ทิ้งทวน เมกะดีลไฮสปีด EEC เปิดทาง CP แก้สัญญา ปิดจุดเสี่ยง 50 ปี

ใกล้ผลัดใบสู่ “รัฐบาลใหม่” แม้จะเป็นเหล้าเก่าเขย่าใหม่

อะไรที่แน่นอน ไม่แน่นอน ไม่มีใครฟันธงได้ หากโครงการนั้นๆ ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ล่าสุด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 220 กม. เงินลงทุน 220,554 ล้านบาท กำลังถูกจับตามองมากที่สุด

เพราะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ คสช.หวังใช้เป็นหัวหอกจุดพลุการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มี “กลุ่ม ซี.พี.” ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผนึกพันธมิตรไทยและต่างชาติ ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทยฯ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่นฯ บมจ.ช.การช่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) ร่วมลงขันด้วย โดยให้รัฐอุดหนุน 117,227 ล้านบาท

หลังใช้เวลากว่า 4 เดือนนับจากเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี)มี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 13 พ.ค.รับทราบผลเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุน ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ มี “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานเสนอ

ชง ครม.เคาะสัญญาไฮสปีด 28 พ.ค.

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยว่า บอร์ดอีอีซีรับทราบแล้ว มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพื่อให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการต่อไป โดยขอความเห็นจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.เช่น มหาดไทย คมนาคม คลัง คาดว่าไม่น่าเกินวันที่ 28 พ.ค.นี้ แต่ถ้าทุกอย่างดำเนินการได้เร็ว อาจเสนอในวันที่ 21 พ.ค.นี้

กว่าจะถึงบทสรุปสุดท้าย การเจรจาดูไม่ราบรื่น เมื่อ “ซี.พี.”มีข้อเสนอพิเศษด้านการเงินงอกจากกฎทีโออาร์และมติ ครม.แม้รู้เต็มอก สิ่งที่ขอเป็นไปได้ยาก แต่ก็พยายามนำไปสู่การเจรจาอยู่หลายครั้งกว่าจะยอมถอน

เปิดช่อง “ซี.พี.” แก้สัญญาได้

ดูเหมือน “ซี.พี.” ยอมปลดล็อก แต่ลึก ๆ แล้ว ในวงเจรจายังคงต่อรองให้คณะกรรมการทำบันทึกแนบผลการเจรจาให้บอร์ดอีอีซีรับทราบถึงสิ่งที่เอกชนต้องการ

ประเด็นนี้ “วรวุฒิ” ย้ำชัดว่า จะทำรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมดให้บอร์ดอีอีซีรับทราบ แต่ไม่ได้นำมาบรรจุเป็นเงื่อนไขในสัญญา

“ถึงจะไม่บรรจุเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญา แต่รายละเอียด 179 หน้า ที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ร่างกันแบบหามรุ่งหามค่ำนั้น ก็เปิดช่องให้ ซี.พี. สามารถแก้สัญญาได้ระหว่างทาง ตามที่ขอ เช่น กรณีแบงก์ต่างชาติไม่ปล่อยกู้ให้กับโครงการ จะขอแก้ให้รัฐจ่ายเงินชดเชยก่อน การลดสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารโครงการที่รัฐให้ ซี.พี.ถือหุ้น 51%” รายงานข่าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ขณะที่ “วรวุฒิ” กล่าวว่า การให้ ซี.พี.แก้ไขสัญญาได้เป็นเรื่องปกติของสัญญาก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เป็นสัญญาระยะยาว 50 ปี ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่ทั้งหมดต้องมีเหตุและผล โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกำกับโครงการ

“ร่างสัญญาที่จะเซ็นกัน ดูในประเด็นหลักที่ไม่ขัดกับอัยการสูงสุด ทีโออาร์และมติ ครม.ที่อนุมัติไว้ คือ รัฐต้องชดเชยไม่เกิน 119,425 ล้านบาท อายุสัมปทาน 50 ปี กำหนดวันส่งมอบพื้นที่ ระยะเวลาก่อสร้าง การขยายเวลา ค่าปรับ”

นอกจากนี้ ยังมี 3 ข้อเสนอของ ซี.พี.คือ พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางราง การร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ และชักชวนผู้ผลิตอุปกรณ์ รถไฟฟ้ามาตั้งโรงงานที่อีอีซี ส่วนที่เหลือ เช่น การต่อขยายเส้นทางไประยอง ย้ายจุดที่ตั้งสถานี ไม่จำเป็นต้องระบุในสัญญา สามารถเพิ่มเติมภายหลังได้

รอเคลียร์ EIA-ส่งมอบพื้นที่ 

สำหรับการเซ็นสัญญา “วรวุฒิ” กล่าวว่า ยังอยู่ภายในวันที่ 15 มิ.ย. ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย 1.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังเร่งทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ 2.ความพร้อมของคณะกรรมการคัดเลือก และกลุ่ม ซี.พี. เช่น การส่งมอบพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) และก่อสร้าง ทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำเป็นแผนงานและเห็นตรงกันก่อน

“ได้หารือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเป็นการภายในแล้ว แต่เป็นโครงการใหญ่ รถไฟจะเป็นผู้ตัดสินใจส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องเชิญกลุ่ม ซี.พี.มาหารือด้วย แล้ววางเป็น Master Plan ส่งมอบพื้นที่ แนวเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟอยู่แล้ว มีเวนคืนทั้งโครงการ 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง เงินชดเชย 3,570 ล้านบาท จุดใหญ่อยู่ที่ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ สร้างสถานี ทางวิ่ง และศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งรถไฟจะส่งมอบแค่สิทธิ์ให้ แต่เอกชนต้องรื้อย้ายเอง”

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 แปลง คือ มักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ มักกะสัน 150 ไร่ จะส่งมอบได้ทันที 100 ไร่ อีก 50 ไร่จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี ส่วนพื้นที่ศรีราชาจะส่งมอบทั้งหมด 25 ไร่ได้ภายใน 2 ปี โดยเอกชนต้องเป็นผู้รื้อย้ายทั้งหมด

ลุ้นศาลชี้ผลสนามบินอู่ตะเภา 

แม้ “ซี.พี.” จะคว้าชัยรถไฟความเร็วสูง แต่ยังลุ้นระทึกผล “โปรเจ็กต์เมืองการบินอู่ตะเภา” มูลค่า 290,000 ล้านบาท ที่หมายมั่นจะสร้างเมืองใหม่ในสนามบินรับรถไฟความเร็วสูง

เมื่อเกิดกระแสดราม่าการยื่นเอกสารประมูลที่ยื่นไม่ทันในเวลา 15.00 น. จนทำให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ มี “พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์” ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธาน ไม่รับพิจารณาข้อเสนอเอกชนที่ยื่นไม่ทันเวลา จนอลหม่านกลายเป็นที่มากลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยศาลจะไต่สวนนัดแรกวันที่ 16 พ.ค.นี้

ยังไม่ตัดสิทธิ์ ซี.พี.

“คณิศ” กล่าวว่า เอกชนมีสิทธิ์จะไปยื่นฟ้องศาลอยู่แล้ว หากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนตัวเห็นคำฟ้องคดีสนามบินอู่ตะเภาแล้ว วันที่ 16 พ.ค. บอร์ดอีอีซีจะไปชี้แจงกับศาลปกครอง ส่วนการเปิดซองพิจารณายังดำเนินการต่อไป แต่การประกาศผลอาจยังทำไม่ได้ ต้องรอคำพิพากษาจากศาลก่อน กำหนดการต่าง ๆ ที่วางไว้อาจเลื่อนไปจากเดิม 1 เดือน

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกยังไม่ตัดสิทธิ์กลุ่ม ซี.พี.ให้แพ้แต่อย่างใด โดยกำลังพิจารณาซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป และให้ทั้ง 3 กลุ่มที่เข้ายื่นประมูล ได้แก่ กลุ่ม ซี.พี., กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS (บางกอกแอร์เวย์ส-บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ) และกลุ่มกิจการร่วมค้า Grand Consortium พร็อพเพอร์ตี้ (บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค-คริสเตียนีฯ-ไทยแอร์เอเชีย) ส่งเอกสารซอง 1 เพิ่มเติม ภายในวันที่ 23 พ.ค.ที่จะถึงนี้

จากนั้นวันที่ 25 พ.ค. คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาซอง 1 เพิ่มเติม พร้อมเปิดซอง 2 เทคนิคได้ในอีก 1 สัปดาห์ถัดจากนั้น ใช้เวลาพิจารณา 2-3 สัปดาห์ จะเปิดซอง 3 การเงิน ตามลำดับ ดังนั้น กระบวนการคัดเลือกเอกชนจะเลื่อนจากเดิมไประยะหนึ่ง และได้ “ผู้ชนะ” ช่วงปลายเดือน มิ.ย.แทน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!