เจาะอุโมงค์ทะลุวันแบงค็อก เชื่อมด่วนพระราม4-รถไฟฟ้า

เจ้าสัวเจริญทุ่มสร้างถนน เจาะอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้า ทะลวงรถติดอภิมหาโปรเจ็กต์ “วัน แบงค็อก” พลิกโฉมใจกลางกรุงเทพฯ บอร์ด กทพ.ไฟเขียว MOU สำนักงานทรัพย์สินฯขอใช้ที่ 60 ปี สร้างทางเชื่อมทางด่วนด่านพระราม 4-2 กับถนนภายในโครงการ ระยะทาง 1 กม. ทางลัดระบายรถย่านวิทยุ พระราม 4 บิ๊กเอกชนลงขัน 1.5 พันล้านปั้นเมืองอัจฉริยะ ผังเมือง กทม.ใหม่เข้มแก้รถติดกลางเมือง ไฟเขียวลดพื้นที่จอดรถในอาคารสาธารณะและคอนโดฯลง 25% รัศมี 500-800 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า 11 แห่ง ย่านปทุมวัน บางรัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4 และถนนสุขุมวิท (โรงเรียนเตรียมทหารเดิม) เป็นระยะเวลา 30 ปี ต่อได้อีก 30 ปี รวม 60 ปี ร่วมทุนกับกลุ่มเฟรเซอร์ส พัฒนาโครงการมิกซ์ยูส “วัน แบงค็อก” มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งโครงการจะมีพื้นที่ก่อสร้างอาคารรวมกว่า 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วย ร้านค้าปลีก ร้านอาหารชั้นนำ อาคารสำนักงานเกรดเอ โรงแรม ที่พักอาศัย และพื้นที่เปิดโล่ง 50 ไร่ แบ่งพัฒนาเป็น 3-4 เฟส โดยได้เริ่มงานก่อสร้างไปแล้วเมื่อปี 2561 มีกำหนดจะเริ่มเปิดให้บริการส่วนแรกในปี 2565 และเปิดบริการสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2568

ด้วยโครงการมีขนาดใหญ่ และอยู่ในทำเลที่ตั้งใจกลางเมือง ซึ่งมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด จึงทำให้กลุ่มทีซีซีฯต้องลงทุนก่อสร้างทางเชื่อมเข้ากับโครงการ “วัน แบงค็อก” เพื่อบรรเทาปัญหา ก่อนหน้านี้ได้ขอสร้างอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลุมพินีบริเวณหัว-ท้ายสถานีทะลุเข้าโครงการ ล่าสุดจะลงทุนสร้างทางเชื่อมกับทางด่วน

เจริญทุ่มแก้จราจรวัน แบงค็อก 

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีนายสุรงค์ บูลกุล เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 ได้อนุมัติร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) บริเวณด่านพระราม 4-2 และถนนวิทยุระหว่างสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และ กทพ. คาดว่าจะมีการลงนาม MOU ในเร็ว ๆ นี้หลังบอร์ดรับทราบแล้ว

“โครงการนี้เกิดจากคณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารการจราจรในทางด่วน มีมติให้ กทพ.ศึกษาโครงการ เพื่อแก้ปัญหารถติดบริเวณทางขึ้น-ลงถนนพระราม 4 แยกบ่อนไก่และโครงข่ายถนนโดยรอบ ได้แก่ ถนนพระราม 4 และวิทยุ เป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องอ้อมไปวิ่งบนถนนพระราม 4 โดยไม่เก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ยังเก็บในอัตราเดิม 50 บาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โครงการจะเป็นทางเชื่อมรูปแบบถนนระดับดิน ขนาด 2 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนวิทยุ มุ่งหน้าไปทางตะวันออก เมื่อผ่านแยกถนนปลูกจิตจะสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอด ขนาด 2 ช่องจราจร และไปเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 1 ที่ด่านพระราม 4-2 ซึ่งจุดนี้จะมีสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่องจราจร รวมทั้งอาคารด่าน รวมกับถนนเดิมของสำนักงานทรัพย์สินฯมีอยู่แล้วเป็นระยะทางประมาณ 1 กม.

ADVERTISMENT

สร้างทางเชื่อมด่วนพระราม 4

โดยสำนักงานทรัพย์สินฯจะอนุญาตให้ กทพ.ใช้ที่ดินตรงถนนวิทยุ-พระราม 4 (ตรงเตรียมทหารเดิม) ในส่วนที่มีการก่อสร้างทางเชื่อมกับทางด่วน เป็นทางสร้างใหม่ประมาณ 200 เมตร ระยะเวลา 60 ปีไม่คิดค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่วันที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯจะเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้งทางเชื่อมและด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 4 ตู้ เมื่อแล้วเสร็จจะมอบให้ กทพ.เป็นผู้บริหารจัดการเก็บค่าผ่านทาง และบำรุงดูแลรักษาโครงการ ส่วนรายได้ทั้งหมดให้ตกเป็นของ กทพ.

ADVERTISMENT

จากปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้จัดทำโครงการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ในร่างผังเมืองใหม่ที่จะบังคับใช้แทนผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับปัจจุบัน ได้เพิ่มมาตรการลดจำนวนที่จอดรถในเขตที่มีการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ จะเน้นพื้นที่ใจกลางเมืองก่อน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองและส่งเสริมให้คนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

กทม.ลดที่จอดรถกลางเมือง

โดยเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการอาคารสาธารณะหรืออาคารอยู่อาศัยรวม สามารถลดจำนวนที่จอดรถยนต์ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมอาคารลงอีก 25% สำหรับอาคารที่ตั้งอยู่ในระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า หรือ 800 เมตรโดยรอบเป็นสถานีร่วม จำนวน 11 สถานี ในพื้นที่เขตปทุมวันและบางรัก ได้แก่ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ สยาม ชิดลม เพลินจิต ราชดำริ ศาลาแดง ช่องนนทรี สุรศักดิ์ สามย่าน สีลม และลุมพินี

“ในเมืองเป็นย่านธุรกิจ ทั้งย่านถนนวิทยุ พระราม 4 สีลม เมืองค่อนข้างหนาแน่น จะเกิดปัญหารถติด จึงออกมาตรการมาใช้ ในอนาคตจะมีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ วัน แบงค็อก และโครงการอื่น ๆ ที่จะตามมา บนถนนพระราม 4 จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาทวีคูณมากขึ้น”

บูม 22 สถานีรถไฟฟ้าชานเมือง 

ดร.นพนันท์กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ชานเมืองที่มีรถไฟฟ้าเชื่อมการเดินทาง จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาที่จอดรถโดยรอบสถานี เพื่อให้ใช้บริการรถไฟฟ้าเข้ามาในเมือง หากเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการจัดให้มีที่จอดรถสำหรับประชาชนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่กฎหมายกำหนด จะให้ FAR (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) เพิ่มขึ้นไม่เกิน 20% โดยพื้นที่อาคารรวมที่เพิ่มขึ้นต้องไม่เกิน 30 ตร.ม.ต่อที่จอดรถที่เพิ่มขึ้น 1 คันจะมี 22 สถานี ได้แก่ สถานี กม.25 ดอนเมือง หลักสี่ วัชรพล มีนบุรี บางซื่อ ลาดพร้าว หมอชิต บางบำหรุ ตลิ่งชัน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บางกะปิ มักกะสัน หัวหมาก ลาดกระบัง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สะพานตากสิน หลักสอง ศรีเอี่ยม สะพานพระราม 9 ราษฎร์บูรณะ และสถานีรางโพธิ์ โดยจะได้รับการยกเว้นนำมาพิจารณา FAR และ OSR (อัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม)

ลงขันปั้นพระราม 4 สมาร์ทซิตี้

ดร.นพนันท์กล่าวว่า นอกจากนี้บนถนนพระราม 4 ยังมีโครงการพระราม 4 สมาร์ทซิตี้ที่เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ดุสิตธานี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ผู้พัฒนาโครงการเดอะพาร์ค บริเวณแยกคลองเตย โครงการวัน แบงค็อก บริเวณแยกวิทยุ โครงการ Dusit Central Park บริเวณแยกศาลาแดง และโครงการสามย่านมิตรทาวน์บริเวณแยกสามย่าน ลงขันลงทุน 1,500 ล้านบาท พัฒนาสมาร์ทซิตี้ ครอบคลุมพื้นที่ 10 ตร.กม. ตั้งแต่หัวลำโพง-แยกคลองเตย ระยะทาง 13 กม. พัฒนาระบบรองรับการเดินทาง เช่น ทางเดินเชื่อม (สกายวอล์ก) ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (ไรต์เรล) ระบบ 5 จี ภายในโครงการ ซึ่งในปี 2572 จะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียวที่มีแนวสายทางพาดผ่านถนนพระราม 4 มากกว่า 1,200,000 คนต่อวัน

คลิกอ่าน…อิตาเลียนไทยฯ คว้างานใหญ่สร้างใต้ดินโครงการวัน แบงค็อก มูลค่า 8,250 ล้านบาท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!