“หมอเลี้ยบ” แนะหยุดล็อกดาวน์ ก่อนเศรษฐกิจล่มสลาย พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน 2 แสนล้าน เอาไม่อยู่

สัมภาษณ์พิเศษ
โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

โควิด-19 ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า ทุกวงการ โลกทั้งโลกต้องหยุดหมุนกว่าสัปดาห์ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศงัด “ยาแรง” ใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นเครื่องมือสู้ “ไวรัส” ศัตรูที่มองไม่เห็น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ-สังคม ถูกระงับ ทั้งโครงสร้างหยุดเคลื่อนไหว สวนทางกับกราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง ลามทั่วประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีต รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยเป็น รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ที่ยังติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด ต่อไปนี้ เขาวิเคราะห์จุดอ่อนของมาตรการคุมเข้มของรัฐบาล พร้อมเสนอแผนเชิงรุก-ป้องกันโรคด้วย face shield

Face Shield ของหมอเลี้ยบ

“นพ.สุรพงษ์” กล่าวถึงต้นแบบไอเดีย face shield ว่า “คนไทยใส่หน้ากากกันเยอะ โดยเฉพาะใน กทม. ต่อเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นช่วงแรกตอนเริ่มโควิด-19 จึงได้รับอานิสงส์จากฝุ่น ทำให้คนใส่กัน ช่วยไม่ให้แพร่กระจายมากนัก”

“พอรู้ว่าการเข้าของไวรัสโควิด-19 มีทั้งตา จมูก ปาก การใส่หน้ากากอย่างเดียวไม่น่าจะพอ เพราะถ้ามือสกปรก มีไวรัส ไปขยี้ตาก็ติดได้ ประเทศไทยหลัง ๆ พอมีปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลน ต้องใช้หน้ากากผ้า จึงมีคนหยิบยกเรื่องเอา face shield มาใช้ และทำคลิปลง youtube แล้วลงมืิิอทำเอง บริจาคให้โรงพยาบาล ผมเลยคิดว่าทำไมประชาชนไม่ใส่เอง ทำไมต้องไปหาซื้อหน้ากาก ถ้าเรามัวแต่ตั้งรับแล้วปล่อยให้มีคนไข้มากขนาดนี้ ก็เกิดขึ้นในหลายประเทศแล้วว่าเตียงรักษาไม่พอ หมอไม่พอ การตั้งรับไม่น่าจะถูกต้อง”

“ไม่มีใครพูดถึงการป้องกันโรคอย่างจริงจัง แปลกที่ทุกประเทศสนใจรักษาโรค ควบคุมโรค แต่ป้องกันโรคมันทำยากขนาดนั้นหรือ ทั้งที่ไวรัสเข้าได้ 3 ทางเท่านั้น ตา จมูก ปาก ไม่ได้เข้าทางเลือดเหมือนเอดส์ ไม่ได้เข้าทางเท้า เช่น พยาธิปากขอที่ไชเท้า ถ้าเราปิดหนทางไม่ให้ไวรัสเข้าไปก็ควรจะกันได้สิ”

ยกเคส “ถุงยาง” เปลี่ยนโลก

“นพ.สุรพงษ์” จึงนั่งทบทวนประวัติศาสตร์ เรื่องเชื้อ HIV ที่มนุษยชาติหายาต้านไวรัส หาวัคซีนว่าจะผลิตอย่างไรจนป่านนี้ยังผลิตไม่ได้

“ครั้นที่เราก็รู้ว่า HIV ติดต่อมาจากเพศสัมพันธ์ แต่ก็ไม่มีใครพูดว่าใส่ถุงยางสิ ดังนั้น คุณหมอวิวัฒน์ โรจนพิทยากร ก็เริ่มจากจังหวัดที่รับผิดชอบก่อน คือ จ.ราชบุรี ตอนที่เริ่มต้นทำ คนค้านเยอะแยะ ไม่มีใครคิดเลยว่าจะกั้นโรคเอดส์ได้ แต่แกก็ทำไป พอทำสถิติ HIV ในจังหวัดดีขึ้นเลย พอมาเสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ให้ทำทั้งประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ ประกาศได้ว่ามีอัตราการติดเชื้อ HIV น้อยลงไปมาก จากนั้นเป็นนโยบายของ WHO (องค์การอนามัยโลก)

“คล้าย ๆ face shield มีคนมาคอมเมนต์ว่าทำได้จริงเหรอ ไม่มีใครทำในต่างประเทศกันเลย ดังนั้นก็เหมือนกรณีถุงยางอนามัย ที่ต้องสู้กันหลายปีกว่าจะสำเร็จ”

ในจุดดีก็ยังมี “จุดอ่อน” เขากล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่า “กันละอองฝอย” ได้ทั้งหมดจริงหรือเปล่า ต้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ต้องยืดลงมากกว่านี้ไหม ให้ปิดไปด้านข้างมากกว่านี้ไหม แต่ถ้าเราใส่จะดีกว่าหน้ากากมาก ต้องไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ว่ากันได้ 100%

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีประโยชน์

แต่ก่อนจะไปถึง face shield “นพ.สุรพงษ์” ย้อนกลับมาส่อง “จุดอ่อน” ของแผนรัฐบาลในการต่อสู้โควิด-19

“เชิงรุกคือให้ใส่หน้ากาก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ตั้งแต่สมัยไข้หวัดนก ไข้หวัด 2009 ใช้นโยบายเก่ามา แต่ในแง่ของการติดยากกว่าตอนนี้ เพราะไข้หวัด 2009 คนแพร่เชื้อต้องมีอาการ แต่ปัจจุบันคนแพร่เชื้อไม่จำเป็นต้องมีอาการก็แพร่เชื้อได้ เดินผ่านใครที่มีโควิด-19 เราไม่มีทางรู้ได้เลย”

ดังนั้นถ้าให้คิดมาตรการเชิงรุกที่รัฐบาลควรทำ “นพ.สุรพงษ์” ตอบแบบฟันธงว่า หากเราทำ face shield ให้เกิน 50% โรคควรสงบ เพราะตอนนี้ที่คำนวณกันมีอัตราการแพร่กระจาย1 ต่อ 2.5 หมายความว่าเป็น 1 คน จะกระจายต่อ 2.5 คน ถ้าหากเราสกัดกั้นได้ตรงประมาณ 50% ของประชากร จะทำให้โรคหยุดได้เลย ทรัพยากรใช้น้อยมาก ไม่ต้องไปซื้อชุด PPE ให้แพทย์ พยาบาลใช้ดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งหลายสิบชุดต่อวัน ไม่ต้องใช้ยาแอนตี้ไวรัสแพง ๆ ง่ายที่สุดคือป้องกันโรค

“โรคโควิดเรารู้อยู่แล้วว่าแพร่มาทางตา จมูก ปาก ทำไมเราไม่ป้องกันเชื้อไม่ให้เข้าตัวเราได้ ถ้าเราป้องกันได้จะจบเลย”

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเข้มงวดหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ปิดเมือง ปิดจังหวัด ตั้งด่านสกัดบริเวณรอยต่อจังหวัดต่าง ๆ ทว่า “นพ.สุรพงษ์” เป็นคนที่ไม่เห็นด้วย และไม่อยากมี “ข้อกำหนด” อันเข้มงวดเพิ่มเติมอีก

“ผมไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่เห็นด้วยว่าจะมีมาตรการออกอะไรต่อจาก พ.ร.ก. ทำอย่างไรคือไม่ต้องออกมาตรการออกต่อมาด้วย พอแล้ว และผมเห็นต่างด้วยว่าที่ไปตั้งจุดตรวจ 377 จุด มันไม่ช่วยอะไรเลย เพราะที่ตั้งด่านตรวจตามถนน ตรวจรถไม่ได้ทุกคันอยู่แล้ว รถติดมากก็ต้องทยอยต่อไป พอรถจอดก็แค่ตรวจวัดไข้เขา ไม่มีไข้หมายความว่าไม่เป็นโควิด-19 เหรอ…ไม่ใช่ เพราะวันนี้โควิด-19 ระยะฟักตัวไม่มีไข้ การตรวจวัดไข้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ดังนั้น ทำทำไม”

“หรือแม้ปิดโรงเรียน ปิดร้านค้าต่าง ๆ กทม.บอกประกาศปิด 22 วัน ซึ่งมีเหตุผลทางวิชาการ คือ พ้นระยะฟักตัว ระหว่างนี้ปิดไประยะฟักตัว 14 วัน หาผู้ป่วยให้เจอให้หมด หาคนที่สัมผัสเชื้อ ล็อกตัวไว้ 14 วัน เราควรจะล็อกทั้งหมดได้ภายใน 21 วัน อยู่ ๆ มาขยายเป็น 30 เม.ย. เป็น 40 วัน คำถามว่าใช้องค์ความรู้อะไรมาขยายเป็น 40 วัน…ไม่มีองค์ความรู้อะไรเลยที่จะมารองรับว่าต้องปิด 40 วัน”

“ดังนั้น ถ้าถามว่าจะทำอะไรต่อจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำตอบคือ ขออย่าทำ ไม่ต้องทำ และที่ทำไปแล้ว สิ่งไหนคิดว่าไม่ใช่ก็เลิกเถอะ เพราะประชาชนเดือดร้อน และยิ่งทางเศรษฐกิจ ปิดร้านค้าถึง 12 เม.ย. จะปิดต่ออีก 18 วัน ถึง 30 เม.ย. ไหวไหมที่จะช่วยเขา ไม่มีทางพอ ปิด 22 วันหนักหนาแล้ว ยิ่งปิดเพิ่ม 18 วัน ยิ่งหนักเข้าไปอีก เลิกเถอะ ถ้าบอกว่า เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ ก็มี พ.ร.ก.ไว้อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องทำอะไร”

“ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ก็อยู่ได้โดยไม่ปิดเมือง แล้วตัวแบบของจีน คือ เมืองเดียวคือ อู่ฮั่น เมืองอื่นไม่ได้ปิดนาน แล้วอู่ฮั่นตอนนั้นระบาดหนัก รัฐบาลจีนคิดว่าทำทุกอย่างที่คิดออก เพื่อให้จบ แต่บทเรียนประเทศอื่น ๆ ที่ประยุกต์ใช้ แล้วไม่ได้ใช้ทั้งหมด อันไหนมีประโยชน์ อันไหนไม่มีประโยชน์ ทำไมเราไม่เรียนรู้จากเขา”

“ถ้าจะมีประโยชน์อย่างหนึ่งของ พ.ร.ก. ประกาศบังคับทุกคนใส่ face shield แค่นั้นแหละ น่าจะจบเลย ถ้าทำแจกได้ยิ่งดีเลย”

เขาชี้ “จุดบกพร่องใหญ่” ของรัฐบาลที่ทำไม่เข้มข้น คือ การรณรงค์ป้องกันโรค มากกว่าไปเตรียมการรักษาอย่างเดียว ถามว่าการเตรียมการรักษาต้องทำไหม ต้องทำ เพราะเราไม่รู้ว่าหากเราป้องกันไม่ได้ มีคนไข้มาเยอะมากมายเหมือนอิตาลี สหรัฐ เราก็เอาไม่ไหวเหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นจุดสำคัญอันดับหนึ่ง คือ เน้นการป้องกันโรคเป็นหลัก ใช้เงินน้อยมาก สุดท้ายแล้วเราจะทำให้โรคสงบได้ เหมือนที่เราเป็นต้นแบบถุงยางอนามัย ป้องกัน HIV

กู้เงิน 2 แสนล้านก็ไม่ช่วย

ผลข้างเคียงที่มาพร้อมกับ “โควิด-19” คือ ผลกระทบของเศรษฐกิจแทบจะหยุดหมุน กระทั่งทีมเศรษฐกิจจ่อออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อรักษาชีวิตเศรษฐกิจเอาไว้ แต่ “นพ.สุรพงษ์” เห็นแย้ง 2 แสนล้านก็ไม่พอ

“วันนี้เศรษฐกิจมีปัญหาแน่และจะหนักมากด้วย และหากยิ่งปิดร้านค้าต่าง ๆ ใช้มาตรการเข้มตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีมาตรการที่เข้มขึ้น ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 แสนล้าน ก็เอาไม่อยู่ครับ รัฐบาลต้องไปดูนโยบายรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เช่น ของอังกฤษ รัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้คนที่อยู่ในธุรกิจที่ถูกบังคับให้หยุดงาน 80% รัฐบาลทำได้ไหม ที่ไปปิดเขาทั้งหมด ไม่ว่าร้านค้าที่อยู่ในศูนย์การค้า ร้านค้าริมทางที่อยู่ในข่ายสถานประกอบการ ไปจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเขา 80% ได้ไหม นี่คือสิ่งที่อังกฤษทำ”

“มาตรการให้ภาคเอกชนกู้เงินแบบ soft loan ต่าง ๆ ไม่ช่วย เพราะคนที่หนักหนาที่สุด คือ คนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ พนักงานเงินเดือน soft loan ไม่ต้องการ เขาต้องการเงินเดือนที่ใช้ในแต่ละเดือนที่จะผ่านไป และแน่นอน SMEs ให้ soft loan เขาไม่เอา ถ้าบอกว่ารัฐบาลจ่ายเงินเดือน 80% ให้ลูกจ้างเขา ผมคิดว่า SMEs แฮปปี้”

“2 แสนล้านไม่มีทางพอ เพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของห้างร้าน เป็นความผิดของรัฐบาลที่สั่งให้เขาปิด ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยเขา”

“และถ้าหากกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปัญหาคือ IMF ตอนนี้จะรับมือไหวหรือเปล่ากับการที่เศรษฐกิจทั้งโลกกำลังจะพังลง เพราะตอนปี”40 พังเฉพาะอาเซียนกับเกาหลีใต้ แต่ปี 2563 พังทั้งโลก IMF ไม่มีเงินหรอกที่จะยันทั้งโลกและมาช่วยไทย ดังนั้นต้องช่วยตัวเองก่อน เหมือนกรณีโควิด-19 ที่ทุกประเทศต้องช่วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยใครได้”

“นพ.สุรพงษ์” ฝากถึงรัฐบาลปิดท้ายว่า การป้องกันโรคจะได้ผลเร็วที่สุด แล้วใช้เงินน้อยที่สุด จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียน แต่ยังไงเศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว ทำอย่างไรไม่ให้แย่ไปกว่านี้เท่านั้น แต่ถ้าหากไม่เน้นเรื่องการป้องกันโรค เราจะป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ และเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วจะล่มสลาย