“พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ” บิ๊กการทางฯ เปิดใจอยากสร้างทางด่วน 2 ชั้น

แฟ้มภาพ

สัมภาษณ์พิเศษ

ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล คสช. นั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่ออีกสมัย “บิ๊กอ้วน-พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ” อดีตรองเสธ.ทบ. วัย 61 ปี ได้เปิดใจกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการใหญ่ทั้งระบบ หลังขาดช่วงการลงทุนมาหลายปี

Q : ทางด่วนสายใหม่ที่จะก่อสร้าง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 มิ.ย. 2560 อนุมัติให้ใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ (TFF) 44,819 หมื่นล้านบาท สร้างทางด่วน 2 สาย คือ พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 30,437 ล้านบาท รูปแบบเป็นสะพานแขวน 8 ช่องจราจร คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 แล้วสร้างทางยกระดับบนเกาะกลางถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับวงแหวนตะวันตก อีกสายคือทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เกษตร-นวมินทร์ เชื่อมวงแหวนตะวันออก 11.9 กม. ลงทุน 14,382 ล้านบาท

Q : ผลกระทบที่เลื่อนจัดตั้ง TFF ไปปีหน้า

โครงการไม่ได้หยุดนิ่ง ผมบอกเลยว่า TFF ไม่ได้มีผลทำให้ล่าช้า เพราะรัฐให้ กทพ.กู้เงินระยะสั้น 4,000-5,000 ล้านบาท สร้างไปก่อน พอ TFF จัดตั้งได้ก็ใช้เงินจากกองทุน ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนร่างสัญญารับสิทธิการโอนรายได้อนาคตจากทางด่วน 2 สาย คือ บูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) กับฉลองรัฐ (อาจณรงค์-รามอินทรา) ต้องโอนให้กองทุน 45% ที่เหลือ 55% เป็นของ กทพ. จะมีผู้จัดการกองทุนมาดูแล แต่ไม่รู้ว่าผลตอบแทนมีการตอบรับจากตลาดเท่าไหร่ ประมาณการขั้นต้นอยู่ที่ 8% คาดว่าจะได้เงิน 49,000 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 47,000 ล้านบาท ถ้าขายในตลาดคงได้ราคาแพงขึ้น อาจจะถึง 60,000-64,000 ล้านบาท

Q : ปีนี้จะเริ่มประมูล

เริ่มสายพระราม 3 หลัง ก.ย.ปีนี้ ตอนนี้กำลังเปิดคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง เพื่อร่างทีโออาร์แบ่ง 5 สัญญา งานก่อสร้าง 4 สัญญา แยกเป็นทางยกระดับ 3 สัญญา ค่าก่อสร้างเฉลี่ยสัญญาละ 6,000-7,000 ล้านบาท งานสะพาน 1 สัญญา 8,042 ล้านบาท งานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจรและสื่อสารอีก 1 สัญญา 990 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาและเริ่มสร้างได้ในเดือน มี.ค. 2561

Q : โปรเจ็กต์ต่อจากสายพระราม 3

เร่งสาย N2-วงแหวนตะวันออก รออนุมัติรายงานอีไอเอ (ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ที่ทำเพิ่มเติม เพราะลดขนาดรูปแบบจาก 6 เหลือ 4 ช่องจราจร คงใช้เวลาไม่นาน ทำคู่ไปกับขั้นตอนขออนุมัติโครงการ เพราะ ครม.อนุมัติแค่แหล่งเงินลงทุน เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้จะเสนอกระทรวงคมนาคม ไม่เกินสิ้นปีนี้จะเข้า ครม. เปิดประมูลปลายปีหน้า เริ่มสร้างปี 2562 ค่าผ่านทาง 20 บาท

ส่วน สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) กำลังศึกษารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) สร้างควบคู่กัน ขึ้นอยู่กับนโยบายคมนาคม แต่ดูแล้วไปด้วยกันไม่ได้ เพราะโครงสร้างที่สร้างรอไว้ไม่พอ ถ้านโยบายไม่ให้สร้างทางด่วนก็ไม่เป็นไร

Q : สนข.จะขยายแนวเชื่อมโทลล์เวย์กับศรีรัช-วงแหวน

เป็นแนวคิดที่ดี ทาง คจร. (คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก) อนุมัติแล้ว รอสรุปใครจะเป็นเจ้าภาพ เพราะเชื่อม 3 สัญญาสัมปทาน คือ ด่วนศรีรัชเก่า ศรีรัชใหม่ (ศรีรัช-วงแหวนตะวันตก) กับสัญญาโทลล์เวย์ของกรมทางหลวง ทั้งโทลล์เวย์ (บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง) กับ BEM (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ) สนใจจะร่วมลงทุน ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งคู่ ยังไม่รู้จะเก็บค่าผ่านทางหรือไม่ แต่ใจผมแค่ 3-4 กม. ไม่ควรเก็บ เพราะจ่ายค่าโทลล์เวย์ ทางด่วนไปแล้ว แต่การบริหารจัดการจะยุ่งยากเพราะคนละสัญญา

Q : แนวทางแก้ปัญหารถติดบนทางด่วน

อยู่ที่วินัยการขับรถ ยิ่งมีอุบัติเหตุจะชะลอดู ขณะนี้พยายามแก้ปัญหาคอขวด สร้างทางขึ้น-ลงเพิ่ม วันที่ 17 ส.ค.นี้เริ่มสร้างแลมป์เชื่อมด่วนศรีรัชใหม่กับด่วนแจ้งวัฒนะ รับรถจากฝั่งธนฯขึ้นไปด้านเหนือ ซึ่ง BEM ลงทุนให้ 275 ล้านบาท ฟรี เร่งให้เสร็จในเดือน เม.ย.-พ.ค.ปีหน้า เร็วกว่าสัญญาที่กำหนดไว้ 18 เดือนปริมาณจราจรบนทางด่วนทุกระบบอยู่ที่ 1.8 ล้านเที่ยวคันต่อวัน หนีไม่พ้นต้องเจอปัญหารถติด เพราะรถเยอะ ถนนไม่พอ จะขยายทางเพิ่มก็ไม่มีที่แล้ว ต้องสร้างข้างบนอีกชั้น

ผมมีแนวคิดจะสร้างทางด่วนศรีรัช เฉลิมมหานคร เป็นทางด่วน 2 ชั้น ให้นโยบายไปแล้ว 2 ปี ยังไม่คืบหน้าหลังสายพระราม 3 ลงตัว จะเร่งโครงการให้เป็นจริง รับรถที่ไม่ลงทางแยกให้วิ่งขึ้นยาวไปเลย จะช่วยแบ่งเบาจราจรได้ 30% เช่น วิ่งจากบางซื่อไม่ลงพระราม 6 ยมราช วิ่งขึ้นอีกชั้นยาวไปเลย คนนึกว่าผมบ้า แต่วันหนึ่งต้องทำ เพื่อความสุขประชาชน อีกทั้งจะปรับด่านเก็บเงินเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องมีไม้กั้นเหมือนต่างประเทศ กำลังจะหารือกับกรมการขนส่งทางบก

Q : แผนสร้างทางด่วนต่างจังหวัด

กำลังเร่งที่ จ.ภูเก็ต สร้างทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะค่าที่ดินแพง ไร่ละกว่า 100 ล้าน ก็ต้องสร้างเพื่อลดเวลาเดินทาง ลดอุบัติเหตุ เสริมการท่องเที่ยว จะเร่งสร้างปลายปี 2561 ส่วนเชียงใหม่และขอนแก่น ในเดือน ก.ย.นี้จะลงพื้นที่เชียงใหม่ ดูความต้องการของจังหวัด

นอกจากนี้ มีโครงการต่อเชื่อมจากกรุงเทพฯ รองรับการเดินทางไปยัง 4 ภูมิภาค รอการอนุมัติอีไอเอ น่าจะได้เห็นการลงทุนภายใน 5-10 ปี มีสายอาจณรงค์-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. วงเงิน 80,594 ล้านบาท แต่สร้างถึงแค่นครนายกก่อน เพราะรถบรรทุกเยอะ สายอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 31,426 ล้านบาท สายบูรพาวิถี-พัทยา ระยะทาง 68 กม. วงเงิน 69,423 ล้านบาท รองรับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งจะขยายสายพระราม 3-วงแหวนตะวันตก ไปถึงมหาชัย อีก 10-20 กม. กรมทางหลวงศึกษาไว้จะต่อทางด่วนเราไปถึงวังมะนาว แต่ยังไม่มีเงิน จะขอให้ กทพ.สร้าง รวมถึงจะต่อเชื่อมวงแหวนใต้ไปถึงบางใหญ่ ส่วนทางด่วนรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษยังไกลตัว

ทุกอย่างศึกษาไว้หมดแล้ว ติดอยู่ที่การหาเงินมาลงทุนเท่านั้น