รัฐปล่อยผีค่าเวนคืนที่ดินพุ่ง สั่งรีวิวโปรเจ็กต์ 1.56 แสนล้าน

หวั่นซ้ำรอยมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ที่ดินแพงปั่นค่าเวนคืนพุ่ง 19,737 ล้าน บิ๊กตู่สั่งทุกหน่วยงานรีเช็ก ก่อนขออนุมัติโครงการ วางแนวปฏิบัติให้ประเมินตามความเป็นจริง อิงราคาตลาดแต่ละทำเล ชี้ส้มหล่นผู้ถูกเวนคืน โปรเจ็กต์ ถนน สะพาน รถไฟฟ้า ทางคู่ ไฮสปีดเทรน รวมเบ็ดเสร็จ 1.56 แสนล้าน จ่ออัพราคาจากกรอบเดิมยกแผง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปลายเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหนังสือเวียนถึงทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ให้พิจารณากำหนดราคาการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและราคาตลาดแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนอย่างแท้จริงและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติเคร่งครัด

“หลัง ครม.ให้แนวปฏิบัติส่วนนี้ แม้จะทำให้ค่าเวนคืนโครงการในแผนของคมนาคมเพิ่มขึ้น จากการที่นำราคาตลาดเข้ามาพิจารณาด้วย จากเดิมใช้ฐานราคาประเมินกรมธนารักษ์ที่ปรับทุก 5 ปี แต่จะเป็นธรรมกับเจ้าของที่ดินทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนมากขึ้น เพราะจะได้รับค่าชดเชยจากการถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น กระแสต่อต้านจะน้อยลง การก่อสร้างโครงการของรัฐจะเดินหน้าได้เร็วขึ้น”

หวั่นซ้ำรอยบางใหญ่-กาญจน์

แหล่งข่าวกล่าวว่านโยบายให้ทบทวนค่าเวนคืน เป็นผลมาจากโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ค่าเวนคืนเพิ่มเป็น 19,737 ล้านบาท เกินกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 5,420 ล้านบาท เพราะไม่อัพเดตข้อมูลโครงการที่ศึกษาไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครม.จึงมีมติว่า ต่อจากนี้ไปก่อนเสนอโครงการให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบความถูกต้อง ให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง

“เมื่อติดเวนคืน ทำให้โครงการก่อสร้างเดินหน้าไม่ได้ ตอนนี้งานสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ล่าช้าจากแผน ติดเรื่องเงินจะจ่ายค่าเวนคืน จึงส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ รัฐเกรงว่าจะเกิดซ้ำรอยจึงกำหนดแนวทางให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม”

ทางหลวงรีวิวใหม่ถนนทุกสาย

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง กล่าวว่าค่าเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพิ่มขึ้น 2.64 เท่าตัว หรือ 14,317 ล้านบาท ทำให้การจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืนสะดุด เพราะ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุต้นเดือน ก.ย. 2560 กำลังขอขยายเวลาต่อ ทำให้กรมของบฯจากรัฐไม่ได้

“ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันก่อน เพราะสภาพพื้นที่และราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงทุกปี ทำให้ล่าช้า เพราะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาไม่ได้ทั้งหมด ขณะนี้เพิ่งจ่ายค่าชดเชยไปได้แค่ 20% เศษ ๆ ที่เหลือหากได้งบฯ จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้สามารถก่อสร้างเสร็จตามแผนปี 2563”

ขณะเดียวกัน เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวกรมต้องตรวจสอบค่าเวนคืนทุกโครงการในแผนใหม่ให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดก่อนเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะทำให้ค่าเวนคืนแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องอ้างอิงราคาซื้อขายตลาด ทั้งนี้ในปี 2561 กรมได้รับงบฯเวนคืนแล้ว 4,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างถนนทั่วไป คาดว่าจะเพียงพอ

“5 ปีนี้ งานเวนคืนจะเป็นงานหนักของกรม นอกจากโครงการในงบประมาณประจำปีแล้ว มีโครงการใหญ่จะดำเนินการ เช่น มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ คาดว่าค่าเวนคืนราว ๆ 18,000 ล้านบาท”

รฟม.ยันไม่กระทบรถไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม.จ่ายค่าเวนคืน โดยยึดตามราคาตลาดและราคาประเมินก่อนเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน ค่าเวนคืนรถไฟฟ้าที่ ครม.อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้รวม 54,277 ล้านบาท จึงไม่น่าได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. ค่าเวนคืน 6,013 ล้านบาท สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี 34.5 กม. ค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท สายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี 37.5 กม. ค่าเวนคืน 21,522 ล้านบาท สายสีน้ำเงินต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. ค่าเวนคืน 3,920 ล้านบาท และ
สายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. ค่าเวนคืน 15,975 ล้านบาท

ประเมินทางคู่เพิ่มขึ้นจิ๊บ ๆ

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เมื่อให้นำราคาตลาดมาพิจารณาด้วย จะส่งผลให้ค่าเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในแผนของ ร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้น แต่คงไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิม มีเวนคืนบ้างเฉพาะช่วงทางโค้ง หรือพื้นที่ที่มีการบุกรุก

“ทางคู่ 5 สายที่ประมูลไปแล้ว เงินเวนคืนที่ ครม.อนุมัติ เป็นแค่เบื้องต้น เวลาจะสร้างต้องสำรวจอีกครั้งหนึ่ง อาจทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มอีก”

สำหรับโครงการก่อสร้างในแผน อาทิ สายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง มีค่าเวนคืน 191.92 ล้านบาท รถไฟทางคู่ อาทิ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท, นครปฐม-หัวหิน 338 ล้านบาท, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 200 ล้านบาท, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ค่าเวนคืน 118 ล้านบาท ทางคู่สายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 3,808 ล้านบาท และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 7,800 ล้านบาท และทางคู่เฟส 2 อีก 9 เส้นทาง จะเสนอ ครม.อนุมัติเร็ว ๆ นี้

รถไฟไทย-จีนจ่ายกว่าหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เงินเวนคืนและรื้อย้ายรถไฟไทย-จีนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. อยู่ที่ 13,069 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 212 ล้านบาท อีก 12,857 ล้านบาท เป็นค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี-แก่งคอย เบื้องต้นต้องรื้อท่อก๊าซ ปตท. ช่วงรังสิต-ภาชี และช่วงคลอง 1-คลองพุทรา อยู่ใกล้แนวท่อน้ำมันและก๊าซ ปตท. และมีเสาไฟฟ้าแรงสูงและท่อประปาจะต้องรื้อด้วย

ส่วนรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีค่าเวนคืน 10,814 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-ระยอง ค่าเวนคืน 5,438 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน 5,016 ล้านบาท

กทพ.บวกเพิ่ม 37%

ด้านแหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์ตามมติ ครม.นี้พิจารณาค่าเวนคืนสร้างทางด่วนอยู่แล้ว อ้างอิงราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ราคาซื้อขายตลาดและบวกเพิ่มอีก 37% มีทางด่วนจะก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่ กะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต จากการอัพเดตข้อมูลพบว่าค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น 3,458.91 ล้านบาท จาก 2,200 ล้านบาท เป็น 5,685.91 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งราคาซื้อขายและราคาประเมิน เช่น หาดป่าตองซื้อขายอยู่ที่ไร่ละ 200 ล้านบาท ส่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ค่าเวนคืน 807 ล้านบาท

สะพานเกียกกายพุ่ง 9 พันล้าน

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ปัจจุบัน กทม.จ่ายค่าเวนคืนตามสภาวะตลาด ณ ปีที่ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ทั้งค่าที่ดินและวัสดุสิ่งปลูกสร้าง ค่าเวนคืนทุกโครงการจึงเพิ่มขึ้นตามสภาพพื้นที่และราคาที่ดิน เห็นชัดคือ สะพานเกียกกายค่าเวนคืนเพิ่มขึ้น 2,500 ล้านบาท จาก 6,500 ล้านบาท เป็น 9,000 ล้านบาท เพราะราคาที่ดินสูงขึ้น 20-30% เทียบจากปี 2559 และยังไม่รู่ว่าเมื่อ พ.ร.ฎ.เวนคืนโครงการนี้บังคับใช้เป็นทางการแล้ว จะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ นอกจากนี้ กทม.มีโครงการจะเสนอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนอีก 4-5 โครงการ เช่น ถนนพระยาสุเรนทร์, ถนนหลังศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเชื่อมถนนกำแพงเพชร 6 ค่าเวนคืน 150 ล้านบาท, ถนนต่อเชื่อมวิภาวดีรังสิต-พหลโยธิน 50 ค่าเวนคืน 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรวบรวมเงินงบประมาณในการเวนคืนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐปัจจุบันอยู่ที่ 156,528 ล้านบาท หากต้องจ่ายค่าเวนคืนตามมติ ครม. ค่าเวนคืนจะปรับเพิ่มขึ้นอีก