ช.ถม 300 ล้าน”เมโทรมอลล์”รับสายสีน้ำเงิน

11 สาขา - ค้าปลีกใต้ดินของกลุ่ม ช.การช่าง เร่งรัดรีโนเวตสาขาเป็นลำดับ ล่าสุดสถานีจตุจักรคืบหน้าแล้ว 20% รองรับขาช็อปที่คาดว่าเพิ่มเป็น 5-5.5 แสนคน/วัน

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทรเน็ทเวิร์คส์จำกัด (BMN) ในเครือ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผยว่า การรีโนเวตพื้นที่ค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดิน Metro Mall (เมโทรมอลล์) สถานีสวนจตุจักร 2,000 ตร.ม. มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 20% คาดว่าเปิดให้บริการได้ในเดือน ม.ค. 2562 ลงทุนรีโนเวต 25 ล้านบาท และจะพัฒนา Metro Mall สถานีพหลโยธินต่อ เพื่อให้รับการเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเขียว หมอชิต-คูคต โดยจะเริ่มดำเนินการภายหลังจากสาขาสวนจตุจักรเสร็จแล้ว

ปัจจุบัน Metro Mall มีพื้นที่รวม 10,000ตร.ม. เปิดบริการแล้ว 9 สาขา ได้แก่ 1.สุขุมวิท 2.เพชรบุรี 3.พระราม 9 4.ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 5.รัชดาภิเษก 6.คลองเตย 7.กำแพงเพชร 8.สวนจตุจักร และ 9.พหลโยธิน โดยมีสถานีที่ยังศึกษาความเป็นไปได้ 2 สถานี ได้แก่ สถานีลาดพร้าวและสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่เช่าเฉลี่ย 80-90%

โดยปีนี้เริ่มรับรู้รายได้ในส่วนค้าปลีกเพิ่มขึ้นถึง 60-70% เป็นผลมาจากเปิดให้บริการกูร์เมต์มาร์เก็ตที่สถานีลาดพร้าวเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายMetro Mall รวม 70 ล้านบาท

แผนปีหน้าลงทุนรวมกับสื่อโฆษณา 100 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนเมโทรมอลล์60-70 ล้านบาท ที่เหลือเป็นส่วนของสื่อโฆษณาทั้งหมด และตั้งงบฯลงทุนสำหรับเตรียมพร้อมโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะเปิดให้บริการเดือน ส.ค. 2562 และปี 2563 จำนวน 200-300 ล้านบาทสำหรับลงทุนสื่อโฆษณาแต่ละสถานีทั้งหมด คาดว่าเมื่อส่วนต่อขยายเปิดให้บริการทั้งหมดแล้ว ทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มจาก 350,000 คน/วัน เป็น 500,000-550,000 คน/วัน ส่งผลดีต่อBMN ไปด้วย โดยสถานีที่สนใจพัฒนาในส่วนต่อขยายคือ สถานีอิสรภาพ เนื่องจากมีพื้นที่กว้าง 2,000 ตร.ม. เหมาะนำมาพัฒนา แต่ในส่วนอื่น ๆ อาจพัฒนาในรูปแบบบูทร้านค้าไป เพราะพื้นที่ยังค่อนข้างจำกัด

ในด้านการเติบโตปีนี้ตั้งเป้า 8-10% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ 615 ล้านบาท กำไรสุทธิ 40 ล้านบาท เนื่องจากมียอดผู้เข้ามาใช้บริการเมโทรมอลล์ค่อนข้างเยอะ มีโอกาสเติบโตอีกมาก และมีพันธมิตรอย่างกูร์เมต์มาร์เก็ตมาช่วยด้วยอีกแรงหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ถึงเป้าหมายได้ไม่ยากนัก ขณะที่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีความคิดอยู่แล้ว เพราะบริษัทแม่ก็มีนโยบายให้เข้า ตัว BMN เองยังมีศักยภาพต่อยอดไปอีกเยอะ คาดว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดครบทั้งหมดในปี 2563 อาจจะพิจารณาเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เพราะในปีนั้น BMN ก็น่าจะมีรายได้รวมแตะหลักพันล้านบาทแล้ว อนาคตอาจจะไม่ได้เน้นการพัฒนาในพื้นที่รถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่อาจจะพัฒนาพื้นที่บริเวณมอเตอร์เวย์หรือทางด่วนอื่น ๆ ที่ยังมีพื้นที่สำหรับทำจุดพักรถ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่