“ศักดิ์สยาม” ผุด Checking Point 245 จุดทั่วประเทศใน2สัปดาห์ตรวจรถโดยสารสาธารณะ24ชม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) เรื่องมาตรการความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ วันนี้ (21 ส.ค.) ได้นัดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มาหารือถึงมาตรการในเบื้องต้น จนได้ข้อสรุปดังนี้

@ปูพรมตรวจคน-รถจบ 3 เดือน

1.การตรวจสอบสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสาธารณะจำนวนรวม 1,203,790 คน (ข้อมูล 31 ก.ค. 2562) ในระยะเวลา 1 เดือน ขบ.จะต้องตรวจสมรรถภาพร่างกายผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะให้ได้ 120,000 คน และในระยะเวลา 3 เดือน จะต้องตรวจสอบให้ครบทั้งหมด การตรวจสอบจะดำเนินการใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ปฏิกิริยาการใช้เบรกเท้า และ 2.ทดสอบสายตา มองกว้างลึกและตาบอดสี

หากผู้ใดไม่ผ่านตาม 2 ข้อข้างต้นจะให้ตรวจสอบใหม่อีกครั้งเฉพาะส่วนที่ไม่ผ่านได้อีกครั้งหนึ่งในวันเดียวกันทันที แต่หากไม่ผ่านอีกจะต้องมาตรวจสอบจนกว่าจะผ่านในวันทำการถัดไปภายใน 90 วัน และในระยะเวลา 3 เดือน และในระหว่างที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบห้ามขับขี่รถโดยสาธารณะเด็ดขาด คาดว่าจะต้องใช้กำลังผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ขนส่งทั่วประเทศประมาณ 440,216 ราย

2.การตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำและไม่ประจำทางจำนวน 150,747 คัน จะประสานสำนักงานขนส่งทั่วประเทศและสถานบริการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) ทำการตรวจสภาพรถใน 7 รายการด้วยกัน ได้แก่ ทดสอบการห้ามรถ, ตรวจสอบศูนย์ล้อ, โคมไฟหน้า, ควันดำ, ระดับเสียง, อ็อกก๊าซ และเครื่องวัดก๊าซรั่ว รวมถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบ GPS, เข็มขัดนิรภัย, เบาะที่นั่ง, สภาพยางรถ, เครื่องดับเพลิง, ประตูฉุกเฉิน, ค้อนทุบกระจก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ใน 1 เดือน จะต้องตรวจให้ได้ก่อน 15,000 คัน และใน 3 เดือนจะต้องตรวจสอบให้ครบทั้งหมด

นอกจากนี้ ได้ทราบว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามแต่งตั้งผู้ตรวจการขนส่งจำนวน 2,000 คนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

@ขีด 2 สัปดาห์ตั้ง Checking Point

ขณะที่การจัดตั้ง “จุดตรวจความพร้อมเข้มข้นของกรมการขนส่งทางบก 24 ชม.ตลอดปี” (Checking Point) การกำหนดจุดจัดตั้งจะให้เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดระยะทางที่เหมาะสมออกไปทุกๆ 90 กม.ตาม 111 สายทางทั้งหมดทั่วประเทศ โดยให้ประสานงานกับปั๊มน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศในการตั้งจุดตรวจ จะต้องตั้งให้ได้ 245 จุดกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งจะให้เวลากรมฯไปดำเนินการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์

แต่ละจุดต้องปฏิบัติงาน 24 ชม. แบ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 3 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละ 8 ชม. โดยจะให้สำนักงานขนส่งจังหวัดแต่ละแห่งออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะประจำจังหวัด ประกอบดวยผู้ตรวจการขนส่งเป็นหัวหน้า ส่วนผู้ช่วยให้สำนักงานขนส่งจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม คาดว่าจะใช้ผู้ตรวจการขนส่งจำนวน 735 คน ส่วนผู้ช่วยจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 คน/จุด ส่วนงบดำเนินการจะดึงจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนจำนวน 180 ล้านบาท หรือประมาณ 10 ล้านบาท/เดือนใช้จ่ายในเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์การตรวจสอบต่างๆ

“Checking Point จะเริ่มตรวจตั้งแต่คนขับเริ่มสตาร์ตรถในขนส่ง เพราะรถโดยสารแต่ละคันติดตั้ง GPS อยู่แล้ว ถ้าเข้ารับการตรวจที่จุดแรกและใช้เวลาเดินทางเร็วกว่า 1 ชม. ถือว่าใช้ความเร็วเกินกฎหมายทันที เบื้องต้นจะเตือนก่อน แต่หากไปจุดถัดไปยังขับเร็วอีกก็จะดำเนินการขั้นต่อไป คือพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เวลาเดินทางของประชาชนช้าลง 5-10 นาที ส่วนรถที่ไม่ยอมเข้า Checking Point ก็จะแจ้งจุด checking Point ถัดไปและตำรวจทางหลวง เพื่อสกัดจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้อุบัติเหตุลดลงเหลือศูนย์”

นอกจากนี้ ก็ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเหตุการณืที่ไม่ปลอดภัย สามารถร้องเรียนได้ 2 แบบคือ ร้องเรียนที่จุด Checking Point กับร้องเรียนผ่านเว็บไซด์ www.dlt.go.th หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ ส่วนรถที่ไม่ขึ้นทะเบียนก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

@เตรียมประสานปั๊ม-ทางหลวงทำ Checking Point

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า Checking Point จะมีที่ไหนบ้าง ต้องขอเวลาไปสำรวจก่อน ซึ่งรัฐมนตรีก็ให้เวลา 2 สัปดาห์ โดยจะประสานกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัดช่วยกันสำรวจ โดยจะกำหนดเป็นจุดก่อนว่า ระยะ 90 กม.อยู่ที่ถนนเส้นใด กิโลเมตรที่เท่าไหร่ก่อน แล้วจากนั้นจึงจะสำรวจว่าในบริเวณที่กำหนดไว้มีปั๊มน้ำมันใดอยู่ใกล้เคียงบ้าง หากไม่มีก็อาจจะประสานกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อขอใช้จุดพักรถหรือศูนย์บริการข้อมูลตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการทำ Checking Point ก็ได้