พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต

ความท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่นผลักดันให้ทุกธุรกิจเดินหน้าปรับปรุงองค์กรให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่ (ยัง) ประสบความสำเร็จ “ผู้นำ” ต้องใช้ทั้งความพยายามและความกล้าหาญอย่างมากในการที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยตระหนักว่า “ความสำเร็จในอดีตอาจไม่สามารถการันตีอนาคต” ในโลกธุรกิจยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า”

“ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะสื่อที่อยู่คู่กับสังคมและเศรษฐกิจไทยมากว่า 40 ปี ตระหนักดีว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแข็งแรงและยั่งยืน จำเป็นต้องมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นลมใต้ปีกเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย นำไปสู่แนวคิดในการจัดงานสัมมนารูปแบบใหม่จึงเป็นสื่อกลางการเชิญผู้มีประสบการณ์ที่กล้าเปลี่ยนตนเองในทุกมิติ จนพัฒนาและยกระดับเป็นธุรกิจที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อต่อยอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจมาฟังแนวคิดบางส่วนของผู้พลิกเกมการแข่งขันด้วยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ก่อนพบกันบนเวทีสัมมนา “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต THE REINVENTION”

“BNK48 เหตุเกิดจากความกลัว”

ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่โดนทำลายล้างอย่างรุนแรงจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ทำให้ “จิรัฐ บวรวัฒนะ” ต้องคิดและทดลองทำธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดเวลา หนึ่งในนั้นคือ บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท บีเอ็นเค โฟร์ตี้เอท ออฟฟิศ จำกัด ผู้แจ้งเกิด “ไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป BNK48″เป็นตัวอย่างของนักธุรกิจที่เปลี่ยน “ความกลัว” มาเป็น “ความกล้า” คิด และทำสิ่งใหม่ให้อุตสาหกรรมเพลงที่กำลังโดน “ดิสรัปต์” อย่างรุนแรง ก่อกำเนิดเป็นโมเดลธุรกิจ talent management ซึ่งต่างจากค่ายเพลงทั่วไปที่ “สินค้า” ไม่ใช่ “เพลง” แต่เป็น “ความพยายาม” ของน้อง ๆ BNK48

“ผมอยู่ในธุรกิจมีเดียมา 15 ปี ตลอดระยะเวลานั้นธุรกิจนี้โดนดิสรัปต์มาตลอด เราเลยเป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่น่ากลัว เมื่อกลัวว่าจะเจ๊งก็ต้องคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ ต้องพิสูจน์ด้วยตนเองว่าสิ่งที่คิดทำได้จริงไหม และถ้าทำแล้วไม่เวิร์กต้องกล้าพอที่จะหยุดแล้วเดินทางใหม่ เพราะการทำธุรกิจบางทีทำเป็น 10 อย่าง อาจมีแค่อย่างเดียวที่ไปต่อได้”

“จิรัฐ” บอกว่า สิ่งที่เขากำลังทำคือการนำเสนอเรื่องราวของเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่มีความฝันและความมุ่งมั่น ผ่านช่องทาง “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งถือเป็น “สื่อ” ที่ทรงพลังแห่งยุคสมัย

เขาย้ำว่า “ดีเอ็นเอ” ของ BNK48 คือความพยายามของเด็ก ๆ บนพื้นฐานของความมุ่งมั่นและตั้งใจทำสิ่งดี น้อง ๆ BNK48 มีกฎไม่รับงานพรีเซ็นเตอร์อาหารเสริม, ครีมหน้าขาว และไม่ถ่ายแบบชุดว่ายน้ำที่เน้นเรื่องความเซ็กซี่

“เราจะไม่ใช้ทางลัด ถ้าอยากผอมต้องออกกำลังกาย อยากเก่งต้องพยายามฝึกฝนตนเอง”ทุกวันนี้แม้หลายคนจะมองว่า “BNK48” ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ “จิรัฐ” บอกว่ายังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

มาหาคำตอบไปพร้อมกันว่าอะไรอีกบ้างที่อยู่เบื้องหลังมุมมอง วิธีคิด โมเดลธุรกิจ talent management และ BNK48

“อนันดาฯ” อย่าหยุดเรียนรู้สิ่งใหม่

ยุคบูมคอนโดมิเนียมในปัจจุบันกล่าวได้ว่า ผู้คนจดจำได้ไม่กี่แบรนด์ หนึ่งในนั้นเป็นค่าย “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ภายใต้การนำของ “โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา” ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้นำที่พกพาความกล้าหลากหลายมิติ เป็นดีเวลอปเปอร์รายแรก ๆ ที่กล้าซื้อที่ดินติดสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงแสนแพงทำให้ทุกวันนี้ “คอนโดฯไอดีโอ” ปักธงเป็นเจ้าตลาดรถไฟฟ้าสาย “สุขุมวิทไลน์” หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว

วันนี้ “อนันดาฯ” มียอดขายรอโอนสูงสุดในวงการ 54,600 ล้านบาท นับเฉพาะครึ่งปีหลัง 2561 มีห้องชุดทยอยโอนมูลค่าถึง 23,300 ล้านบาท พรุ่งนี้และอนาคตของบริษัทกำลังมุ่งไปสู่การเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ตามวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรแห่งนี้ที่บอกใครต่อใครเสมอว่า “ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งแน่นอน”

“ในอดีตเราวางแผนธุรกิจมองยาว 5 ปี แต่ยุคนี้มอง zoom in แค่ 6 เดือน zoom out 2 ปี ไม่มองยาว 5 ปีอีกต่อไป”

“ชานนท์” ยกตัวอย่างผลกระทบจากเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” ว่า ในอนาคตอาจมี “3D printing” ที่ฉีดตึกออกมาได้ทั้งตึก จึงอาจไม่จำเป็นต้องมี “ผู้รับเหมา” แล้วก็ได้

ก้าวต่อไปของอนันดาฯ “ชานนท์” บอกว่า อย่าไปพยากรณ์อะไรที่ค่อนข้างไกล ยาก แต่ให้ดูว่าแนวโน้มไปทางด้านไหน ถ้าศึกษา Disruption ทั้งหมดจะพบว่ามาแบบทวีคูณเร็วและแรงมาก ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือปรับความคิดให้ได้ก่อน ที่สำคัญคือ วัฒนธรรมองค์กรต้อง agile ที่แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า “ต้องรู้ตื่น” ตลอดเวลา

“จิตมนุษย์จะหา comfort zone เพื่อให้สบาย นี่ถิ่นเรา โต๊ะเรา แต่จริง ๆ ไม่ใช่อะไรของเราสักอย่าง เราต้องอยู่กับตรรกะที่ว่า ไม่มีอะไรสะดวกสบาย เมื่อคุณคิดว่าไม่มีอะไรสบาย คุณจะตื่นตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ศึกษาสิ่งใหม่ ๆ อยู่นิ่งก็เหมือนการถอยหลัง เพราะเวลาไม่หยุด ยิ่งเวลาในยุค disruption จะไปเร็วมาก คุณต้องมีความคิดที่ว่ายอมรับในสิ่งนั้นและสนุกกับมัน”

นอกจากธุรกิจอสังหาฯเพียว ๆ แล้ว อนันดาฯยังมีกลยุทธ์หลากหลายทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับอสังหาฯ แต่เกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ เป็น urban living solution โดยมีเป้าหมายเพื่อหาทางออกใหม่ ๆ ให้ชีวิตคนเมือง

“ไทยซัมมิทฯ” ปักหลักในเวทีโลก

ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริหารหญิงหนึ่งเดียวบนเวทีสัมมนาครั้งนี้ แต่ “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ยังเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่นั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจที่เต็มไปด้วยผู้ชาย ในจังหวะก้าวที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสำคัญจากยุคเก่าไปสู่โลกของการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นความท้าทายใหม่สำหรับผู้ประกอบการยานยนต์โลก โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่หลายคนเชื่อว่า ชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 80-90% จะล้มหายตายจาก

ในมุมมองของ “ชนาพรรณ” เชื่อว่า ชิ้นส่วนยานยนต์ยังอยู่แต่กระบวนการการผลิตและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป เป็นความท้าทายที่ทุกคนต้องปรับตัว ซึ่งไทยซัมมัทฯไม่ได้ผลิตรถยนต์ (ไฟฟ้า) เอง แต่อยู่ตรงกลางของซัพพลายเชน

“ต้องไม่ลืมว่า ประตูรถก็ยังคงเป็นประตูรถ เช่นเดียวกับกันชนยังเป็นกันชน แต่กระบวนการและเทคโนลียีการผลิตต้องเปลี่ยนไป ไทยซัมมิทฯต้องวิ่งให้ไวกว่าลูกค้า โมเดลครึ่งถึง 2 โมเดล”

นั่นทำให้ “ไทยซัมมิทฯ” ยืนอยู่บนยอดคลื่นของความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากได้ และไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ได้เข้าไปผลิตชิ้นส่วนให้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกอย่าง “เทสล่า” ด้วย

ใครจะเชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นในรุ่นพ่อที่บุกเบิกธุรกิจห้องแถวรับทำเบาะรถจักรยานยนต์ จะสามารถขยายการลงทุนและลงหลักปักฐานสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และมีโอกาสซื้อกิจการ “คาจิว่า” ผู้ผลิตเบาะรถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น ซึ่งเธอบอกว่าเป็นการใช้ “ความกล้า”กับการตัดสินใจครั้งสำคัญ ก่อนที่จะรู้จักคำว่า “ดิสรัปชั่น” เสียอีก

และนำไปสู่ความกล้าในอีกหลายครั้งถัดมา รวมถึงการออกไปลงทุนโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ “อินเดีย” เมื่อสิบกว่าปีก่อน ทั้ง ๆ ที่การลงทุนส่วนใหญ่ในขณะนั้นมุ่งไปยังเมืองจีน

ปัจจุบัน “ไทยซัมมิทฯ” มีฐานการผลิตกระจายอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก กับเป้าหมายขับเคลื่อนอาณาจักร “ไทยซัมมิทฯ” ให้ทะยานไปสู่รายได้หลัก “แสนล้านบาท” ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่จะมาอยู่บนเวทีเดียวกัน ร่วมกับ “อิศราดร หะริณสุต” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “โอมิเซะ” สตาร์ตอัพดาวรุ่งของไทยที่เข้าใกล้ความเป็น “ยูนิคอร์น” มากที่สุดแล้ว และเจ้าพ่อธุรกิจอสังหาฯ “อนันต์ อัศวโภคิน” (รอบวีไอพี) กับอีก 5 นักคิดในวันที่ 29 สิงหาคมนี้