“คมนาคม” เชื่อมโครงข่ายไร้รอยต่อ ดึงเอกชนลงทุนที่จอดรถแนวรถไฟฟ้า

จากข้อจำกัดต่าง ๆ ที่นำไปสู่ปัญหารถติดในเมืองกรุงที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ยังไม่สามารถนำพาคนกรุงเทพฯพ้นวิฤกตไปได้

ล่าสุดกระทรวงคมนาคม โดย “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กำลังจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยฉายภาพปัจจุบันมีโครงข่ายถนนเพื่อการเดินทาง 4,283 กม. แยกเป็น ทางด่วน 315 กม. รองรับจราจรได้ 16% ถนนสายหลัก 1,093 กม. รองรับจราจรได้ 37% ถนนสายรอง 740 กม.รองรับจราจรได้ 15% ถนนรวมและกระจาย 2,316 กม. รองรับจราจรได้ 17% และถนนท้องถิ่น 16,663 กม.รองรับจราจรได้ 15%

และจากนี้ถึงปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการก่อสร้างโครงข่ายถนนเพิ่มเติม 1,047 กม. แบ่งเป็น ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 181 กม. ถนนกรมทางหลวง 396 กม ถนนกรมทางหลวงชนบท 210 กม. และถนนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 260 กม.

ด้าน “ระบบขนส่งสาธารณะ” ในส่วนของรถเมล์ มีรถธรรมดา 4,500 คัน สามารถรองรับได้ 3.6 ล้านคน/วัน รถปรับอากาศ 2,500 คัน รองรับได้ 1.5 ล้านคน/วัน รถมินิบัสและรถเล็กในซอย 3,200 คัน รองรับได้ 3.2 แสนคน/วัน และรถตู้โดยสาร 5,000 คัน รองรับได้ 7.5 แสนคน/วัน

ขณะที่ “รถไฟฟ้า” ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่ปี 2560-2569 จะมีระยะทางรวม 429.4 กม. ปริมาณผู้โดยสาร 6.786 ล้านเที่ยวคน/วัน หากสร้างครบ 10 สายทาง จะสามารถรองรับได้ 12.96 ล้านเที่ยวคน/วัน จากเดิมที่รองรับได้ 9.83 ล้านเที่ยวคน/วัน

กับเรื่องนี้ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำว่า การจัดทำแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบการจราจร ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ถือว่าเป็นโครงการสำคัญ เพราะเป็นการวางแผนการคมนาคมแบบเต็มรูปแบบระยะยาวถึง 12 ปี ในอนาคตข้างหน้าการคมนาคมจะเปลี่ยนไป

จะมีคอนโดมิเนียมตามรถไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนเปลี่ยนไป ชอบใช้ชีวิตในเมือง และใกล้ที่ทำงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นถือเป็นความท้าทาย ในการวางแผนรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบเดินทางแบบไร้รอยต่อ เน้นความประหยัด

นอกจากนี้ แนวโน้มในอนาคต กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจเท่านั้น ส่วนการขนส่ง และที่พักอาศัยจะขยายตัวออกไปยังปริมณฑล เนื่องจากที่ดินราคาแพง ซึ่งแผนนี้ยังได้ศึกษาภาพรวมแผนการเชื่อมโยงรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ด้วย คาดว่าผลศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน เม.ย. 2561 จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการจัดการระบบจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ ในแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบจราจร ได้เสนอแนวคิดแก้ปัญหาจราจร ด้วยการจัดลำดับถนน กำหนดขนาดช่วงถนน เพิ่มการเชื่อมต่อ ทำให้เข้าถึงระบบสาธารณะ และเกิดการเปลี่ยนถ่าย รวมทั้งแก้ปัญหาคอขวดต่าง ๆ

อีกทั้งจูงใจให้เอกชนลงทุนการพัฒนาจุดจอดและจร ด้วยการให้แรงจูงใจกฎหมายผังเมือง และสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากปัจจุบันที่จอดรถในพื้นที่หมอชิต ลาดพร้าว ตลาดพลู บางหว้า และสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และที่จอดและจรปัจจุบัน เช่น ลานจอดรถพระราม 9 ลานจอดรถศูนย์วัฒนธรรม ถูกใช้เป็นที่จอดรถของสำนักงานใกล้เคียงแทน อีกทั้งยังไม่รองรับการเลี้ยวเข้าออกของรถยนต์ และไม่สามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวก

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่คิด ส่วนจะติดสปริงได้เร็วหรือช้ายังคงต้องดูกันต่อไป