ด่วน แจก 10,000 บาท บอร์ดดิจิทัล มีมติตั้งกรรมการดูเอกสารอีก 30 วัน

เศรษฐา ทวีสิน

นายกรัฐมนตรี ประชุมบอร์ดใหญ่ สั่งเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุดทำงานต่ออีก 30 วัน ประกบเอกสารจาก ป.ป.ช. และคณะกรรมการกฤษฎีกา

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567

ภายหลังการประชุมคที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า มีมติตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้กรอบเวลาภายใน 30 วันก่อนนำกลับมาเสนอสู่คณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งตนไม่ได้พูดว่าจะเกิดความล่าช้า เพราะ 30 วันยังอยู่ในกรอบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีการเสนออ่านตามลายลักษณ์อักษรที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ได้มีข้อเสนอมา

โดยที่ประชุมมีมติให้ดำเนินตามข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.โดยการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมข้อเท็จจริงตามสังเกตต่าง ๆ มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาเพื่อเกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตโครงการ เพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตต่าง ๆ

Advertisment

โดยที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบ การกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณณ์และเงื่อนไขของโครงการ มีบุคคลที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คณะกรรมการนโยบายทุกท่านเห็นด้วยกับรายชื่อของคณะอนุกรรมการ

คณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ จะเริ่มทำงานทันที โดยจะรวบรวมข้อเท็จจริงกำหนดระยะเวลาไว้ 30 วัน เมื่อเสร็จสิ้นจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายอีกครั้ง เพื่อนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เข้าที่ประชุมอย่างเป็นทางการ เดินหน้าเพื่อเสนอต่อ ครม.ต่อไป

“คณะกรรมการหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกว่าเพิ่งเห็นข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ในวันนี้ ต้องขอพิจารณาศึกษาอยู่ ผมยืนยันว่าได้ครับ และพิจารณาตามข้อเท็จจริง มีข้อเสนอแนะอย่างไรก็ขอให้บอกมา ถกเถียงอย่างวงกว้าง ไม่ใช่แค่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ เลขาธิการสภาพัฒน์ แต่รวมถึงกระทรวงดีอี กระทรวงพาณิชย์ ที่มาให้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน วันนี้ชัดเจน มีการพูดคุยในวงกว้าง ไม่มีการตัดการประชุม ทุก ๆ ท่านที่อยากเสนอแนะได้มีการพูดคุยอย่างครบถ้วน”

“แต่แน่นอนข้อมูล ป.ป.ช.เพิ่งมาถึงมือ และหลาย ๆ ข้อมูลเป็นข้อมูลลับ หลาย ๆ ท่านขอนำกลับไปศึกษาได้ไหม บอกว่ายินดีครับ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการทุกท่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ครบถ้วน เพราะเป็นนโยบายสำคัญ” นายเศรษฐากล่าว

Advertisment

ผู้สื่อข่าวถามว่า หนึ่งในข้อเสนอของ ป.ป.ช. ไม่ควรจะกู้เงินควรใช้งบประมาณปกติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุก ๆ อย่างจะพยายามพิจารณาใหม่ทั้งหมด ให้ทุกท่านได้มีการเสนอแนะในวงกว้าง มีการพูดคุยถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีดีพีที่ต่ำกว่าปกติ เรื่องดอกเบี้ย หรือหลาย ๆ เรื่องซึ่งเราให้ความสำคัญ

นายกรัฐมนตรียืนยันว่าคณะกรรมการเห็นว่า ต้องมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่การประชุมแค่วงนอกหรือวงย่อยเพื่อความโปร่งใส ทุกฝ่ายจะได้เสนอแนะอย่างชัดเจน

เมื่อถามว่าระยะเวลา 30 วัน จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็น่าจะต้องมี เพราะเป็นข้อกำหนดไว้แล้วจากการประชุมตกลงไว้แบบนั้น

เมื่อถามว่าหากเป็นเงินกู้อาจจะไม่ทันภายในปีนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ทราบเลย ที่ไหนจะต้องรอฟังความคิดเห็นก่อนว่าจะเป็นวิธีไหน
เมื่อถามว่าจะบอกกับประชาชนที่รอความหวังในเรื่องนี้อย่างไร เพราะต้องรอออกไปอีก 30 วัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มันคือ fact หรือข้อเท็จจริง ถ้าเกิดเร่งทำไป ก็อาจจะมีหลายภาคส่วนที่บอกว่าทำไมต้องเร่ง เดี๋ยวก็มีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ แต่เราเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างเช่นวันนี้กระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่ากำลังซื้อหดลงมาก แต่หากเรามัวแต่ทำเรื่องเก่า ๆ ก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ แต่หากจะต้องช้าออกไป เพื่อความถูกต้องและเลือกความถูกต้องและได้รับความคิดเห็นในวงกว้าง ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วและแต่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าไทม์ไลน์จะขยับไปจากเดิมหรือไม่ หรือจะต้องไปใช้งบประมาณในปี 2568 หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น ก็แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับข้อสรุปว่าจะออกมาอย่างไร

เมื่อถามว่าช้าแต่ชัวร์ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ใช่ครับค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะช้าด้วยหรือเปล่า เพราะตอนนี้ยังไม่ทราบว่าข้อเสนอแนะคืออะไร ถ้าทุกคนสรุปออกมาว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตแล้ว มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาแล้วและทุกภาคส่วนสบายใจ ว่าสามารถกำกับดูแลเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสได้ หรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบดูแลแต่ละหน่วยงานตอบคำถามพี่น้องประชาชนได้ ก็เชื่อว่าจะเดินต่อได้เร็ว”

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่าข้อเสนอของ ป.ป.ช. ข้อหนึ่งเสนอว่าให้แต่กับคนที่เปราะบางเท่านั้นจะทบทวนหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ผมได้ทบทวนไปแล้ว ถ้าย้อนเวลาไปได้ตอนต้นเดือน หลายท่านแนะนำว่าอย่าแจกคนรวย เหตุผลที่ล่าช้ามา ผมได้ถามกลับไปกับคนที่แนะนำ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าคนรวยต้องเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครบอก”

“เราเองก็ไปคิดมาว่า คนรวยคือเงินเดือน 70,000 ผมก็ถูกต่อว่ากลับมาว่าเงินเดือน 70,000 แต่มีหนี้ ล้นพ้นตัวไม่ใช่คนรวยและอยากได้ด้วยแล้วจะให้ตัดตรงไหน นโยบายทีแรกเราบอกว่าแจกทุกคน ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป แต่พอได้รับฟังความคิดเห็นมาบอกว่า ให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงอยากให้บอกมาเป็นเอกฉันท์เลย ว่ากลุ่มเปราะบางนั้นเท่าไหร่ แล้วมานั่งพูดคุยกันดีกว่า”

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การแจกเงินดิจิทัล จะเกิดขึ้นแน่นอนใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังจากที่คณะกรรมการประชุมกัน

เมื่อถามว่า ไทม์ไลน์การแจกเงินจะขยับออกไป นายกฯรีบกล่าวสวนว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะขยับหรือเปล่า ซึ่งต้องฟังความคิดเห็นก่อน จะมีวิธีไหนอย่างไร

“ที่บอกว่าจะล่าช้าออกไป ผมยังไม่ได้บอกว่าจะล่าช้าออกไป ซึ่งยังไม่ทราบว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ต้องฟังจากคณะกรรมการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดประชุม ว่า วันนี้มาประชุมเรื่องนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เป็นการประชุมครั้งแรกในปีนี้ ตามที่ได้นัดหมายไว้ต้องขออนุญาตกล่าวว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไป โดยมีจุดประสงค์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัล ให้กับประเทศไทยในอนาคต

“ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินงบประมาณรวม 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการนี้ให้สำเร็จและลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะปฎิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย มีความรอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน โดยส่วนรวมและรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด” นายกรัฐมนตรีกล่าว