“คลัง” บีบ “บีทีเอส” จ่ายหนี้แทน กทม. สิ้นปีเปิดหวูดสายสีเขียว “สมุทรปราการ”

ยังลุ้นระทึกภายในเดือน ธ.ค. 2561 จะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ระยะทาง 12.8 กม.ได้ตามเป้าหรือไม่

เมื่อ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ยังทำแผนชำระหนี้ก้อนโตกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้ง “แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ที่รับช่วงโอนต่อจาก “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ยังไม่สะเด็ดน้ำ รอสภากรุงเทพมหานครเปิดไฟเขียวก่อนถึงจะเดินหน้าทุกอย่างได้สะดวกโยธิน

แม้ว่าคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ “กทม.-รฟม.” เซ็นไปก่อนหน้านี้ มี “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะอนุมัติแผนชำระหนี้ตามที่ กทม.เสนอ

จะขอยืดเวลาชำระหนี้ 10 ปี และให้รัฐอุดหนุนการขาดทุน จะชำระคืนทั้งต้นและดอกเบี้ยหลังสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสสิ้นสุดในปี 2572

ขณะเดียวกันให้ “สบน.-สำนักบริหารหนี้สาธารณะ” ไปพิจารณารายละเอียดหาวิธีการเงินอุดหนุนที่ กทม.ขอให้รัฐช่วย

ซึ่ง “สบน.” มีข้อสรุป ค่าก่อสร้างงานโยธาจะปรับโครงสร้างหนี้โดยกระจายการชำระคืนค่างานดังกล่าวให้ กทม.ในปี 2573 วงเงิน 44,429 ล้านบาท ที่ผ่านมาได้จัดสรรงบประมาณชำระไปแล้วถึงปี 2560 วงเงิน 7,356 ล้านบาทเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเงินกู้

ส่วนค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า ไม่รวมค่าขบวนรถ วงเงิน 32,373 ล้านบาท แยกเป็นค่าระบบ 22,373 ล้านบาท และค่าดอกเบี้ย 10,000 ล้านบาท ซึ่ง “กทม.” ขอชำระค่าดอกเบี้ยปีละ 1,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2562-2572 และชำระค่างานระบบคืนในปี 2573-2576

ล่าสุด “สบน.” ย้ำหนักแน่นไม่สามารถให้ กทม.กู้ต่อเพื่อจ่ายดอกเบี้ยใน 10 ปีแรกได้

แต่มีข้อเสนอให้ “กทม.” ไปเจรจา “บีทีเอส-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ”ผู้รับจ้างเดินรถทั้ง 2 เส้นทางให้ช่วยชำระค่างานระบบทั้งหมดในปี 2563

แล้วกระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ต่อให้ “กทม.” เพื่อชำระคืน จะทำให้ กทม.ประหยัดดอกเบี้ยไปได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “กทม.” จะกู้เงินต่อจากกระทรวงการคลังได้ ก็ต้องออกข้อบัญญัติในการกู้เงินและเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนถึงจะดำเนินการทุกอย่างได้

ด้าน “ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ” ประธานสภา กทม. กล่าวว่า จะมีประชุมสภา กทม.วันที่ 4 เม.ย.นี้ ยังไม่มีวาระเรื่องการรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก รฟม.เข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งหากจะบรรจุต้องมีการประชุมหารือกันนอกรอบก่อน ถึงจะมีการนำมาพิจารณาได้

ถึงที่สุดหาก “สภา กทม.” ไม่ยอมกดปุ่มไฟเขียว ทุกอย่างก็จบเห่ !

แต่เพื่อให้โครงการได้เดินหน้า “รฟม.” เตรียมแผนสำรองไว้ จะหาเอกชนมาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่กว่าขั้นตอนจะยุติน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี

ยกเว้นเอกชนยอมลงทุนให้ไปก่อน โอกาสที่สายสีเขียว “แบริ่ง-สมุทรปราการ” จะเปิดบริการได้ตามแผนก็น่าจะมีลุ้น !