ผู้ว่ากฟน.ป้ายแดงเดินหน้าดึงสายไฟลงดินปีหน้าทุ่ม2หมื่นล้าน ลุยย่านพระราม 3-4-จรัญ-รัชดา-พระราม 9

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่จะต้องเข้ามาดำเนินการคือ การดูแลและดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่ที่ดูแลคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ภายใต้วิสัยทัศน์ “Energy for city life, Energize Smart Living” หรือ “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร”

โดยมีโครงการที่เราจะดำเนินการทั้งการเปลี่ยนสายอากาศเป็นสายใต้ดินในระยะ 5 ปี (2560-2564), การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการทำงานของระบบไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Smart metro Grid รวมถึงการพัฒนาการให้บริการภายใต้วิสัยทัศน์ smart Service Station เป็นการช่วยให้การให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัลต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน MEA Smart Life ที่จะช่วยให้ประชาชานสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าผ่านช่องทางนี้ได้ มีข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแสดงให้ด้วย โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขาของ กฟน.อีกต่อไป

ผู้ว่า กฟน. กล่าวอีกว่า ในช่วงปีใหม่นี้ กฟน.มีโครงการ “Smart Street Light” ระบบไฟฟ้าสาธารณะเพื่อชุมชนเมือง โดยเริ่มต้นติดตั้งในพื้นที่คลองแสนแสบรวม 75 ชุมชน ระยะทาง 1 กม.ก่อน สำหรับคุณสมบัติเด่นของโครงการนี้คือ เราจะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ Smart ไว้กับไฟส่องสว่างสาธารณะ และปรับปรุงโปรแกรมส่งข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุไฟชำรุด ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผู้แจ้งหรือส่งช่างไปตรวจสอบ ตัว smart Meter ที่ติดอยู่จะแจ้งข้อมูลกลับมาที่สำนักงานทันทีว่ามีไฟดวงไหนที่ชำรุดเสียหาย เราก็จะส่งช่างไปดำเนินการซ่อมแซมได้อย่างถูกจุด คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปีใหม่นี้

สำหรับในปี 2562 กฟน.ได้รับจัดสรรงบลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับนำสายไฟฟ้าลงดินประมาณ 20,000 ล้านบาท, ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าและเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นงบประมาณสำหรับพัฒนาระบบไอทีและจัดซื้อเครื่องมือก่อสร้างและยานพาหนะ ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า

ส่วนแผนการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินนั้น มีระยะดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี (2560-2564) ระยะทางที่ต้องเปลี่ยน 214 กม. ต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ​สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน มีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่ดำเนินการแล้วเสร็จ รวมระยะทาง 45.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการถนนสีลม, โครงการปทุมวัน, โครงการจิตรลดา, โครงการพหลโยธิน, โครงการพญาไท, โครงการสุขุมวิท, โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท

ส่วนระยะทางที่เหลืออีก 174 กม. ในปี 2562 จะดำเนินการในถ.จรัญสนิทวงศ์ ช่วงตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งได้ผู้รับเหมาแล้ว ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท, ถ.พระราม 4, ถ.พระราม 3 เชื่อมกับ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์, ถ.ช่องนนทรี และ ถ.รัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งจะทยอยกันมาเรื่อยๆ

ขณะที่ในพื้นที่ จ.นนทบุรีและสมุทรปราการ ที่ กฟน.ดูแลนั้น เบื้องต้นเส้นทางที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้นั้นประกอบด้วย 1.ช่วงแจ้งวัฒนะ – ติวานนท์ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 2.ช่วงสุขุมวิท 101 – บางปู – เทพารักษ์ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ก่อสร้างเสร็จแล้ว กฟน.ต้องทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเอง จึงอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโครงการอยู่