ถอดรหัส “บล็อกเชน” กำจัดตัวกลาง-ลดต้นทุนธุรกิจ

คำอธิบาย บล็อกเชน คือ อะไร

เป็นเทคโนโลยีที่กำลังฮอตฮิตมีการพูดถึงมากที่สุดกับ “บล็อกเชน” ล่าสุด บริษัท เค2 เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด กองทุน VC ของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ เปิดเวทีในหัวข้อ “Digital Transformation : Blockchain and its Application in Digital Identity”

“ดร.ภูมิ ภูมิรัตน” ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และผู้เชี่ยวชาญด้าน เทคโนโลยี บล็อกเชน ระบุว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีการพูดถึงกันมากในปีที่ผ่านมา เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกได้แบบเดียวกับที่ อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

“อินเทอร์เน็ตเป็นการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำลายข้อจำกัดเรื่องระยะทางได้ แต่มีข้อจำกัดคือแลกเปลี่ยนได้แต่ข้อมูล แต่สิ่งอื่น ๆ เช่น ข้าวของ เงินทอง

ไม่ได้อย่างอีเพย์เมนต์เหมือนส่งเงินผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่จริง ๆ เป็นแค่การส่งคำสั่งให้ธนาคารโอนเงินให้ ทุกวันนี้ยังต้องการการส่งเอกสารและสิ่งของที่มีความน่าเชื่อถือสูงผ่าน อินเทอร์เน็ต ซึ่งบล็อกเชนแก้ปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนที่ต้องการความน่าเชื่อถือสูง และต้องการการยืนยันตัวตนได้”

หลักการสำคัญ คือตัดระบบดาต้าเบสกลางทิ้งไป ด้วยการทำให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทุกเครื่องเชื่อมต่อกันได้โดยใช้โปรแกรม เดียวกัน กระจายกันดูแลฐานข้อมูลที่แต่ละเครื่องจะมีข้อมูล 1 ชุดเหมือนกัน บันทึกทุกทรานแซ็กชั่น และออโตเช็กพร้อมกันตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งเครือข่าย

มีข้อมูลชุดเดียวกันทำให้เป็นระบบที่มั่นใจได้ว่าไม่ถูกโกง โดยไม่ต้องเช็กจากระบบของคนอื่น แต่เชื่อได้ด้วยข้อมูลและคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้

กระบวนการทำงานของบล็อกเชนคือ เมื่อเกิดข้อมูลใหม่ขึ้นมาจะแจกข้อมูลส่งต่อให้ทั้งเครือข่าย ตรวจสอบความถูกต้องของคำสั่งหรือข้อมูลก่อนเติมใส่ไว้ในระบบข้อมูลกลางของ ทุกคน ทุกคนจึงมีสิทธิ์ตรวจสอบความถูกต้องและประมวลผลด้วยตัวเองตลอดเวลา

ด้วยรูปแบบนี้ ทำให้เมื่อโหนดหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเครื่องใดเครื่องหนึ่งเสีย ก็กู้ขึ้นมาได้ใหม่แทบทันที ด้วยการใส่ซอฟต์แวร์ใหม่ดึงข้อมูลจากเครือข่ายที่มีอยู่มาใส่ หรือเติมโหนดใหม่ก็ทำได้ตลอด ความเสถียรและมั่นคงจึงมีสูง หากจะแฮกเครือข่ายบล็อกเชนให้ได้ต้องเจาะระบบของเครื่องในเครือข่ายให้ได้อย่างน้อย 60% ของทั้งหมด

“หลักการของบล็อกเชนเป็นการให้คอมพิวเตอร์ในระบบช่วยกันดูแลรักษาดาต้า และดาต้าที่ลงระบบกลางในเครือข่ายไปแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก จึงมีความน่าเชื่อถือด้วยการมอนิเตอร์ข้อมูลได้ตลอดเวลา ขณะที่ต้นทุนระบบทั้งหมดจะต่ำกว่าเดิมมาก มี integrity และ availability โดยอัตโนมัติ ส่วน confidentiality จะดีไซน์ได้หลากหลายว่าจะให้มีการเปิดตัวตนแค่ไหนในเครือข่าย โดยอาศัยคุณสมบัติทางคณิตศาสตร์เข้ามาซัพพอร์ตทั้งระบบ”

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มนำ”บล็อกเชน” มาแก้ปัญหา อาทิ การแลกเปลี่ยนเงินโดยใช้บิตคอยน์ที่กลายเป็นสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ิ เหมือนเงินสด แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้าย ไม่ต้องมีคนกลาง แต่มั่นใจได้ว่า การส่ง-รับเงินจะเกิดขึ้นแทบทันที และด้วยการที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางจึงส่งผลให้ต้นทุนต่ำกว่าวิธีการเดิมมาก

ไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนเงินมีอีกหลายรูปแบบอื่น อาทิ ทุกธนาคารในฮ่องกงนำบล็อกเชนมาเชื่อมระบบข้อมูลที่ดินและอพาร์ตเมนต์ เพื่อให้รู้ราคาที่ดินและค่าเช่าที่ทุกตารางเมตรบนเกาะฮ่องกง ซึ่งมีประโยชน์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารอย่างมาก

“ระบบฐานข้อมูลแบบนี้เดิมต้องตั้งบริษัทร่วมลงทุนหรือบริษัทคนกลางเก็บข้อมูล มีต้นทุนสูงกว่าการใช้บล็อกเชนมาก ทำให้ต้องมีกระบวนการแชร์ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลในส่วนนี้จึงมีค่าใช้จ่าย สูง

ไม่สามารถที่จะปล่อยให้ใช้ฟรี ๆ ได้ และไม่ใช่แค่ข้อมูลค่าเช่าในหลายเมืองใหญ่อย่างชิคาโก กำลังทดลองนำโฉนดที่ดินของรัฐมาไว้บนเครือข่ายบล็อกเชน”

บริษัทเอกชน อย่าง Eveledger ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์เหมืองเพชร นำมาใช้ทำระเบียนข้อมูลเพชรแต่ละเม็ด มีเลขประจำตัวของเพชรที่จะบันทึกตั้งแต่ออกจากเหมืองและเมื่อเปลี่ยนมือ ทำให้ระบุเจ้าของปัจจุบันได้ทันทีต่อไปจะได้เห็นการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์หรือ สินค้าที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นมากขึ้น

“สมาร์ทกริด สมาร์ทซิตี้ ก็เริ่มนำมาใช้ปิดความเสี่ยงที่ระบบจะถูกแฮกและสร้างความเสียหายได้ เพราะมีการตั้งโหนดเก็บข้อมูลเซ็นเซอร์จากอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก”

“เอ็ดมอนด์ เจ. โลเวลล์” ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนจากสหรัฐ กล่าวว่า บล็อกเชนนำมายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เช่น การนำมาใช้เพื่อระบุตัวตนในการเข้าถึงสวัสดิการ การลงทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ การเข้าถึงบัญชีธนาคาร ซึ่งคนไทยยังมีน้อย โดยบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปิดทางให้ทุกคนเข้าถึงในราคาจับต้องได้ และยังใช้งานได้กับไอทีอินฟราสตรักเจอร์แบบเดิม หากได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันตัวตนและเอกลักษณ์บุคคลบนระบบดิจิทัล ในประเทศเอสโตเนียนำบล็อกเชนมาพัฒนาระบบ e-Residency ที่อนุญาตให้ทุกคนตรวจสอบตนเองทางออนไลน์ด้วยหนังสือเดินทาง เมื่อเปิดบัญชีธนาคารหรือบริษัท ส่วนในรัฐเดลาแวน สหรัฐอเมริกา จะประกาศใช้กฎหมาย blockchain companies house ในปีนี้

“ดร.ภูมิ” เสริมว่า เอกชนในไทยตื่นตัวกับบล็อกเชนมาก โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคารและการแพทย์ เริ่มทดลองสร้างระบบสำหรับการให้บริการแล้ว อาทิ สร้างบล็อกเชนเพื่อแลกเปลี่ยนระเบียนผู้ป่วย อำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล การเคลมค่าใช้จ่ายระหว่างหน่วยงาน คาดว่าในปี 2561 จะเห็นการนำมาใช้อย่างจริงจัง และในปี 2563 จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีการนำมาใช้งานในไทย

“สิ่งที่อยากให้ ตระหนักคือ ควรเริ่มต้นจากโจทย์หรือปัญหาทางธุรกิจที่ต้องการแก้ไข ไม่ใช่เริ่มจากยึดกับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งว่าจะใช้ตัวนี้เท่านั้น เนื่องจากแต่ละเทคโนโลยีมีความแตกต่างและความเหมาะสมในการใช้งานต่างกัน หากมีความชัดเจนของเป้าหมายก็จะชัดเจนเองว่าต้องใช้อะไรในส่วนไหน และลงทุนอย่างไร”

อุปสรรคสำคัญคือ ธรรมชาติของเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานของหลายหน่วย งานที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายบล็อกเชน การประสานและทำงานร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่กฎหมายโดยเฉพาะการยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ การลงนามอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รองรับ เชื่อว่าศาลต้องรับไว้คุ้มครองได้ แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่มาก

“หลายคนบอกว่าด้วยคุณสมบัติของบล็อกเชนที่ดีไซน์ระดับ confidentiality ได้ สื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อรู้จักตัวตน แต่มีความเชื่อถือได้สูงว่าจะไม่ถูกโกง บล็อกเชนเป็นเหมือนสวรรค์ของนักฟอกเงิน จึงไม่ควรใช้ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นแล้ว มีใช้งานแล้ว แม้เราใช้หรือไม่ใช้ ปัญหาการฟอกเงินก็ต้องแก้ ดังนั้นการไม่ใช้บล็อกเชนเพราะพวกฟอกเงินใช้จึงไม่ใช่ทางออก ในเมื่อนำไปใช้งานได้ประโยชน์หลากหลาย”