ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ปั้น CPF สู่ Global Firm 8 แสนล้าน

จากการจัดอันดับ ranking พบว่า CPF ถือเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารแปรรูป (feed-farm-food) แบบครบวงจรอันดับ 1 ของประเทศไทยและในเอเชีย ด้วยขนาดธุรกิจมูลค่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 540,000 ล้านบาท บริษัทมีกำไร 15,500 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่ CPF ก็ยังอยู่เป็นอันดับที่ 1,000 ของโลกรองจากบริษัท JBS สหรัฐ และ BRF ของบราซิลที่มีขนาดธุรกิจ 51,000 ล้านเหรียญ ” นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ให้ภาพรวมของ CPF ในการแสดงวิสัยทัศน์เนื่องในการเข้ารับตำแหน่งใหม่

พร้อมกับแสดงเป้าหมายของบริษัทต้องการที่จะยกระดับ CPF จาก “semiglobal firm” ไปสู่การเป็น “global firm” ซึ่งหมายถึง บริษัทระหว่างประเทศ ที่มีบุคลากรต่างชาติเข้าร่วมเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ก็ยังคงนโยบายการเป็น “ครัวของโลก” การผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคและมุ่งพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคยุคใหม่

โดยวางกรอบการทำงานในอีก 3-5 ปีข้างหน้าด้วยการเพิ่มยอดขายให้ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% จาก 540,000 ล้านบาทเป็น 800,000 ล้านบาท การเพิ่มสัดส่วนฐานผลิตจากต่างประเทศ จาก 67% เป็น 75% การลดสัดส่วนฐานผลิตในประเทศจาก 33% ในปัจจุบันให้เหลือ 25%

ขณะเดียวกันจะปรับสัดส่วนธุรกิจ feed-farm-food จากเดิมสัดส่วน 42% 41% และ 17% เป็นสัดส่วนอย่างละเท่า ๆ กัน โดยจะเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น ทั้งหมดนี้จะใช้งบฯลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมรวมถึงการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ไว้ปีละ 30,000 ล้านบาท

CPF มุ่งสู่ Global Firm

สิ่งที่ CPF อยากเห็นก็คือ การเป็น global firm และการเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาธุรกิจแปรรูปจากเนื้อสัตว์ไปเป็นอาหารแปรรูป โดยจะยึดวัฒนธรรมของตลาดเป็นพื้นฐาน (culture base) เช่น การทำอาหารในไทยจะมีผัดกะเพรา แต่ประเทศอื่น ๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการบริโภคของประเทศนั้น จากออฟฟิศ CPF เต็มรูปแบบ (fully operation) อยู่ใน 17 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานขาย (sales office) อยู่ใน 19 ประเทศทั่วโลก

และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายข้างต้น CPF จะนำโมเดลระบบ value chain ของไทยไปใช้กับ 16 ประเทศทั่วโลก จากปัจจุบันที่ขายออกไปตลาดต่างประเทศ 100% ก็จะเปลี่ยนให้

กลายเป็น “global food distribution” หรือการบูรณาการกันสั่งซื้อและจำหน่ายสินค้าจากที่ไหนก็ได้ที่เลือกแล้วว่า สามารถทำให้ competitiveness ให้กับ CPF หรือจะสั่งซื้อกันเองภายในเครือ (trade inbetween cost) ก็ได้ เช่น สำนักงาน CP ที่อังกฤษสามารถสั่งซื้อสินค้าจากบราซิล ชิลี หรือโปแลนด์ก็ได้ โดยการสั่งซื้อจะต้องทำให้ CPF มีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง

ขยายฐานจีน-เวียดนาม

สำหรับแผนการขยายฐานผลิตในต่างประเทศ CPF ตกลงที่จะวาง position ไว้ที่ประเทศจีนกับเวียดนามให้เป็นฐานการผลิตใหญ่รองจากไทย ซึ่งขณะนี้ในเวียดนามกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ครบวงจร 1 ล้านตัวเพื่อไปสู่การผลิตส่งออกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยจะเริ่มเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นก่อน ขณะที่จีนเป็นฐานการผลิตเบอร์ 2 รองจากไทย มีกำลังผลิต 1 ล้านตัน อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายโรงงานแปรรูป

และล่าสุด CPF ขยายการลงทุนสุกรไปยังฟิลิปปินส์ หลังจากได้รับการเชิญชวนจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ไทยเข้าส่งเสริมเทคโนโลยีระดับสูงในการผลิตสุกร เพื่อใช้ในประเทศรองรับประชากร 110 ล้านคนและส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่วนในยุโรป CPF จะมีฐานผลิตอยู่ในรัสเซียทั้งโรงงานอาหารสัตว์-ไก่-หมู แต่ยังขาดอาหารแปรรูปไส้กรอกและไข่

ส่วนในแคนาดากำลังจะเริ่มการผลิตสุกรครบวงจร หลังจากดำเนินการซื้อขายกิจการกับบริษัทไฮไลน์ เสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคมนี้

“เราได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก 3 งานคือ งาน Anuga ที่เยอรมนี ซึ่ง CPF จะเข้าร่วมเป็นปีที่ 3 งานแสดงสินค้าอาหารไทยเฟกซ์และงานแสดงสินค้านานาชาติที่ประเทศจีน CIIE ในเดือนกันยายน โดยไทยจะได้อานิสงส์จากนโยบายรัฐบาลจีนที่จะมุ่งนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น” นายประสิทธิ์กล่าว

ประโยชน์ต่อ ปท.-ปชช.-CP

อย่างไรก็ตาม การนำธุรกิจของ CPF ไปสู่ความสำเร็จนั้น จะต้องใช้กลยุทธ์ที่เป็นหัวใจหลักของการทำงาน 3 ด้านคือ 1) การสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) โดยยึด global market trend เช่น การผลิตอาหารปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกตัวอย่าง “ไก่เบญจา” ที่เลี้ยงด้วยอาหารธัญพืช การผลิตไก่โปรไบโอติก การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคล (personalized food) และอาหารออร์แกนิก เป็นแนวทางดำเนินงาน

2) digital transformation จะยึดเทรนด์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลก (IT base trend) 8 ด้านมาเป็นหลักในการพัฒนา เช่น โรโบติก ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การใช้ IOT (internet of things) และ big data ซึ่งขณะนี้ CPF ได้เริ่มนำหลายระบบมาปรับใช้ในการผลิตแล้ว เช่น ระบบเซ็นเซอร์ไซโลเพื่อบริหารจัดการการสั่งซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ การบริหารจัดการฟาร์มแบบเรียลไทม์ ร่วมกับพันธมิตรคือ SAP การนำระบบ digital sales & ser-vices ร่วมกับบริษัท Salesforce มาใช้ในกระบวนการพิจารณารายชื่อสินค้า การอนุมัติสินเชื่อออนไลน์ การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และการรายงานผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งกลยุทธ์นี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ

3) การสร้างความยั่งยืน มี 2 ส่วนที่ CPF เริ่มดำเนินการแล้ว และจะทำอย่างต่อเนื่องคือ การใช้พลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วน 25% ด้วยการติดโซลาร์รูฟท็อปใน 30 โรงงาน กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ กับการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร ที่ไม่เพียงจะลดต้นทุนพลังงาน แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.22 แสนตันต่อปี หรือเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ 1.4 ล้านต้น ซึ่งในอนาคต CPF มีแผนจะลดการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตและการลดการใช้ถุงพลาสติกทุกขั้นตอนการผลิต เช่น การผลิตอาหารสัตว์ปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบรถขนส่งไซโล เลิกใช้ถุงพลาสติกได้ 620 ล้านใบต่อปี

“ที่สำคัญก็คือ เรายังเน้นแนวทางการทำงานตามวัฒนธรรม 6 อย่างของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) 1) การสร้าง 3 ประโยชน์คือ ประโยชน์ต่อประเทศ-ประชาชน-ธุรกิจที่ไปลงทุน 2) ความยุติธรรม ซื่อสัตย์-โปร่งใส-ผิดได้แต่ห้ามโกงบริษัท 3) การทำอะไรให้ง่าย-ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ 4) การสร้างนวัตกรรม 5) ประยุกต์และเปลี่ยนแปลง และ 6) ความรวดเร็วและคุณภาพที่เรายึดถือมาโดยตลอด” นายประสิทธิ์กล่าว

สู่นวัตกรรมโปรตีนทางเลือก

ส่วนการพัฒนา “นวัตกรรมอาหาร” CPF ก็จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้เดินหน้าโครงการไก่เบญจา ซึ่งเป็นการเลี้ยงไก่โดยใช้ธัญพืชปลอดภัยจากสารเคมี 100% คุณภาพและมีรสชาติเปรียบเสมือนกับ “วากิวออฟชิกเก้น” และสามารถเปิดตลาดสู่สายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์สได้ในไตรมาส 3/2562 และเตรียมขยายสู่ห้างเหอหม่า ประเทศจีน