รถไฟถก 7 หน่วยงานทำแผนรื้อย้ายสิ่งกีดขวางไฮสปีดซี.พี.ส่ง “บิ๊กตู่” ดู 7 ต.ค.นี้

แฟ้มภาพประกอบข่าว

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ได้นัดหมาย 7 หน่วยงานที่มีระบบสาธารณูปโภคฝังอยู่ใต้ดินและอยู่บนแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท มาหารือและร่วมกันทำแผนรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคประเภทต่างๆ

ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.)  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สำหรับระบบสาธารณูปโภคที่เป็นอุปสรรค ยังไม่พบอะไรเพิ่มเติม ยังเป็นสิ่งเดิมที่เคยระบุไป ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) 2 จุด  ในจุดแรก ท่อน้ำมันวางขนานกับแนวเส้นทางบริเวณคลองแห้ง 3 กม. และอีกช่วงหนึ่ง ท่อบางส่วนทับแนวเส้นทางบริเวณโค้งถ.พระราม 6 เป็นจุดตัดอีก 2 จุด

2.ท่อน้ำมันของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) 1 จุด ขนานกับแนวเส้นทาง ช่วงลาดกระบัง กม. 68 มุ่งหน้าไปอู่ตะเภา เป็นแนวยาว 40 กม. และ 3.ท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 1 จุด ทับแนวเส้นทางช่วงหน้าวัดเสมียนนารี – สนามบินดอนเมือง ระยะทาง 11 กม.

นอกจากท่อน้ำมันและท่อก๊าซ ยังมีสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGAT) กระจายตลอดแนวเส้นทาง 16 จุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 11 จุด ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มี 2 จุด คือ มีสายไฟแรงสูงที่ขนานกับเส้นทางช่วงสนามบินดอนเมือง 1 จุด และช่วงลาดกระบังอีก 1 จุด

อาคารไซฟ่อน (คลองส่งน้ำ) ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร บริเวณคลองสามเสนและท่อระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 1 จุด ทับแนวเส้นทาง 1 จุด และเสาโทรเลข ของ ร.ฟ.ท. ตั้งเป็นแนวยาว 77 กม. บริเวณลาดกระบัง

หลังจากนี้ ทั้ง 7 หน่วยงานจะต้องกลับไปทำแผนระบุพิกัดตำแหน่งและสิ่งที่กีดขวางให้ชัดเจน โดย กทม. กฟผ. กฟน. กฟภ. และการประปาจะต้องเสนอแผนให้พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนบริษัท ปตท. จะต้องเสนอแผนให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ ก่อนที่ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ จะรายงานความคืบหน้าทั้งหมดให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รับทราบต่อไป

“ได้รับทราบมาว่า ในวันจันทร์นี้ (7 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจะเรียกดูแผนส่งมอบพื้นที่โดยเฉพาะในส่วนของการรื้อย้ายระบบสาธาณูปโภคซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของโครงการ จึงได้ให้แต่ละหน่วยงานไปทำแผนของตัวเองเสนอให้รัฐมนตรีต้นสังกัดของแต่ละหน่วยงานรับทราบ นับเป็นเรื่องที่ดีที่พลเอกอนุพงษ์และนายสนธิรัตน์ลงมาช่วยกวดขันงานในส่วนนี้” นายสุจิตต์กล่าว