“บอร์ดอีอีซี”อนุมัติสัมปทาน3แสนล้าน“เมืองการบินอู่ตะเภา”เซ็น“หมอเสริฐ-คีรี”มิ.ย.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 มีมติเห็นชอบร่างสัญญาและผลการเจรจาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 290,000 ล้านบาทแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบอีกรอบหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

@ลงนามกิจการร่วมค้า BBS ต้น มิ.ย.

ส่วนการลงนามในสัญญากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS (ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้

จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เริ่มต้นงาน (Notice to Proceed:NTP) ซึ่งมีกรอบเวลาวางไว้ประมาณ 1 ปีครึ่งหลังลงนามในสัญญา โดยโครงการนี้จะเสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ช่วยดูแลเช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อออกแบบให้ทั้งสองโครงการมีความเชื่อมต่อกัน

ส่วนข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพโครงการ) ของกลุ่ม BBS คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับร่างเงื่อนไขสัญญาจึงไม่ได้นำรวมไว้แต่อย่างใด

@เสนอ 50 ปี 3.05 แสนล้าน

ทั้งนี้ กลุ่ม BBS เสนอผลตอบแทนโครงการคิดเป็นมูลค่าัจจุบัน (NPV 3%) ที่ประมาณ 305,555 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะนำไปจ่ายให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งรัฐจะต้องร่วมลงทุนตามวงเงินคิดราคาปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท เหลือเงินคืนรัฐได้ 188,328 ล้านบาท ทำให้ไม่รบกวนงบประมาณของรัฐแต่อย่างใด

@รันเวย์รอ EHIA

โดยอุปสรรคในการส่งมอบพื้นที่ขณะนี้อยู่ที่การพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และทางขับขนาน สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 17,768 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่กองทัพเรือ (ทร.) จะต้องดำเนินการในโครงการนี้ โดยคาดว่าจะเสนอรายงาน EHIA ได้ภายในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบกับโครงการนี้ เพราะตามกำหนดที่วางไว้จะก่อสร้างแล้วเร็จภายในปี 2566 – 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่า สถานการณ์การบินจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงนั้นพอดี ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศจะกลับมาภายในปีครึ่ง ซึ่งเร็วกว่าขนส่งคน จึงทำให้โครงการนี้ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

@แนะ “บินไทย” บรรจุ MRO ลงแผนฟื้นฟู

ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ส่วนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) บริเวณสนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 250 ไร่ วงเงิน 10,000 ล้านบาทที่มี บมจ.การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากกลุ่มแอร์บัสถอนตัวออกไป ทำให้ต้องกลับมาศึกษาใหม่ว่า จะออกแบบการลงทุนแบบไหน? ระหว่างการหาพันธมิตรใหม่มาร่วมลงทุนแบบเดิมหรือการบินไทยจะทำเอง ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 4-5 รายที่จะเข้ามาร่วมทำ MRO

ทั้งนี้อาจจะต้องดูแผนฟื้นฟูของการบินไทยด้วยว่าเป็นอย่างไร หากไม่มีการระบุถึงโครงการนี้ในแผนอีอีซีก็จะแนะนำไปว่าควรจะใส่เพิ่ม เพราะเป็นโครงการที่จะทำกำไรให้การบินไทยในระยะยาว ซึ่งในการทำแผนฟื้นฟู ทางการบินไทยเขาต้องถามเราแน่นอน แต่จะได้เห็นภายในปีนี้หรือไม่ คาดว่าคงไม่ได้เห็น เพราะสถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกติภายในปีนี้