ปีนี้ตอกเข็ม ”รถไฟฟ้าสายสีชมพู” เข้าเมืองทองธานีเปิดหวูดพร้อมแคราย-มีนบุรี ปี’65

กำลังโหมสร้างอย่างหนัก ท่ามกลางการปรับแบบรองรับการขยับตำแหน่งสถานีใหม่ “รถไฟฟ้าโมโนเรล” สายสีชมพูข่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม.เชื่อมการเดินทางจ.นนทบุรีไปยังกรุงเทพฯโซนตะวันออก ไปตามแนวถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะและรามอินทรา

มี บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรลในเครือกลุ่มบีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป เป็นผู้ลงทุนและรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ด้วยวงเงิน 53,490 ล้านบาท

สร้างคืบหน้ากว่า 62%

ปัจจุบันงานก่อสร้างโครงการคืบหน้า 62.23% งานโยธา 64.85% ยังล่าช้าจากแผนงาน งานระบบไฟฟ้าและเดินรถ คืบหน้า 59.71% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จเปิดบริการในเดือนต.ค.2564

แต่ติดการส่งมอบพื้นที่ ทาง”รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”และ”กลุ่มบีทีเอส”ได้ปรับแผนเปิดบริการเป็นช่วงๆ ในเดือนต.ค.2564 จะเปิดให้บริการจาก”สถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการ” เก็บค่าโดยสารในทันที อัตรา 16-42 บาท และเปิดตลอดสายในเดือนต.ค.ปี 2565

ครม.ไฟเขียวขยับ 2 สถานีใหม่

หลังจากนี้”กลุ่มบีทีเอส”จะเร่งเครื่องก่อสร้างอย่างเต็มสูบ หลัง”ครม.-คณะรัฐมนตรี”เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 อนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากการขอเปลี่ยนตำแหน่งตั้งสถานีใหม่ 2 จุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดแรก “สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี” (PK01) จากเดิมจะใช้พื้นที่อุทยานมกุฏรมยสราญ เป็นจุดตั้งสถานี รฟม.ศึกษาสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินริมถ.รัตนาธิเบศร์แล้วพบว่า มีทางเลือกพื้นที่ที่สามารถกำหนดเป็นตำแหน่งที่ตั้งของสถานีใหม่ใน 3 ทางเลือก

1. บริเวณด้านหน้าซ.รัตนาธิเบศร์ 4 2. บริเวณด้านหน้าสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม และ 3. บริเวณด้านข้างสถานีควบคุมดาวเทียมไทยคม แต่สุดท้ายเคาะทางเลือกที่ 1 คือตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะนอกจากไม่ได้ใช้พื้นที่อุทยานแล้ว ยังไม่บดบังทัศนียภาพด้วย

ผุดทางเดินเลื่อนเชื่อมสีม่วง-สีน้ำตาล

โดยขยับจากตำแหน่งเดิมไปทางขวา (ทิศตะวันออก) ประมาณ 337 เมตร สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี และสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี) ด้วยการก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Skywalk) ระยะทาง 340 เมตรพร้อมติดตั้งระบบทางเดินเลื่อนอัตโนมัติเชื่อมต่อกับสายสีม่วงและ Sky walk ระยะทาง 45 เมตรเชื่อมต่อกับสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลีจะสร้างในอนาคต

อีกจุด”สถานีนพรัตนราชธานี” (PK26) ต้องย้ายจากจุดเดิมเนื่องจากกรมทางหลวง (ทล.) ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกบริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี บริเวณทางแยกจุดตัดถนนรามอินทรา ซึ่งเป็นตำแหน่งของสถานีเดิม

เบี่ยงแนวหลบสะพานข้ามแยกนพรัตน์

ทำให้ตำแหน่งที่ตั้งของสถานีมีระยะห่างในแนวดิ่ง จากผิวถนนถึงโครงสร้างใต้สถานีไม่เพียงพอตามมาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร จึงจำเป็นต้องขยับตำแหน่งสถานีออกไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ของแนวเส้นทางประมาณ 313 เมตร มาอยู่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไนติงเกล หมู่บ้านวิสุทธาวิลล์ และร้านอาหารเทอเรช 61

ซึ่งได้หารือกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 5 ราย เพื่อชี้แจงข้อมูลการออกแบบสถานี และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2560 ถึงม.ค. 2561 โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินขอให้ปรับรูปแบบสถานีให้ไม่มีโครงสร้างทางขึ้น – ลงสถานีพาดผ่านหน้าหมู่บ้าน        วิสุทธาวิลล์

และปรับลดแนวเวนคืนไม่ให้มีการเวนคืนที่ดินภายในรั้วบ้านหรือมีผลกระทบต่อตัวอาคารบ้านพักอาศัย ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ดำเนินการตามที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร้องขอเรียบร้อยแล้ว

“บิ๊กป้อม”เคาะ EIA ส่วนต่อขยาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงาน EIA ส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน  3,379 ล้านบาท มี 2 สถานี ได้แก่

ซึ่งกลุ่มบีทีเอสเสนอลงทุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมเสนอผลการเจรจาให้ครม.อนุมัติ คาดว่าไม่เกินภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยแนบรายงานEIAเข้าไปด้วย

สิ้นปีตอกเข็มเร่งให้เสร็จปี’65

ตามแผนจะเริ่มเวนคืนและก่อสร้างภายในปี2563 จะเร่งก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2565 พร้อมกับสายสีชมพูเส้นทางหลัก หรืออย่างช้าภายในปี 2566

โดยส่วนต่อขยายของสายสีชมพูเป็นการร่วมลงทุนของสองพี่น้องตระกูลกาญจนพาสน์ ระหว่าง”อนันต์ กาจนพาสน์”เจ้าของอาณาจักรเมืองทองธานีที่ทุ่มเม็ดเงิน 1,250 ล้านบาท และ”คีรี กาญจนพาสน์”เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส

ปลุกเมืองทองคึก

ผนึกกำลังลากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามายังเมืองทองรองรับการอยู่อาศัยในเมืองทองธานีและผู้เดินทางเข้ามาชมงานในอิมแพ็คที่ปัจจุบันอยู่ที่ 10-15 ล้านคนต่อปี ปลุกความคึกให้เมืองทองธานีอีกรอบ

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายสีชมพูสายหลัก วิ่งไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา จนสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี

มี 2 สถานี ได้แก่ สถานีMT-01 บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี