แนวเส้นทาง 14 สถานี รถไฟฟ้าบางนา

ไตรมาส 3/64 ได้เวลาฟื้นความจำกันอีกครั้งในรอบ 8 ปี

โครงการรถไฟฟ้ารางเบา “LRT บางนา-สุวรรณภูมิ” จากเดิมเคยมีการศึกษาโครงการเมื่อปี 2556 ล่าสุด เจ้าของโครงการ “สจส.-สำนักการจราจรและขนส่ง” กรุงเทพมหานคร จ้างที่ปรึกษา 5 บริษัท รีวิวโครงการใหม่อีกรอบ

โครงการนี้มีระยะทางยาว 19.7 กิโลเมตร จำนวน 14 สถานี

ปักหมุดแยกบางนา-สนามบิน

รายละเอียดรัว ๆ ประกอบด้วย 1.สถานีบางนา อยู่บริเวณแยกบางนา ช่วง กม.0+040 2.สถานีประภามนตรี อยู่ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติเบิร์คลีย์ เยื้องกับโรงเรียนประภามนตรี 3.สถานีบางนา-ตราด 17 อยู่หน้าซอยบางนา-ตราด 17 ช่วง กม.3+200 4.สถานีบางนา-ตราด 25 อยู่ใกล้ห้างเซ็นทรัลบางนา และบิ๊กซี บางนา

5.สถานีวัดศรีเอี่ยม อยู่คร่อมทางต่างระดับวัดศรีเอี่ยม 6.สถานีเปรมฤทัย อยู่ตรงข้ามอาคารเนชั่นทาวเวอร์ 7.สถานีบางนา-ตราด กม.6 อยู่ตรงข้ามอาคารบางนาทาวเวอร์ 8.สถานีบางแก้ว อยู่ใกล้ทางเข้า ม.รามคำแหง 2

9.สถานีกาญจนาภิเษก อยู่ตรงข้ามเมกาบางนา 10.สถานีวัดสลุด อยู่เยื้องซอยวัดสลุด เยื้องกับบุญถาวร 11.สถานีกิ่งแก้ว อยู่หน้าตลาดกิ่งแก้ว 12.สถานีธนาซิตี้ อยู่หน้าโครงการธนาซิตี้

อีก 2 สถานีอยู่ในเฟส 2 ของการก่อสร้าง ได้แก่ 13.สถานีมหาวิทยาลัยเกริก อยู่หน้า ม.เกริก 14.สถานีสุวรรณภูมิใต้ อยู่ภายในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศใต้

อัตราค่าโดยสารตามผลการศึกษาเมื่อปี 2556 กำหนดไว้ที่ 20 บาทตลอดสาย ประเมินผู้โดยสารไว้ที่ 42,720 เที่ยวคน/วัน

เปิด 3 ปมรายงาน EIA

อัพเดตในด้านการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีประเด็นต้องทำเพิ่มเติมอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.พื้นที่สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งล้ำเข้าไปในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิทางด้านใต้ และอยู่ในพื้นที่ตาม master plan การพัฒนาสนามบินของ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย”

โดยการชี้แจง EIA ระบุว่า ตัวสถานีออกแบบเพื่อเบี่ยงไม่ให้ทับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) และจะไม่ทับซ้อนกับถนนเข้าสนามบินด้านใต้ที่จะก่อสร้างใหม่ด้วย

2.ระบบสาธารณูปโภคกีดขวางแนวเส้นทาง จากการสำรวจเบื้องต้นพบอย่างน้อย 14 จุด แบ่งเป็น ระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 3 จุด ระยะการรื้อย้าย 2,110 เมตร ประเมินงบฯรื้อย้าย 110 ล้านบาท/กิโลเมตร, การประปานครหลวง (กปน.) 4 จุด ระยะการรื้อย้าย 8,100 เมตร งบฯรื้อย้าย 45 ล้านบาท/กิโลเมตร

บมจ.ทีโอที (TOT) 2 จุด ระยะการรื้อย้าย 1,300 เมตร งบฯรื้อย้าย 5 ล้านบาท/กิโลเมตร, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) 3 จุด ระยะการรื้อย้าย 1,150 เมตร งบฯรื้อย้าย 5 ล้านบาท/กิโลเมตร, บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) 1 จุด ระยะการรื้อย้าย 4,100 เมตร งบฯรื้อย้าย 10 ล้านบาท/กิโลเมตร และท่อส่งก๊าซ ปตท. 1 จุด ระยะการรื้อย้าย 1,300 เมตร อยู่ระหว่างประเมินวงเงินรื้อย้าย

นอกจากนี้ มีการจัดงบฯเผื่อเหลือเผื่อขาด 100 ล้านบาท/กิโลเมตร รวมวงเงินที่ต้องใช้ 275 ล้านบาท/กิโลเมตร

รอเคลียร์ “กทพ.-ทางหลวง”

และ 3.ประสานต่างหน่วยงานเพื่อขอใช้พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง 8 ปีที่แล้วได้รับการอนุญาตเข้าใช้พื้นที่แล้ว 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) อนุญาตก่อสร้างบนถนนบางนา-ตราด (ทางหลวง 34 สายบางนา-หนองไม้แดง) วันที่ 11 กันยายน 2560

อีก 4 แห่งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประกอบด้วย อบต.บางแก้ว, อบต.ราชาเทวะ, อบต.บางโฉลง และ อบต.บางพลีใหญ่ ซึ่งทยอยอนุมัติไว้ตั้งแต่ปี 2553-2558

เนื้องานที่เหลือคือ ขออนุมัติใช้พื้นที่ก่อสร้างอีก 2 หน่วยงาน “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” กับ “ทช.-กรมทางหลวงชนบท” เพราะโครงสร้างบางส่วนอาจล้ำหรือข้ามทางในพื้นที่รับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน

โดยเฉพาะ กทพ.ที่มีแนวโน้มอาจต้องใช้เขตทางบางส่วนของทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งจะรวมอยู่ในผลการศึกษาใหม่นี้ด้วย