แบ่งปันความเก่ง ยิ่งให้ ยิ่งได้

       ในยุคปัจจุบันเราคงคุ้นเคยกับคำว่า Sharing Economy ซึ่งหมายถึง เรามีทรัพย์สิน ที่บางครั้งไม่ได้ใช้ตลอดเวลา เราสามารถนำของเหล่านี้ไปสร้างรายได้ ให้ผู้ต้องการใช้ มาใช้งาน ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเอาห้องที่บ้านตัวเองไปให้คนเช่า หรือ การเอารถของตัวเองมาให้บริการในบางช่วงบางเวลา ซึ่งวันนี้จะไม่ได้มาพูดเรื่องของสิ่งของ แต่จะพูดถึงสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น ที่เอามาแชร์กันได้ นั่นก็คือ ทรัพยากรบุคคล 

       คนเก่งนั้น เราไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา และที่สำคัญคือ ตัวคนเก่งเอง ก็สามารถทำงานได้จากทุกที่ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ยุคนี้ คนเก่ง ถูกแชร์กันใช้ได้เช่นเดียวกัน และไม่สำคัญว่า คนนั้นต้องอยู่ในเมืองไทย โดยเราสามารถมองได้ว่า คนเก่งทั้งโลกเป็นของเรา เราจ้างใครมาทำงานให้เราก็ได้ มาทำงานให้เราแค่ในเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเอาเป้าหมายของงานเป็นหลัก ทุกวันนี้มีคำถามที่ว่า

       “ทำอย่างไรให้คนเก่งอยู่กับเรา” ไม่ยากเท่ากับ “ทำอย่างไรให้คนไม่เก่ง ไม่อยู่กับเรา”

       ในโลกปัจจุบันคนเก่ง สามารถกลายเป็นคนเคยเก่งได้ในช่วงข้ามคืน เพราะบริบททางธุรกิจ และองค์ความรู้ที่เคยมี พร้อมจะหมดอายุตลอดเวลา 

       ดังนั้น เวลาองค์กรจ้างคนมาทำงานในช่วงที่งานเหมาะกับคนนั้น แต่พอธุรกิจเปลี่ยนไป องค์กรอาจจะต้องแบกรับภาระในการดูแลพนักงานที่ปรับตัวไม่ได้ และไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิต จึงเกิดคำถามว่า ในอดีตที่เคยเชื่อว่าการรักษาพนักงานให้ทำงานอยู่กับองค์กรอย่างยาวนาน จะตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้หรือไม่ หรือจริงๆแล้ว พนักงานอยู่กับองค์กรในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะเป็น win-win solution ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

       จึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ของ Gig Economy ที่เมื่อความต้องการตรงกัน ก็มาทำงาน โดยยึดเอาเป้าหมายเป็นหลัก พอคิดได้แบบนี้ ก็เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ผูกมัด

       ในอดีตตัวชี้วัดด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กรคือ ความสามารถในการดึงพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานแค่ไหน แต่ปัจจุบันงานในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งทำให้รูปแบบของคนที่ต้องการเปลี่ยนไปด้วย โดยงานบางอย่างมีหุ่นยนต์มาทำงานแทน บางอย่างมีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาทำงานแทน บางอย่างมีระบบ Automation มาทำงานแทน 

       คนที่อยู่กับองค์กรจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ คนที่ปรับตัวได้ และพร้อมเรียนรู้ ซึ่งองค์กรสามารถถอดความเชื่อมเดิม ใส่ความรู้ใหม่ได้(Re-Skill,ReTrain และ Unlearn) คือเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน คนพวกนี้พร้อมปรับเปลี่ยนไปสู่งานใหม่ๆได้ แต่อีกหลายคนไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาขององค์กรที่ต้องมีภาระดูแลคนกลุ่มนี้ต่อไป

       เพราะฉะนั้น โลกยุคใหม่ที่จะ Unbox วันนี้ จะเป็นเรื่องการแกะกล่องระบบการทำงานยุคใหม่ที่เป็นการทำงานเปิดกว้างในลักษณะของแพลตฟอร์มที่ให้คนทำงานแบบพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ หรืองานอิสระ ที่เราเรียกว่า Gig Economy ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในโลกอนาคต

       เทรนด์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจากข้อมูลทางสถิติแล้ว ทุกภูมิภาคในโลกจะมีแรงงานฟรีแลนซ์เข้ามามีส่วนในระบบการทำงานมากกว่า 30-40%อยู่แล้ว ซึ่งคนเก่งกลุ่มนี้ไม่อยากทำงานประจำ และจากประสบการณ์ตรงของตัวผู้เขียนเองมีโอกาสสัมภาษณ์งาน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เก่งมาก และสนใจสมัครงานเอง แต่ขอทำงานแค่ 4 วัน เพราะมีบริษัทตัวเองด้วย แต่ใช้เวลาทำงานแค่ 3 วัน จึงทำให้ผู้บริหารต้องถามตัวเองว่า องค์กรเราสามารถปรับตัวรับพนักงานทำงานประจำแค่ 3-4 วันได้หรือไม่ ไม่เหมือนกฎระเบียบที่เราคุ้นเคย

       ทำให้เราต้องหยุดคิด เพราะจะตอบว่าไม่ได้ ก็ไม่ได้ หรือเราเองต่างหากที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง 

       เรื่องนี้องค์กรขนาดใหญ่ ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เมื่อเทรนด์ของการรับงานอิสระมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แล้วองค์กรขนาดใหญ่อย่างเราเองปรับตัวตามได้หรือไม่ ถ้าปรับไม่ได้ ต่อไปในอนาคตคนเก่งก็จะมาทำงานให้เราไม่ได้ แต่ถ้ายอมให้เขามาทำงานให้ 3-4 วันต่อสัปดาห์ อาจจะได้งานมากกว่าคนที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือทำงานไม่ได้ แต่อยู่กับเราทุกวันไปอีก 10 ปีก็ได้ เพราะจริงๆแล้ว คนทำงานอิสระจะได้ประสบการณ์จากการเรียนรู้งานที่หลากหลาย

       ทำไมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ทำให้งานด้าน Gig Economy เกิดขึ้นในยุคนี้ เหตุผลคือ 1.ทำงานที่ไหนก็ได้ ยกตัวอย่างที่ ทรูดิจิทัลพาร์ค ที่ทุกคนสามารถเช่าที่นั่งทำงานได้เหมือนเป็นออฟฟิศ เราจะทำงานให้กี่บริษัทก็ได้ มีตู้ไปรษณีย์เป็นของตัวเอง ที่สำคัญงานด้านแอดมิน กฎหมาย บัญชี หรือ HR  ก็มี One Stop Service ที่ทรูดิจิทัลพาร์คช่วยทำให้ ซึ่งในอนาคต คนไม่กี่คนสามารถทำงานในสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

       สิ่งที่บริษัทต้องเอาไปคิดคือ ต่อไปจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร 

       2.คนยุคใหม่ เป็นยุคที่ไม่ได้มองแค่ตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน แต่มีแนวทางเป็นของตัวเอง ต้องการให้ตัวเองมีคุณค่า การที่เราจะดึงคนพวกนี้มาเบลนเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะคนรุ่นใหม่โตมากับการที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนยุคก่อน มีไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะมาทำงานกับบริษัทที่มีกฎระเบียบ แต่ทุกวันนี้มีทางเลือกและโอกาสมากมายในโลกอินเตอร์เน็ต

       ตัวอย่างก็คือ Day Work สตาร์ทอัพไทย ที่มองเห็นโอกาสจากภาวะ Gig Economy ที่ความต้องการการจ้างงานมีความหลากหลาย และไม่ได้จำกัดแค่งานประจำแบบเต็มเวลาเท่านั้น  Day Work จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ หรือตัวกลางเชื่อมระหว่างคนทำงานพาร์ทไทม์กับบริษัทต่างๆ โดยจับกลุ่มเป้าหมายที่นักศึกษามหาวิทยาลัย

       Day Work เป็น 1 ใน 5 ทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านมาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ True Incube Incubation &Scale Up Program Batch 6 – Rising Startup Together โดยจับคู่ธุรกิจกับทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ซึ่งโครงการนี้เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพในธุรกิจเทคโนโลยีเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจกับบริษัทในกลุ่มทรู และเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก 5 ทีมสุดท้ายจะได้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมแบบเข้มข้น และได้รับเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท พร้อมโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมจากกลุ่มทรู รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆอีกมากมาย

       เห็นอย่างนี้แล้ว บอกได้เลยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับตัวยอมรับเทรนด์ที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว การจ้างแรงงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจใหม่ๆในอนาคต และยังลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50-60%เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานประจำ

By  Greentea