“ศักดิ์สยาม” ชี้พัฒนาหัวลำโพง ต้องทันสมัย-คุมอัตลักษณ์เดิม

“ศักดิ์สยาม” ชี้พัฒนาหัวลำโพงต้องทันสมัย-คุมอัตลักษณ์เดิม สั่งทำแผนหยุดใช้สถานีโดยเร็ว

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำเป็นต้องลดบทบาทลง

แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต ดังนั้น จึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ดังนี้

“หัวลำโพง” ต้องทันสมัย-รักษาของเดิม

สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) : บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด บริษัทลูกบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ได้วางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง รวมถึงจัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิม สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และรูปแบบการดำเนินชีวิต

พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ–สถานีหัวลำโพง : ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแบบโครงการ Missing Link โดยเฉพาะบริเวณสถานีราชวิถี (อยู่บริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดี) เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาล

เปิด 2 แปลงที่ดินเล็งลงทุน

อย่างไรก็ตาม บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการสถานีธนบุรี : แบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อนวัตกรรม
ทางการแพทย์ขั้นสูง พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่อยู่อาศัย

2. โครงการพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางพระรามเก้า : ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะของสัญญาและทำสรุปพื้นที่ที่สามารถจัดสรรได้เพื่อดำเนินการต่อไป

สั่งทำแผนหยุดใช้หัวลำโพงโดยเร็ว

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

1.การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งพิจารณาแนวทางการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

แนะคิดต่าง-เปิดทาง PPP

2.สำหรับการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อาจจะพิจารณาการออกแบบที่แตกต่างไปจากเดิม คือ การประกวดแบบการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง โดยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Land Developer) เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้เกิดมีแนวความคิดที่หลากหลายมากขึ้น

3.แนวทางการลงทุนของโครงการ ร.ฟ.ท. และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ควรพิจารณาว่า จะมีแนวทางการลงทุนเช่นใด หากพิจารณาแล้วว่า การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมากที่สุด เห็นควรให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้การดำเนินการโครงการล่าช้า