เลาะพรมแดง “รัฐธรรมนูญ 60” ลุ้น “บิ๊กตู่” นายกนอกบัญชี ย้อน “เปรมโมเดล”

ท่ามกลางเสียงหนุน เสียงเชียร์ เสียงยุส่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระโดดลงจากเวทีอำนาจเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัวภายหลังการคืนอำนาจ

ประกอบกับ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจเป็นนายกฯ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน

ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องออกมา “ปิดเกม” สยบข่าวลือเสียงดังตามสไตล์ทหารว่า “เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่อง วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผม ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ มีเรื่องอื่นที่จะเป็นจะตาย ขอให้ไม่ต้องมาสนใจ ใครอยากจะพูดก็พูดไป เป็นเรื่องของผม ตอบให้ชัดเจนแบบนี้ จะได้ไม่ต้องพูดอีก ถามกันอยู่ได้”

แต่ก็ไม่วายที่อดีตนักการเมืองที่เข้าไปสวมหัวโขนในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วน หนีกฎ 90 วันของรัฐธรรมนูญ เพื่อมาร่วมวงตั้งพรรคลงชิงเก้าอี้ ส.ส.ประกาศลั่นว่าสนับสนุนเป็นนายกฯ

ขณะเดียวกันเกิดข่าวลือใต้ดินว่า มีบุคคลระดับบิ๊กในแม่น้ำ 5 สาย กำลังต่อสายกับเครือข่ายนักการเมือง นายทุนให้มาสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” คืนทำเนียบในอนาคต

ด้านนักการเมืองในซีกพรรคใหญ่ พรรคกลาง ต่างเตะลูกให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลงเลือกตั้งในสนามประชาธิปไตย วัดดวงแข่งกับนักการเมืองให้รู้แล้วรู้รอด

แต่เส้นทางบนถนนการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะทอดเข้าสู่ประตูทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งนั้น

ปิดตาย “บิ๊กตู่” ลง ส.ส.

การจะลงเล่นการเมืองเป็น ส.ส.ไม่มีทางเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 กำหนดว่า ให้ ครม.บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็คือรัฐบาล คสช.เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป และให้นำมาตรา 263 วรรคเจ็ด (สนช.ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ) มาบังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรี คสช.ด้วย จึงปิดโอกาสการที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลงสมัคร เพราะติดล็อก 90 วัน

หนทางที่เป็นไปได้ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มากที่สุดคือ เส้นทางนายกฯ คนนอก

นั่นก็เพราะทุกโครงสร้างอำนาจเกื้อหนุนให้นำไปสู่การสถาปนานายกฯ คนนอก

ย้อนจดหมาย “ลับ” ล็อกทางคืนทำเนียบ

ตั้งแต่ “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช.ในเวลานั้น ส่งหนังสือตีตรา “ลับ” จากทำเนียบรัฐบาล มายังห้องประชุม กรธ. ให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้ช่อง “นายกฯคนนอก” ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประกอบกับให้ ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ด้วย

อีกด้านหนึ่งของแม่น้ำ 5 สาย ฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เสก “คำถามพ่วง” ให้ ส.ว.ที่แต่งตั้งจาก คสช. 250 คน มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก หรือเลือกนายกฯ ได้ถึง 2 สมัย โดยให้ประชาชนลงเทเสียงเห็นชอบประชามติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญประทับตราความถูกต้องในเวลาต่อมา

ดังนั้น ขั้นตอนการมีนายกฯคนนอกจึงถูกติดตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างพร้อมสรรพ

แต่ก่อนจะถึงกระบวนการเลือกนายกฯคนนอกต้องผ่านกระบวนการเงื่อนไข ปกติตามรัฐธรรมนูญก่อน ดังนี้

ต้องโหวตนายกฯในบัญชี

เงื่อนไขแรก ในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ 60 กำหนดไว้ว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง จะต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ 3 ชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดรับสมัคร และให้ กกต.ประกาศชื่อให้ประชาชนทราบ

มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองที่แจ้งไว้เสียก่อน

งัดข้อในสภาจนเกิดอุบัติเหตุ

เงื่อนไขที่ 2 ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้ามี “สภาพบังคับ” ไม่ให้พรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งมีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จพรรคเดียว ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจต่อรองของพรรคขนาดกลาง นำไปสู่การ “งัดข้อ” ระหว่างพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ กับพรรคขนาดกลาง-เล็ก จนไม่สามารถเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ซึ่งอาจนำมาสู่อุบัติเหตุของ “นายกฯ ในบัญชี” จนนำไปสู่การ “เลือกนายกฯ จากนอกบัญชี”

เปิดทางนายกฯคนนอกสู่อำนาจ

อันเป็น เงื่อนไขที่ 3 นำมาสู่การใช้อิทธิฤทธิ์สมาชิกวุฒิสภา-นอมินี คสช. ในช่วง 5 ปีแรก จำนวน 250 คน ที่มาจากการจิ้มของ คสช. สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสองว่า

“หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไม่ว่าด้วยเหตุใดและสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา(375คน จากทั้งหมดของสองสภา 750 คน) ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา88…”นำมาสู่เส้นทางนายกฯ คนนอก

ฟันธงนายกฯคนนอกไม่ง่าย

ทว่าในมุมนักนิติศาสตร์อย่าง “ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์เส้นทางนายกฯคนนอกว่าไม่ง่าย เพราะต้องใช้เสียงพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งสนับสนุน

“การเป็นนายกฯคนนอกได้ ต้องใช้เสียงทั้งหมด มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน คือ 376 เสียง คสช.มี 250 เสียงแล้ว ต้องการเสียง ส.ส.อีกแค่ 126 เสียง แต่ถ้ามี ส.ส.ในมือแค่ 126 เสียง เสนอกฎหมายก็ไม่ผ่าน ร่างงบประมาณก็ไม่ผ่าน มีสิทธิถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว”

“แปลว่าจะเป็นรัฐบาลได้ต้องมีครึ่งหนึ่งของ ส.ส.อย่างน้อยคือ 250 เสียง ลำพังเพียงการใช้เสียง ส.ส. 250 เสียงก็ไม่ง่าย เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรครวมกันเกิน 250 เสียง แปลว่าถ้าต้องการได้เสียง ส.ส. 250 ต้องได้พรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล”

ย้อนสู่เปรมโมเดล

เช่นเดียวกับ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิเคราะห์ในทางเดียวกันว่า “รัฐธรรมนูญเขียนให้ ส.ว. 250 คน โหวตให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ต้องดูก่อนว่า ส.ส.ในสภามี 500 การเมืองวันนี้มี 2 พรรคใหญ่ และพรรคขนาดกลาง ถ้าเลือกตั้งมาไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก็จะมีพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่

“คำถามคือสองพรรคจะรวมกันตั้งรัฐบาลหรือไม่…ในทางปฏิบัติไม่น่าจะรวมถ้าสองพรรคไม่ร่วมกันตั้งรัฐบาลจะมีพรรคหนึ่งพรรคใดจะไปร่วมเอานายกฯคนนอกไหม ถ้าหากมีพรรคหนึ่งพรรคใดไปร่วมสนับสนุนคนนอก มีสิทธิที่จะมีรัฐบาลนายกฯคนนอก พรรคใหญ่หนึ่งพรรคบวกพรรคขนาดกลาง และบวก ส.ว. 250 ได้เสียงเกินครึ่ง และเสียงรัฐบาลก็เกินครึ่ง คนนอกก็มีเสียงในสภาเกินครึ่ง กรณีนี้เหมือนกับ พล.อ.เปรม”

“แต่กรณีที่คิดว่าเป็นไปได้ยากมาก สองพรรคใหญ่ไม่ร่วมกับคนนอก เหลือพรรคขนาดกลางกับพรรคขนาดเล็กรวมกันได้ 126 เสียงขึ้นไป บวกกับเสียง ส.ว. 250 เสียง เป็น 376 เสียง เสนอคนนอกเป็นนายกฯ ได้ แต่จะบริหารประเทศไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย”

“จะเกิดขึ้นได้ต้องมีพรรคใหญ่พรรคหนึ่งพรรคใดร่วมพรรคขนาดกลางและมีเสียงเกินครึ่งสนับสนุนนายกฯคนนอก”

แม้โอกาสนายกฯคนนอกจะไม่ใช่ของง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปากแต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้…