‘HUAWEI CONNECT 2022 Bangkok’ ปลดปล่อยดิจิทัลเพื่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

งานประชุมใหญ่ประจำปีพร้อมกับมหกรรมเทคโนโลยีไอซีทีของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ‘หัวเว่ย’ แต่ละปีเดินสายจัดตามประเทศต่างๆ ภายใต้ชื่อ ‘HUAWEI CONNECT’ พร้อมทั้งเลือกไทยเป็นประเทศแรกของการจัดงานปีที่ 7 เชิญผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรทั่วโลกกว่า 10,000 คนร่วมหารือแนวทางปลดล็อคศักยภาพด้านดิจิทัล ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และร่วมกันพัฒนาอีโคซิสเต็มดิจิทัลให้แข็งแกร่ง

‘HUAWEI CONNECT 2022’ หัวข้อ ‘ปลดปล่อยดิจิทัล (Unleash Digital)’ จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่าง 19-21 กันยายน 2565 วันแรกเป็นการประชุมใหญ่ มีผู้บริหารระดับสูงหัวเว่ย มากล่าววิสัยทัศน์พร้อมกับปาฐกถาพิเศษ เริ่มจาก นายเคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย เน้นย้ำบทบาทสำคัญของอีโคซิสเต็มสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อาทิ การสนับสนุนและผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพ ทรัพยากรด้านการประมวลผลที่เสถียรและหลากหลาย การดึงประโยชน์สูงสุดจากระบบคลาวด์ที่ไม่ใช่เพียงพื้นฐาน และการบริการด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เป็นต้น

อีกวาระสำคัญกับการประกาศเปิดตัวหัวเว่ย คลาวด์ ระดับภูมิภาค (Huawei Cloud Regions) ในอินโดนีเซียและไอร์แลนด์ โดย นายจาง ผิงอัน ประธานกรรมการบริหาร ธุรกิจ หัวเว่ย คลาวด์ เผยว่า ภายในปลายปีนี้ หัวเว่ย คลาวด์จะเปิดใช้งานศูนย์ข้อมูล (Availability Zone – AZ) 75 แห่งใน 29 ภูมิภาคทั่วโลก พร้อมให้บริการในประเทศและภูมิภาคต่างๆ กว่า 170 แห่ง

“หัวเว่ย คลาวด์ ยังจับมือพันธมิตรเปิดตัวแผนพัฒนาอีโคซิสเต็ม ‘ก้าวไปกับคลาวด์ ก้าวสู่ระดับโลก’ (Go Cloud, Go Global) มุ่งเน้นกลยุทธ์ ‘นวัตกรรมบริการรอบด้าน’ (Everything as a Service) โดยแผนการดังกล่าวจะเร่งการพัฒนาอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วโลกเพื่อผลักดันการเปิดตัวนวัตกรรมและมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน”

นางแจ็กเกอลีน ซือ ประธานฝ่ายการตลาดและการขายระหว่างประเทศของหัวเว่ย คลาวด์ กล่าวเสริมถึงการเปิดตัวนวัตกรรมบริการขั้นสูงกว่า 15 รายการเป็นครั้งแรกในโลก รวมถึงคลัสเตอร์คลาวด์ ความเร็วสูง (CCE Turbo), บริการคลาวด์เนทีฟแบบทุกแห่ง (Ubiquitous Cloud Native Service), โมเดล AI Pangu สำหรับประยุกต์ใช้กับการพยากรณ์คลื่นลมทะเล (Pangu wave model) รวมถึงบริการขั้นสูงอื่นๆ อาทิ DataArts LakeFormation, Virtual Live, CodeCheck, CloudTest, KooMessage, KooSearch, และ KooGallery

หลังจากนั้น นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘ระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นดิจิทัลเป็นหลัก’ (Digital First Economy) โดยให้ข้อมูลเชิงลึกในข้อเสนอแนะด้านนโยบายการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือผู้นำของภูมิทัศน์ดิจิทัลทั่วโลก หัวเว่ยมุ่งมั่นเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก และพร้อมผลักดันการเข้าเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนและร่วมสร้างอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมในภูมิภาค

ในวันนั้น มีผู้แทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ร่วมเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของแต่ละประเทศ ได้แก่ นายอัยลางกา ฮาตาโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, นายมูฮัมหมัด อับดุล มานนาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนแห่งบังกลาเทศ, นาย เดวิด อัลมิรอล ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประเทศฟิลิปปินส์ และ ดร. หยาง มี เอง กรรมการบริหารมูลนิธิอาเซียน

โอกาสนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เฟื่องฟู’ ว่า ประเทศไทยตั้งเป้าจีดีพีเติบโต 30% จากการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีแผนงานฝึกอบรมความพร้อมด้านดิจิทัลกว่า 500,000 คน พร้อมกับให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อกระตุ้นการลงทุน มีการจัดตั้ง Data Center และบริการคลาวด์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และการมอบบริการสาธารณะที่มีความเท่าเทียม

ส่งเสริมอีโคซิสเต็มเพื่อความสำเร็จร่วมกัน

ในงานยังมีโซนนิทรรศการจัดแสดงความก้าวหน้าของหัวเว่ย คลาวด์ กับโซลูชั่นจากเหล่าพาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็ม รวมถึงนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อาทิ Virtual Live Broadcast การถ่ายทอดสดแบบเสมือนจริง),  Spark Program สตาร์ทอัพกว่า 20 บริษัทที่อยู่ในแพลตฟอร์มของหัวเว่ย, Full-Stack Data Center ศูนย์ข้อมูลหลากหลายแบบ, แคมปัส อัจฉริยะ และดิจิทัลไซต์ เป็นต้น

หลากหลายนวัตกรรมโซลูชั่นและเทคโนโลยี

วันที่สองเป็นธีมของมหกรรมเทคโนโลยี มีการเผยนวัตกรรมโซลูชันด้านโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย ขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์การใช้งานต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปิดตัวโครงการ ‘Huawei Empower’ แผนงานพัฒนาศักยภาพพาร์ทเนอร์หัวเว่ยใน 3 ด้านเพื่อยกระดับการบริการลูกค้า ได้แก่ การให้คำปรึกษาและวางแผนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์และพอร์ตโฟลิโอ รวมถึงการพัฒนาโซลูชัน นำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

นายไรอัน ติง ประธานกลุ่มธุรกิจองค์กรของหัวเว่ย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘สร้างคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม’ (Empowering Industry, Creating Value) ถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในเชิงลึกจะช่วยให้องค์กรต่างๆ ปรับตัวเข้ากับความท้าทายในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ง่ายขึ้น หัวเว่ยทำงานร่วมกับพันธมิตรโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้านการเชื่อมต่อ การประมวลผล และเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการผสานเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาโซลูชันต่างๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ช่วยสร้างคุณค่าและสนับสนุนลูกค้าให้ก้าวสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

เช่นเดียวกับ นาย บ็อบ เฉิน รองประธานกลุ่มธุรกิจองค์กร อธิบายเสริมถึงการทำงานโดยการผสานหลากหลายเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

“ข้อมูลคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นการรวบรวม ส่งต่อ จัดเก็บและวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญอย่างมาก หัวเว่ยนำเสนอฟูลสแตกและพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้รวดเร็วขึ้น”

รองประธานกลุ่มธุรกิจองค์กร หัวเว่ย ยังเผยถึงการรับส่งข้อมูลว่า เริ่มทดลองการใช้เทคโนโลยี F5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพลิกโฉมประสิทธิภาพการผลิต ทั้งยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีโครงข่ายใยแก้วนำแสงเต็มรูปแบบทั้งระบบการส่งข้อมูล เครือข่ายอุตสาหกรรม แคมปัสอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการตรวจจับแบบใยแก้วเต็มรูปแบบ

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการจัดแสดงความก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก  หลังจากนี้ ‘HUAWEI CONNECT 2022’ จะเดินสายจัดอย่างต่อเนื่องที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปิดท้ายที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ให้ร่วมกันปลดปล่อยพลังแห่งดิจิทัลเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก