เซ็นจูรี่ 21 กระเทาะดีมานด์ “บ้านผู้มีรายได้น้อย” รัฐ vs เอกชน

ผลสำรวจ Century 21 Poll หัวข้อ “บ้านหลังแรก สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการเอกชน” มีข้อมูลน่าสนใจ

โดย “ธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์” ซีอีโอ บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด แจกแจงรายละเอียด ดังนี้
สุ่มสำรวจโพลจากกลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 1,091 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 600 บาท (กรณีผู้เกษียณและรับเบี้ยชราภาพจากรัฐบาล) จนถึงรายได้เดือนละ 15,834 บาท พบว่า 75.40% ต้องการบ้านหลังแรกที่พัฒนาโดยเอกชน สิทธิประโยชน์ที่ต้องการเรียงลำดับจาก 1.ฟรีค่าโอน 98.4% 2.ฟรีค่าจดจำนอง 96.90% 3.แถมเฟอร์นิเจอร์พื้นฐาน เช่น เตียงนอน-ตู้เสื้อผ้า 86.90% 4.ดอกเบี้ย 3% ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ 79.60% ต้องการงวดผ่อนชำระขั้นต่ำ 3,800 บาท/เดือน 78.50% เวลาผ่อนสูงสุด 40 ปี 72.80% และดอกเบี้ยคงที่ 3-5 ปีตลอดอายุการผ่อน เห็นด้วย 60.70% ขณะเดียวกัน ผู้มีรายได้น้อย 42.90% ไม่ต้องการ “มาตรการสนับสนุนการมีบ้านของประชาชนตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร” เหตุผลกระชับเพราะ “ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจสิทธิประโยชน์ทางภาษี”

สำหรับประเด็นสิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษีตามรัษฎากร ฉบับ 528 เกิดขึ้นในยุคปี 2555 ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ด้วยการยกเว้นค่าโอน-จดจำนองสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก ต่อมา มีข้อเรียกร้องว่าคนระดับกลางหรือมนุษย์เงินเดือนที่ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ ก็เลยมีเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้วยการนำค่าผ่อนที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ไปขอรับการลดหย่อนภาษีได้อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มผู้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการลดหย่อนภาษีไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย เพราะมีความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5 ล้านบาท

ในขณะที่คำนิยาม “ผู้มีรายได้น้อย” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติคือผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี หรือไม่เกิน 2,500 บาท/เดือน ซึ่งเซ็นจูรี่ 21 ประเมินข้อมูลว่ามีสัดส่วน 21% จากประชากรไทยทั้งประเทศ 67.7 ล้านคน (ผู้มีรายได้ปานกลางมีสัดส่วน 79% หรือมีรายได้ครัวเรือน 26,946 บาท/เดือนขึ้นไป) ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ใช้จ่ายเพื่อของกินของใช้เดือนละ 86.96% ของรายได้/เดือน แบ่งมาใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยเพียง 13.04%

คำถามน่าสนใจคือ “อุปสรรคในการมีบ้านหลังแรกโดยผู้ประกอบการเอกชน” ผลสำรวจอันดับแรกคือความไม่ชัดเจนของกฎหมายและข้อกำหนดธนาคารพาณิชย์ 85.90% รองลงมา ภาระหนี้ครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร 59.70% และอุปสรรคเงินดาวน์ 45.50%

ตบท้ายด้วย “ผศ.ดร.พรพรรณ วีระปรียากูร” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์วิจัยข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ Century 21 Poll มีข้อเสนอแนะว่า ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยลงทุนโดยบริษัทเอกชน ต้องมีแรงจูงใจจากการทำฟรีค่าโอน-จดจำนอง ทำเลที่ตั้งอยู่ติดถนนหลัก หรือการคมนาคมสะดวก ใกล้สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้า

ส่วนทางตันอยู่ที่โปรดักต์ “บ้าน” เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานการก่อสร้างทั้งในส่วนวัสดุก่อสร้าง แบบบ้านทันสมัย ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน และการดูแลหลังการขายที่อาจเป็นภาระแก่ผู้มีรายได้น้อยในระยะยาว เช่น การเรียกเก็บค่าส่วนกลาง เป็นต้น