สิ้นสุดเวลาลงนาม! รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน “อนุทิน” เร่งเซ็นสัญญา 15 ต.ค นี้

แฟ้มภาพ

“อนุทิน” เร่งขีดเส้นกลุ่ม CPH ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ลงนามในสัญญาหลังจากคว้าชัยมานานเกือบ 1 ปี ใกล้สิ้นสุดวันลงนามสัญญาวันที่ 7 พ.ย.นี้ พร้อมชงไทม์ไลน์ ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณากำหนดวันลงนามสัญญาในวันที่ 27 ก.ย.นี้ และลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ต.ค.2562

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะ เภา) มาหารือ หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ชนะการประ มูลมานานเกือบ 1 ปีแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าและยังไม่ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้าง

ดังนั้น ในการหารือในครั้งนี้จึงได้เชิญนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรม การนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประ เทศไทย (ร.ฟ.ท.) และคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรไฟเชื่อม 3 สนามบินมาหารือพร้อมกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยมีข้อสรุปว่า ในวันที่ 27 กันยายน คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะทำให้หนังสือถึงกลุ่ม CPH ในฐานะผู้ชนะการประมูล เพื่อให้มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม ก่อนที่จะสิ้นสุดวันลงนาม (หมดระยะเวลายืนราคา) วันที่ 7 พ.ย.2562

นานอนุทิน ยืนยันว่า การหารือในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามดำริของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) โดยมอบหมายให้ตนไปเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงได้เร่งรัดและติดตามเรื่องดังกล่าว โดยผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้ในทีโออาร์ ในฐานะยื่นราคาต่ำสุด โดยรัฐบาลไทยในฐานะคู่สัญญาจะปรับปรุงเงื่อนไขไปมากกว่าสัญญาไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาหลายรอบและได้ปรับปรุงเงื่อนไขที่ทำได้ เช่น การชำระเงินค่าก่อสร้างสามารถจ่ายตรงผ่านอีอีซีไปยังผู้ชนะการประมูล เป็นต้น แต่ถ้าแก้สัญญามากกว่านี้ ไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้นและผู้แก้ไขสัญญาจะมีความผิดมาตรา 157 คือละเว้นการฏิบัติหน้าที่

สำหรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากถูกยึดเงินค้ำค้ำประกัน 2,000 ล้านบาทแล้ว แต่ยังมีเรื่องใหญ่คือ การถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เพราะกลุ่ม CPH ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกิจการร่วมค้า ซึ่งเกิดขึ้นจากร่วมตัวของหลายบริษัท ทำให้บริษัทร่วมกิจการเหล่านี้หมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลมอบหมายให้รายที่ 2 เข้ามาดำเนินโครงการแทน หากมีราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น กลุ่มCPH ต้องจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจึงอยากให้กลุ่มที่ชนะการประ มูลดำเนินการโครงการต่อไปจะดีที่สุด

กรณีที่กลุ่ม CPH ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลเวนคืนที่ดินทั้งหมด นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีโครงการภาครัฐที่เวนคืนที่ดินทั้งหมดได้ครบ 100% และไม่มีโครงการไหนที่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบ 100% แล้วเริ่มก่อสร้าง แต่ผู้รับเหมาจะก่อสร้างไปก่อนและทอยรอรับการส่งมอบที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ สามารถหารือกัน เช่น ขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มเติม ดังนั้น การส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ครบ 100% จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่