อสังหาน่าหนักใจปี 2567 “ไม่ลงทุนเกินตัว-เพลย์เซฟ-Wait & See”

อสังหา

เวลคัมปีใหม่ 2567 นักธุรกิจฝากความหวังเป็นปีมังกรเหินฟ้า แต่ชีวิตจริงล้วนไม่ได้ดั่งใจเสมอไป

ก่อนหน้านี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ตอบคำถามถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ว่า …น่าหนักใจ เพราะยังมีปัจจัยกดดันรอบทิศ

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจข้อคิดเห็นกูรูวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย 6 ราย ปัจจัยกดดันภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย หรือปัจจัยน่าหนักใจ 3 เรื่องหลักในปีมังกรมีอะไรบ้าง แนวทางการปรับตัวรับมือสถานการณ์ และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเศรษฐาอย่างไร มาตรการอะไรที่อยากให้รัฐบาลทำทันที ไม่ต้องรอ

เทรนด์ทรงตัวขอ Wait & See

ประเดิมด้วย “ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการ บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) อดีตนายกสมาคมอาคารชุดไทย นำเสนอดังนี้

1.กำลังซื้อตกต่ำ รัฐต้องช่วยตอบโจทย์ข้อนี้ ควรออกมาตรการสนับสนุนนโยบายบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 5 ล้าน ด้วยการช่วยเรื่องดอกเบี้ย เพื่อให้งวดผ่อนต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจากกระทรวงการคลัง หรือแบงก์ชาติ เพื่อผู้บริโภคจะรู้สึกว่าทำให้อยากซื้อมากขึ้น

Advertisment

“ดอกเบี้ยบ้านตอนนี้ลูกค้าได้รับ 3-4% ให้รัฐบาลช่วยให้ลดลง 1-2% ค่อย ๆ ลดเป็นขั้นบันได ทำให้งวดต่ำลง ความรู้สึกอยากซื้อมากขึ้น นี่คือการหนุนด้านกำลังซื้อ”

2.รัฐต้องช่วยเป็นเจ้าภาพ คุยกับเครดิตบูโร แบงก์พาณิชย์ ในประเด็นการเข้มงวดพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งโควิด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤตของโลก จึงเป็นกรณียกเว้นที่อาจจะต้องลดเครดิตสกอริ่ง เพราะการใช้เครดิตสกอริ่งปกติมาคิดคำนวณการให้สินเชื่อ จะลำบากกับผู้ขอสินเชื่อที่รับผลกระทบกำลังซื้อลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจ

“อาจจะต้องหาสูตรการคิดตัวเลขตรงนั้น ไม่ว่าเครดิตบูโรหรือธนาคารพาณิชย์ โดยที่รัฐต้องเป็นเจ้าภาพ เหมือนกับการเอาหนี้นอกระบบมาเข้าระบบ ไม่ใช่เรื่องแล้วแต่เขา ตอนนี้ทุกคน (สถาบันการเงิน) จะเพลย์เซฟตัวเองทั้งสิ้น ในอดีตไม่เคยเข้มงวดขนาดนี้ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไม่ดียิ่งเข้มงวดกว่าปกติ เหมือนกับพอฝนตกปั๊บก็เอาร่มคืน ข้อวิงวอนก็คืออยากให้ปรับสูตรพิจารณาการให้สินเชื่อใหม่ เพื่อให้คนอดออมมาซื้อที่อยู่อาศัย แทนการใช้ฟุ่มเฟือย แต่สนับสนุนให้ออมเงินผ่านการซื้อบ้าน”

3.ลดต้นทุนผู้ประกอบการ เพื่อให้บ้านราคาถูกน่าซื้อ วิธีการขอให้พิจารณาลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เชื่อว่าถ้ารัฐผ่อนผันให้ ผู้ประกอบการทุกคนจะนำส่วนลดตรงนี้มาลดราคาขายเอง ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในราคาที่ต่ำลง

Advertisment

“เทรนด์อสังหาฯพี่พูดมาตั้งแต่ปี 2565 ว่า ปี 2566 มีแต่จะทรงตัว จบปีแล้วก็เห็นว่า 2566 ไม่ดีเลย แต่ต้นทุนค่าจ้าง ค่าใช้จ่าย ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายทรงตัว ปี 2567 แนวโน้มดีขึ้น แต่ดีแบบช้า ๆ และดีเป็นรายเซ็กเตอร์ กลุ่มกำลังซื้อกลาง-บนคิดว่าดีขึ้น กลุ่มกลาง-ล่างอาจทรงตัว ภาระหนี้คนระดับล่างยังไม่ดีขึ้น แม้จะเปลี่ยนหนี้นอกระบบเข้าในระบบ เพราะรายได้ยังไม่สูงขึ้น”

“บทสรุปคือ แผนธุรกิจปี 2567 ไม่ค่อยกล้าบุก Wait & See มากกว่า ดูข้อมูลก่อนดีกว่า เจ็บมาหลายรอบ ถ้ามีสัญญาณอะไรชัดเจนก็พร้อมลุยได้เลย แต่ตอนนี้คิดว่าการรักษาแคชโฟลว์จะดีที่สุด”

เสนอรีโมเดล-ดึงกำลังซื้อต่างชาติ

ถัดมา “กวีพันธุ์ เอี่ยมสกุลรัตน์” ประธานกรรมการ เค.อี.กรุ๊ป เจ้าตลาดระดับลักเซอรี่และแลนด์ลอร์ดย่านเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา กล่าวว่า เรื่องน่าหนักใจสอดคล้องกับ ดร.อาภา โดยประเด็นแรกสุดมาจากปี 2566 คณะกรรมการการเงิน หรือ กนง. ของแบงก์ชาติ ขยันขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทำให้มีภาวะดอกเบี้ยสูง เฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 4% เสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้ลดลง 1-2%

2.หนี้ครัวเรือน 90% กว่า แต่ถ้านับหนี้นอกระบบด้วยจะสูงกว่านี้ รัฐจึงต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้คน ตอนนี้เหมือนกับรายได้กระจุกบริษัทใหญ่ ๆ ไม่กระจายมายังกลุ่มผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก ทำให้เศรษฐกิจ Consumer Spending น่าจะเหนื่อย ซึ่งวงการที่อยู่อาศัยรับผลกระทบหลัก ๆ คือ ดอกเบี้ย ค่างวด ราคาบ้านซื้อได้หลังเล็กลง

3.ที่เหลือเป็นเรื่องน่าหนักใจในภาพรวม ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การขาดปัจจัยสนับสนุนลูกค้าต่างชาติ รวมทั้งแนวโน้มคนเริ่มหันไปลงทุนอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนดีกว่าลงทุนอสังหาฯ “…คนที่ซื้ออสังหาฯ มีส่วนหนึ่งซื้ออยู่เอง ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุน เมื่อก่อนไม่มีทางเลือก ดอกเบี้ยแบงก์ 0.5-0.75% แต่ตอนนี้มีทางเลือกลงทุนอย่างอื่น”

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเศรษฐา 1.มาตรการกระตุ้นต้องต่ออายุ ลดค่าโอน ค่าจำนอง เพราะดอกเบี้ยขึ้นสูง คนจะผ่อนต้องมีรายได้น้อยลง

2.สนับสนุนกำลังซื้อต่างชาติ โฟกัสประเด็นสิทธิการเช่า หรือลีสโฮลด์ เสนอว่าควรขยายจาก 30 ปี เพิ่มเป็น 60 ปี ทำให้ลูกค้าต่างชาติตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะใกล้เคียงกับการถือกรรมสิทธิ์ หรือฟรีโฮลด์ ควบคู่กับการปรับปรุงเงื่อนไขการจดทะเบียนลีสโฮลด์ที่จะนำไปเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อ ปัจจุบันยังทำได้ลำบาก

3.เสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีซื้ออสังหาฯของคนต่างชาติ ซึ่งเป็นโมเดลที่ต่างประเทศใช้กันแพร่หลายทั่วไป ทั้งสหรัฐ สิงคโปร์ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์เคยจัดเก็บภาษีซื้ออสังหาฯของคนต่างชาติ 30-40% ล่าสุดเพิ่งปรับขึ้นเป็น 60% ในขณะที่ไทยเปิดโอกาสให้ต่างชาติซื้อคอนโดฯในโควตา 49% แต่ภาษีเท่ากับคนไทย ซึ่งน่าจะหยิบโมเดลนี้มาพิจารณาใหม่

“ปีมังกร อสังหาฯคงยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ต้องเพลย์เซฟ ปี 2566 ในวงการก็เพลย์เซฟกันนะ จะเห็นว่าไม่ค่อยมีใครเปิดโครงการกันเยอะ ปัญหาของเมืองไทย คือ ที่ดินมีเยอะ โครงการใหม่ ๆ ก็ขึ้นได้เรื่อย ๆ โครงการเก่า ๆ รีเซล เซกันด์แฮนด์มูฟเมนต์น้อยหน่อย ปีนี้ต้องตั้งการ์ดสูง แต่บางโปรดักต์ซัพพลายไม่ค่อยมี เช่น คอนโดฯไฮเอนด์มาก ๆ ตร.ม.ละ 7-8 แสน ซัพพลายไม่ค่อยมีเพราะหาที่ดินยาก”

จับสัญญาณลูกค้าวอล์กอินลดลง

ผู้บริหารเบอร์ 1 ของ CPN Residence “ร.อ.กรี เดชชัย” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CPN Residence จำกัด หน่วยลงทุนธุรกิจที่อยู่อาศัยในเครือเซ็นทรัลกรุุ๊ป กล่าวว่า ปี 2566 ต้องยอมรับกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องมากนัก จากภาคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก

ภาคธุรกิจอสังหาฯ Pain Point สำคัญยังอยู่ที่สถาบันการเงินเข้มงวดการให้สินเชื่อ บวกกับเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ซ้ำเติมกำลังซื้อลูกค้าคนไทย ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยโดยตรง

“CPN มี 2 พอร์ต บ้านไฮเอนด์ 15-30 ล้าน กับคอนโดฯที่มีโครงการเยอะในต่างจังหวัด คอนโดฯห้องเล็กตลาดต่างจังหวัดกลายเป็นดี เพราะคนมีตังค์ซื้อเป็นห้องชุดตากอากาศ ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่สินค้าบ้านเราทดลองทำทาวน์เฮาส์ที่พิษณุโลก ราคาเฉลี่ย 2.5 ล้าน ยังเหนื่อยเพราะกู้ไม่ผ่าน การขายบ้านยังเหนื่อย ยังสู้กันหนัก”

เรื่องน่าหนักใจวงการอสังหาฯ จึงผสมปนเปกันทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และปัญหากู้ไม่ผ่านในระดับสูง

“ปี 2566 สังเกตว่าลูกค้าวอล์กอินโครงการน้อยลง แสดงว่าคนสนใจซื้อน้อยลง เข้าใจว่าเป็นภาพรวมที่มีผลกระทบแบบนี้”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่อยู่อาศัยวางเป้าสร้างยอดรับรู้รายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทในอนาคตอันใกล้ เฉลี่ยปีล่าสุดอยู่ที่ 6 พันล้านบาท เป้าปีมังกรยังเดินหน้าสร้างการเติบโตของยอดรับรู้รายได้ที่ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบกับคอนโดฯอย่างละครึ่ง/ครึ่ง

“CPN Residence ก็ลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เบาอะไร อาจเพราะฐานยังไม่สูงมาก เรายังมองตัวเลขรายได้หมื่นล้าน ที่ผ่านมาตัวเลขก็ยังโตไปเรื่อย ๆ ในตลาดเซ็กเมนต์ที่เราถนัดยังมีรูมให้เล่น เพียงแต่คู่แข่งเยอะ เหนื่อยกว่าเดิมเพราะแข่งขันกันหนัก”

2567 อย่าเสี่ยงถ้ายังไม่พร้อม

ขณะที่ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ประเด็นน่าหนักใจปีมังกร 1.ยังเป็นเรื่องหนี้ ซึ่งก็คือหนี้ครัวเรือน คนอาจจะอยากได้ที่อยู่อาศัยแต่ซื้อไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลบริหารจัดการให้หนี้ครัวเรือนกลับไปเหมือนยุคก่อนโควิดที่ 80% กลาง ๆ ซึ่งจะทำให้ตลาดรวมกลับมาเฮลตี้ได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยอมรับว่ไม่ใช่เรื่องง่าย

2.อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ไม่เฮลตี้กับการใช้ชีวิตของคนไทย นักธุรกิจ หรือเอสเอ็มอีเลย แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นเกินเลเวลที่ทำธุรกิจแล้วจะแข่งขันได้ จึงเป็นภาระด้านต้นทุน

“…อาจจะวิงวอนไปถึงแบงก์ชาติว่า เราจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยขนาดนี้เลยเหรอ เงินเฟ้อเราก็ต่ำ จีดีพีเราก็ต่ำ จริง ๆ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติหลายคนก็บอกมาว่าไม่แมตช์ ผมว่าการใช้วิชาการต่าง ๆ สุดท้ายต้องมานั่งหารือเอกชน ต้องฟังเราด้วย ต้องฟังประชาชนด้วย”

3.อยากให้รัฐบาลออกมาดูแลภาคอสังหาฯ หรือภาคการท่องเที่ยว มองในโมเดลของจีดีพี เช่น ดึงต่างชาติมาช็อปซื้ออสังหาฯเมืองไทย จะเป็นจีดีพีใหม่ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ถ้ารัฐบาลอยากได้กระตุ้นจีดีพี สามารถกระตุ้นผ่านการใช้เครื่องมืออสังหาฯ ทั้งลูกค้าคนไทย-คนต่างชาติ ซื้อเป็นบ้านหลังที่ 1-2-3 ต้องมีมาตรการออกมากระตุ้น

นายกสมาคมคอนโดฯมองแนวโน้มปีมังกรด้วยว่า ปี 2566 เคยประเมินกันว่าจะฟื้น แต่สรุปของจริงเป็นการฟื้นหลอก (หัวเราะ) ในภาพรวมปีที่แล้ว จีนโอนคอนโดฯจำนวนรวมเท่าไหร่ คาดว่าปีมังกรก็ไม่น้อยกว่าเดิม แต่อาจจะไม่มากอย่างที่เราอยากได้

“ลูกค้าคนจีนหายไป ถามว่าภาคท่องเที่ยวกระทบไหม ผมไม่รู้สึก ถามว่าเป้านักท่องเที่ยวเข้าไทย 25 ล้านคน ผมมองว่าทำได้ตามเป้า ขึ้นกับเป้าใคร ปีมังกรมองส่วนตัวคิดว่าเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 30-35 ล้านคน ตัวเลขมินิมั่ม 30 ล้านคน ควรจะได้ ข้อดีคือเมืองไทยไม่มีจีนก็อยู่ได้แล้ว เพราะ Spend per Head เยอะขึ้น ใน 25 ล้านคนของปี 2566 ดีกว่า 38 ล้านคนตอนปี 2019 ก่อนโควิดด้วยซ้ำไป”

ดังนั้น ข้อเสนอต่อรัฐบาลอยากให้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยมีภาคท่องเที่ยวที่ไม่เห็นรัฐโปรโมต นั่นคือ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Health Tourism ดึงคนต่างชาติมารักษาพยาบาล ผ่าตัด การแพทย์ไทยมีชื่อเสียงที่ดี มาพักฟื้น Wellness Tourism คิดว่าเป็นตัวหลักที่ไทยเราเจ๋งจริง

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย มีข้อเสนอแนะต่อสมาชิกดีเวลอปเปอร์ในวงการอย่างไรบ้าง

“อย่าเสี่ยงถ้าไม่พร้อม (หัวเราะ) เพราะว่าปีหน้าแบงก์จะมีเกณฑ์สินเชื่อแข็งกว่าเดิม ทั้งการปล่อยกู้ เป็นทั้งระบบพรีไฟแนนซ์ โพสต์ไฟแนนซ์ (ยังไม่ใช่เกมของรายกลาง รายเล็ก) ให้มองข้ามไปปี 2568 เลย ปี 2567 พักร้อนไปก่อน”

ดีเวลอปเปอร์พึงประหยัด-ระวัง

อีกราย “กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา” กรรมการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จัดเต็ม 3 เรื่องน่าหนักใจ เริ่มต้นจาก 1.เรื่องกำลังซื้อ ซึ่งก็มาจากหนี้ครัวเรือน เป็นโจทย์แก้ยาก คนจะมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจต้องดีก่อน ดังนั้น หนี้ครัวเรือนจึงน่ากังวล

2.นโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะผังเมืองรวม ต้องมีความชัดเจน ทำได้จริง เพราะการที่ผังเมืองถูกแช่แข็งยาวนาน ทำให้ดีเวลอปเปอร์ชะลอการลงทุน ที่ดินมีศักยภาพแต่ผังเมืองยังไม่เปลี่ยน ก็ยังทำอะไรไม่ได้

3.ปัจจัยกระทบจากภายนอก เช่น สงคราม และ Unknown Factor เพราะประเทศไทยพึ่งการใช้จ่ายภายในประเทศอย่างเดียวไม่ค่อยได้ ต้องพึ่งรายได้จากตลาดโลกด้วย

แนวทางการปรับตัวรับมือปีมังกร สูตรที่ออกมา คือ ต้องระวังตัว ต้องประหยัด จะลงทุนอะไรต้องพิธีรีตอง ต้องดูแล พิจารณาให้ดี ต้องระวังตัวอย่างสูง

บริหารสภาพคล่องเหนือผลกำไร

สุดท้ายกับ “วสันต์ เคียงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวเข้าประเด็นเรื่องน่าหนักใจว่า 1.กฎระเบียบต่าง ๆ ที่อาจจะไม่เข้ากับสถานการณ์ เช่น LTV ภาษีที่ดิน ราคาประเมินที่ดินที่จะขึ้น-ไม่ขึ้น ซึ่งเป็นภาระในขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมยังไม่ดี ทำให้ต้นทุนเพิ่มเยอะ

“ภาษีที่ดินเราโดนทั้งแลนด์แบงก์ ที่รกร้างว่างเปล่า 3 ปีเบิ้ลในอัตราสูงสุด, อีเวนทอรี่สร้างขึ้นมา ขายช้า โดนอีก และโดนอัตราสูงสุดด้วย (ล้านละ 3,000 บาท) ไม่ใช่อัตราที่อยู่อาศัย (ล้านละ 200 บาท), LTV (บังคับเงินดาวน์แพง) ทั้ง ๆ ที่ยุคหลังโควิดไม่มีการเก็งกำไรแล้ว ควรอนุโลมให้ลูกค้าสินเชื่อไปต่อได้ เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ น่าจะผ่อนคลายหน่อย ในช่วงเศรษฐกิจ 3 ไตรมาส 1.9% ไม่ธรรมดา มีอะไรรัฐบาลควรจะช่วยลดภาระ อย่าเพิ่งเพิ่มภาระให้ประชาชน”

2.ประเด็นเข้มงวดสินเชื่อ แม้จะเข้าใจแบงก์ว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง ก็เลยระวังเป็นพิเศษ แต่แบงก์ยิ่งระวัง ยิ่งแย่ลงไปเรื่อย ๆ ซ้ำเติมเข้าไปเรื่อย ๆ

“ตอนนี้การให้สินเชื่อ คนยังมีรายได้สม่ำเสมออยู่ เพียงแต่ราคาที่ซื้อก็ต้องเหมาะกับรายได้เขา ผมมองว่าน่าจะมีมาตรการอะไรที่ผ่อนคลายได้ หรือตรงไหนอาจจะมีความเสี่ยง โมเดลในต่างประเทศ สมมุติกู้ 90% อาจมีความเสี่ยงสูงที่ 10% ก็อาจมีอัตราดอกเบี้ยสูงนิดหนึ่งเฉพาะ 10% นั้น พอผ่อนครบ 10% นั้น ก็กลับมาดอกเบี้ยต่ำปกติก็ได้ เท่ากับช่วยคนละไม้คนละมือ”

3.ความเชื่อมั่นผู้บริโภค คนที่มีตังค์และแบงก์พร้อมจะปล่อย แต่เขากังวลว่าอนาคตจะเป็นยังไง เศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เขาคอมมิตจะต้องกู้ 15-20 ปี เขาจะโอเคไหม ถ้ารัฐบาลสามารถให้ความเชื่อมั่นได้ หรือมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลาดคึกคัก มีมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ นานา ทั้งภาคอสังหาฯและไม่ใช่อสังหาฯ เพื่อทำให้บรรยากาศคึกคัก กำลังซื้อจะกลับมาโดยปริยาย

สำหรับปีมังกร สไตล์การทำธุรกิจก็ต้องคอนเซอร์เวทีฟอยู่แล้ว เป็นวิธีที่กลุ่มธารารมณ์ทำอยู่ เพราะปีมังกรคาดว่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีปัจจัยอะไรทำให้ดีปรู๊ดปร๊าด เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด ควรจะให้ความระมัดระวังเรื่องสภาพคล่องเหนือ Growth หรือผลกำไร

“ขาดสภาพคล่องคือเจ๊ง แต่ถ้าขาดทุนกำไรไตรมาสหนึ่ง หรือปีหนึ่ง มันไม่ถึงกับเจ๊ง หรือไม่โต แต่ยังมีกำไร อย่างนี้ควรจะแฮปปี้ได้แล้ว”

สรุปของสรุป ปีมังกรสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ อย่าโอเวอร์อินเวสต์ ขึ้นโครงการใหม่ ขึ้นเฟสใหม่เยอะเกินไป ลงทุนไปแล้วเงินจะไปจม จะมีปัญหาได้

มุมคิดที่ “วสันต์” ฝากถึงผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์ในปีมังกร สำหรับคนที่มีความพร้อม เป็นจังหวะในการซื้อ ในการต่อรอง เป็นปีทองของคนซื้ออีกปีหนึ่ง

“ปีมังกร คนซื้อสามารถต่อรองกับแบงก์ กับผู้ประกอบการ แต่ถ้าคนที่ยังไม่พร้อม ค่อย ๆ ทำตัวให้พร้อม เริ่มมีการออมเงินดาวน์เริ่มต้นอะไรบ้าง การซื้อบ้านอาจจะชะลอไป 1-2 ปี ไม่เป็นไร แต่มันปลอดภัยกว่า”