ไม่ได้ประเมินหน้าตาแบบไหน วัตถุประสงค์คือ เมื่อเวลาเลือกตั้ง พรรคการเมืองหวังว่าตัวจะเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล และต้องคิดถึงคนที่จะมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทำไมไม่บอกให้ประชาชนรู้ตั้งแต่ทีแรกว่าใคร ประชาชนจะได้เอาไปประกอบการพิจารณา แต่เมื่อเป็นของใหม่บังคับใช้ตูมตาม อาจเป็นอันตรายได้ กรธ.จึงเปิดช่องให้ไม่ต้องบอกก็ได้

Q : หมายความว่าหากพรรคใดพรรคหนึ่ง

กำว่าที่นายกฯนิรนามไว้ก็หาเสียงไป ได้นายกฯเป็นคนที่รู้ว่าใครก็ได้ก็ได้ กรธ.ไม่ได้บังคับว่าพรรคทุกพรรคต้องบอกชื่อนายกฯ

Q : ค่อนข้างเปิดทางให้นายกฯคนนอกไว้อย่างกว้างขวางหรือไม่

ผมก็ไม่คิดว่า.. ทำไมเราต้องจำกัด ทำไมไม่เลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นนายกฯล่ะ ทำไมเราต้องจำกัด

Q : คำว่านายกฯนอกบัญชีมีความหมาย

ก็…พรรคที่ไม่ได้บอกเลยว่าจะเลือกใคร แรงจูงใจที่จะให้ประชาชนเลือกคนของพรรคนั้นก็น้อยลงไป สู้พรรคที่ประกาศชื่อนายกฯ ตูมตามไม่ได้ ไม่ใช่พรรคที่ไม่ประกาศเลยจะได้เปรียบ

Q : เห็นเลือกตั้งหลังรัฐประหารหลายครั้ง ประเมินพรรคทหารใหม่อย่างไร

ผม…ไม่เคยคิดว่าจะมีพรรคทหาร เพราะบทเรียนเก่า ๆ มันบอก ที่ผมฝัน ฝันอยากเห็นใครก็ได้ที่มีกำลังความสามารถ ตั้งพรรคใหม่ที่ใช้คนใหม่หมดเลย คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง แล้วเอาไปทดสอบกับประชาชน ระหว่างนักการเมืองเก่า กับคนใหม่ที่อาสามาทำงาน

Q : รู้สึกมีความหวังกับสิ่งนั้น

ผมหวังอย่างนั้น เพราะเราพูดมาเยอะแล้วว่านักการเมืองเก่าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่มีใครตั้งพรรคใหม่เพื่อเอาคนใหม่ อย่างหนุ่ม ๆ สาว ๆ อาศัยอุดมการณ์ นโยบายที่ชัดเจนแน่นอน ประชาชนอาจจะเลือกนะ

Q : สิ่งที่หวังและสมหวังที่สุดคือมีพรรคใหม่ขึ้นมาและมีองค์ประกอบอย่างนี้

ใช่…จะได้เป็นทางเลือก มิเช่นนั้นเราก็บ่นอยู่เรื่อยว่า..หน้าเก่ามาอีกแล้ว แล้วเราก็จำใจเลือก

Q : นักการเมืองเก่ายังบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรค แล้วคนใหม่ ๆ จะกล้าลงเล่นหรือ

ก็เขียนไว้เพื่อให้คนใหม่ ๆ ลง คนใหม่ ๆ ก็จะยังไม่มีแผล ไม่ต้องใช้ทุนเยอะ ยังมีอุดมการณ์ ไม่ต้องกอบโกย ความเข้มงวดในรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบต่อเขา แต่จะมีผลกระทบต่อคนที่ใช้วิธีการเก่า ๆ เมื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง

Q : พรรคทหารไม่เวิร์กแล้ว ควรจะเป็นพรรคทหารสไตล์ใหม่ขึ้นมา

ไม่รู้นะ ในฐานะผู้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง (หัวเราะ)

Q : ถ้าคนใหม่ ๆ เช่น อดีตทหารที่รู้สึกว่าเขาได้รับความนิยม ก็เป็นความหวังที่จะมาตั้งพรรคใหม่

ก็ถ้าเขา…(นิ่งคิด) ยังอยากจะเข้ามา จะไปห้ามอะไรเขาได้ แต่ละคนก็มีเหตุผลของเขา

Q : ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนต่อไป

ก็ต้องดูว่าท่านพร้อมที่จะเหนื่อยต่อไปหรือเปล่า ท่าทางก็เหนื่อยอยู่

Q : พรรคแบบใหม่ ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกยอมรับหรือไม่

การยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นเรื่องของประชาชน เราไปคะเน ล่วงหน้าไม่ได้

Q : พูดว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากเล่นการเมือง แค่อ่านใจหรือได้ยินจริง ๆ

ถ้าท่านเดินหน้าต่อก็คือห่วงใยเรื่องการปฏิรูป ลำพังตัวเองอยากขนของกลับบ้านตั้งแต่วันนี้ วันพรุ่งนี้ เพราะเดินหน้ามาไกลเรื่องปฏิรูป แต่ยังไม่เห็นผล มันมีกระบวนการยาว และต้องใช้ความอดทน แต่จะต้องเริ่มเห็นผลในปีที่ 3

Q : ควรใช้นายกฯที่คุมการปฏิรูปมาตั้งแต่ต้นหรือไม่

ไปพูดตรงนั้นก็จะไปบอกว่าต้องคนนั้นคนนี้ ไม่อยู่ในวิสัยที่ควรจะพูด แต่ใครจะมาก็ตาม ต้องมีสมรรถนะ และความมุ่งมั่น มิเช่นนั้นเราจะล้าหลังเขาหมด

Q : ถ้านักธุรกิจถามว่าความแน่นอนและความมั่นใจในการเมืองหลังจากนี้

ถ้าเขากังวลถึงการเลือกตั้ง ก็ตอบได้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่จะเริ่มนับวันไหนคงบอกไม่ได้การปฏิรูปเริ่มทำแล้ว กฎหมายลูกก็ออกมาหมด

Q : หลังจากกฎหมายลูกเรียบร้อย ภูมิทัศน์ใหม่การเมืองจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ถ้าทุกอย่างไปตามทิศทางที่รัฐธรรมนูญวางไว้ บ้านเมืองจะดีขึ้น สิ่งอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ชอบธรรม จะเริ่มลดน้อยลง การเมืองจะมีกฎเกณฑ์ค่อนข้างชัดเจน เกิดอะไรก็มีที่ให้ไปถามเพื่อหาข้อยุติกันได้ ส่วนการเลือกตั้งนั้นทำนายไม่ได้

Q : การรัฐประหารจะเกิดอีกหรือไม่

ทุกครั้งที่ถามผม ผมก็บอกว่าไม่น่าจะมีอีกแล้ว มาถามผมตอนนี้ ผมก็บอกว่าก็ไม่น่ามีเหตุอะไร ทุกครั้งก็พูดอย่างนี้

Q : คาดการณ์ไว้แล้วว่าน่าจะทายผิด

ทำยากขึ้นทุกวัน แล้วถ้าจะมี ประชาชนต้องทำ เหมือน พ.ค. 2557 ที่เรียกหามัน

Q : จะเป็นการรัฐประหารโดยประชาชน ไม่ใช่การแย่งชิงอำนาจของทหาร

ไม่ใช่