ร่างสัญญายืดสัมปทานทางด่วน BEM ฉลุยรอ “คมนาคม-ครม.” เคาะ

“อัยการ-BEM” ไฟเขียวร่างสัญญาระงับข้อพิพาททางด่วน ชงคมนาคม24 ม.ค. ไม่ชัวร์ได้เซ็นใน ก.พ. ต้องรอถอนฟ้อง-ลงบัญชี-ครม.เคาะก่อน เตรียมแผนสำรองจ้าง BEMหรือบริหารเอง หากสัมปทานบางส่วนหมดอายุ ‪29 ก.พ.‬นี้ ไม่หวั่นสหภาพฯชงนายกฯโละบอร์ดทั้งชุด เคาะ”วิชาญ”เป็นรักษาการผู้ว่า หลัง”สุชาติ”ลาออกมีผล ‪6 ก.พ.‬นี้
 
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญาเรื่อง การระงับข้อพิพาททางด่วนกับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ให้ต่อสัปทานทางด่วนออกไป 15 ปี 8 เดือน คิดเป็นมูลค่าข้อพิพาทรวม 58,873 ล้านบาทกลับมาแล้ว ซึ่ง กทพ.ได้ส่งร่างสัญญาไปให้ BEM ตรวจสอบว่า มีสิ่งใดที่จะเพื่มเติมหรือเห็นแย้งหรือไม่ และ BEM ก็ไม่มีอะไรติดใจแล้ว
 
ชมครม.ทุบโต๊ะ
 
ขั้นตอนต่อไป จะส่งให้กระทรวงคมนาคมภายในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้กระทรวงเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระบวนการทั้งหมดยังอยู่ในไทม์ไลน์ แต่จะได้เซ็นสัญญากับ BEM ภายในเดือน ก.พ.นี้หรือไม่นั้น ยังไม่แน่ใจ เพราะต้องดูอีกหลายปัจจัย เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว สมมุติถ้าไม่มีอะไรแล้ว ก็ต้องดำเนินการถอนฟ้องคดีความต่างๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายไปฟ้องร้องไว้ก่อน แล้วจึงนำเรื่องรายละเอียดในร่างสัญญามาให้อัยการสูงสุดตรวจทานในรายละเอียดอีกรอบหนึ่ง
 
“ถ้าไม่ทันเดือน ก.พ. ซึ่งจะมีทางด่วนบางเส้นทางหมดอายุสัมปทานนั้น ก็อาจจะจ้าง BEM บริหารหรือ กทพ.ทำเอง ซึ่งเรามีแผนอยู่แล้ว ส่วนสัญญาจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด ยังไม่ทราบ “
 
ถามคลังเรื่องลงบัญชี
 
และอีกด้านหนึ่ง จะขอกระทรวงการคลังพิจารณาการลงบัญชีหลังเคลียร์ข้อพิพาททางด่วน เดิมมีแนวทาง 2 แบบคือ 1. ให้ลงบัญชีเป็นหนี้สิน กับ 2. ไม่ต้องลงบัญชี ได้ถามความห็นไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสภาวิชาชีพ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด จึงขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่า กรณีที่มาตรฐานบัญชีให้กำหนดให้ลงบัญชีนั้น ก็ขอให้พิจารณามาตรฐานของ กทพ. ให้เป็นไปตามความสามารถในการทำงาน ไม่ใช่ความสามารถทางบัญชี
 
ไม่หวั่นสหภาพฯจองกฐิน
 
ส่วนที่พนักงานกับสหภาพฯยังกังวลถึงข้อพิพาทอื่นๆนั้น ต้องถามว่ามีอะไรเกิดขึ้น เรื่องในอนาคตเราตอบไม่ได้ แต่ข้อพิพาทในอดีตคือ ทางแข่งขันและการกำหนดค่าผ่านทาง จะไม่มีอีก แต่ถ้าจะต่อเชื่อมทางออกไปอีก หรือ ประมูลโครงการใหม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
“ขณะที่การเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลดตนและกรรมการคนอื่นๆออกจากบอร์ดทั้งหมดของสหภาพฯ ก็ไม่เป็นไร ถ้าระดับนโยบายจะปลดก็เป็นเรื่องปกติ ก็เห็นมีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ตั้งหลายชุด และได้มีการรายงานในที่ประชุมบอร์ดด้วย”
 
ตั้ง “วิชาญ” เป็นรักษาการผู้ว่า
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังได้รับทราบถึงการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการของนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์แล้ว มีผลวันที่ ‪6 ก.พ.‬นี้ และตั้งนายนายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการฝ่ายกลยุทธ์และแผนงาน เป็นรักษาการผู้ว่าไปพลางก่อนในฐานะอาวุโสสูงสุด